พระตถาคตคือใคร พระอรหันต์ตายแล้วไม่ขาดสูญ (2)

ยมกสูตร

  สมัยหนึ่ง   ท่านพระสารีบุตรอยู่ที่วิหารเชตวัน  อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี  ใกล้พระนครสาวัตถี ก็โดยสมัยนั้นแล   ยมกภิกษุเกิดทิฏฐิชั่วช้าเห็นปานนี้ว่า “เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่มีอีก”

ภิกษุหลายรูปได้ฟังแล้วว่า  ได้ยินว่า ยมกภิกษุเกิดทิฏฐิอันชั่วช้าเห็นปานนี้ว่า  “เรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า  พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่มีอีก”

ครั้งนั้น  ภิกษุเหล่านั้นจึงพากันเข้าไปหาท่านยมกภิกษุถึงที่อยู่  ได้สนทนาปราศรัยกับท่านยมกภิกษุ ครั้นผ่านการสนทนาปราศรัยชวนให้ระลึกถึงกันไปแล้ว  จึงนั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง   ครั้นแล้วจึงถามท่าน ยมกภิกษุว่า

“ท่านยมกะ   ทราบว่าท่านเกิดทิฏฐิอันชั่วช้าเห็นปานนี้ว่า  เรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วว่า  พระขีณาสพ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่มีอีก จริงหรือ?

ท่านยมกะ กล่าวว่า “อย่างนั้น อาวุโส”.

(ภิ.) “อาวุโส ยมกะ   ท่านอย่าได้พูดอย่างนั้น   อย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค เพราะการกล่าวตู่พระผู้มีพระภาค  ไม่ดีเลย   เพราะพระผู้มีพระภาคไม่พึงตรัสอย่างนี้ว่า พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่มีอีก”.

ท่านยมกะ เมื่อถูกภิกษุเหล่านั้นกล่าวแม้อย่างนี้ ยังขืนกล่าวถือทิฏฐิอันชั่วช้านั้นอย่างหนักแน่นอย่างนั้นว่า “เรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้ มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่มีอีก”.

ภิกษุเหล่านั้นย่อมไม่อาจเพื่อจะยังท่านยมกะให้ถอนทิฏฐิอันชั่วช้านั้นได้ จึงลุกจากอาสนะเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรจนถึงที่อยู่   ครั้นแล้ว จึงกล่าวกะท่านพระสารีบุตรว่า “ข้าแต่ท่านสารีบุตร ยมกภิกษุเกิดทิฏฐิชั่วเห็นปานนี้ว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้วย่อมขาดสูญ  ย่อมพินาศ ย่อมไม่มีอีก’   ขอโอกาสนิมนต์ท่านพระสารีบุตรไปหายมกภิกษุถึงที่อยู่  เพื่ออนุเคราะห์เถิด”   ท่านพระสารีบุตรรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ. (รับโดยการนิ่ง)

ครั้งนั้นเวลาเย็น  ท่านพระสารีบุตรออกจากที่พักผ่อนแล้วเข้าไปหาท่านยมกะถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยกับท่านยมกะ   ครั้นผ่านการสนทนาปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว  จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง  แล้วได้ถามท่านยมกะว่า

“อาวุโส ยมกะ   ทราบว่าท่านเกิดทิฏฐิอันชั่วช้าเห็นปานนี้ว่า เรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า  พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่มีอีก ดังนี้ จริงหรือ?”

ท่านยมกะตอบว่า “อย่างนั้นแล ท่านพระสารีบุตร”.

ท่านพระสารีบุตรจึงถามพระยมกะ มีข้อความ 2 ตอน (ข้อ 202-203) ว่า

“ท่านสำคัญอย่างไรท่านยมกะ ท่านมองเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นตถาคตหรือ?”

พระยมกะตอบว่า : “มิใช่เช่นนั้น ผู้มีอายุ”

พระสารีบุตรถามต่อไปอีกว่า :

“ท่านสำคัญอย่างไรท่านยมกะ ท่านมองเห็นว่าตถาคต นั้นเป็นสภาวะไม่มีรูป ไม่มีเวทนา ไม่มีสัญญา ไม่มีสังขาร ไม่มีวิญญาณหรือ?”

พระยมกะก็ตอบไปว่า : “มิใช่เช่นนั้นท่านผู้มีอายุ”[พระยมกะตอบหมายความว่า พระตถาคตนั้นเป็น สภาวะมีเบญจขันธ์]

พระสารีบุตรจึงกล่าวว่า :

“ท่านยมกะ ในปัจจุบันนี้เองที่ตรงนี้ ท่านยังหาตถาคต ที่แท้จริงไม่ได้ ควรหรือที่ท่านกล่าวแถลงว่า ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึง ธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้วว่า พระภิกษุผู้เป็น ขีณาสพ เมื่อตายไปแล้ว ก็จะขาดสูญหายสิ้น ไม่มีอยู่อีก”

พระยมกะได้สติว่า พระตถาคต พระอรหันต์ มิใช่เบญจขันธ์ จึงได้บรรลุธรรมในบัดนั้นเอง และกล่าวว่า :

“ข้าแต่พระสารีบุตร แต่ก่อนเมื่อยังไม่รู้  กระผมจึงมีความเห็นอันชั่วร้ายนั้น แต่เพราะได้สดับธรรมเทศนาของท่านสารีบุตรนี้   กระผมจึงละความเห็นชั่วร้ายนั้นได้แล้ว  และกระผมได้บรรลุธรรมแล้ว” สํ. ข. ยมกสูตร 17/198-199, 202-203/132-136)

เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ว่า ผู้ที่ยังไม่ได้ปฏิบัติธรรมตามสมควร แก่ธรรมนั้น ยังมีทิฏฐิชั่ว (ปาปกํ ทิฏฺฐิคตํ) ด้วยสำคัญว่า พระตถาคต พระอรหันต์ ท่านมี (หรือเป็น) แต่เพียงเบญจขันธ์เท่านั้น เมื่อตายแล้วจึง ขาดสูญ หายสิ้น ไม่มีอะไรอยู่อีก–นี่แหละคือ พวกสุญญะ หรือ อนัตตาตกขอบ กล่าวคือมีแต่สุญญสัญญาหรืออนัตตสัญญายิ่งเกิน โดยที่ยังไม่มีญาณหยั่งถึงพระนิพพานธาตุ ซึ่งเป็นผู้ทรงสภาวะนิพพานที่เป็น อมตธรรม ณ ภายใน พระพุทธเจ้า พระอรหันตเจ้า อันท่านได้บรรลุแล้ว.

แชร์เลย

Comments

comments

Share: