หลวงพ่อพยุง สุนฺทโร ไปฝึกธรรมกายกับหลวงพ่อสดวัดปากน้ำ
(หลวงพ่อพยุง วัดบัลลังก์ อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี)
เมื่อไปถึงวัดปากน้ำภาษีเจริญในปีพ.ศ. ๒๔๙๕ ก็เข้ากราบเรียนความประสงค์ที่จะมาศึกษาธรรมปฏิบัติให้หลวงพ่อสดทราบ หลวงพ่อสดก็ต้อนรับปฏิสันถารด้วยดี หลวงพ่อสดท่านถามถึงการปฏิบัติที่ผ่านมาว่าปฏิบัติมาอย่างไร ท่านจึงกราบเรียนการปฏิบัติที่ดำเนินมาตั้งแต่ได้สมาธิใต้ต้นมะซางเมื่อสมัยเด็กให้หลวงพ่อสดทราบและขอคำแนะนำเพิ่มเติมเพื่อจะได้ปฏิบัติต่อไป หลวงพ่อสดท่านกล่าวว่าบุคคลใดมีบุญบารมีมาแต่ภพชาติก็สอนได้ไม่ยากเย็นนัก
พอค่ำหลวงพ่อสดก็ขึ้นแท่นแนะนำวิธีการฝึกวิชาธรรมกายโดยการเพ่งจิตให้เป็นดวงแก้วที่ศูนย์กลางกายโดยใช้คำภาวนาว่า สัมมาอรหัง เมื่อดวงแก้วปรากฏอย่างแจ้งชัดก็เพ่งจิตให้ทะลุกายโดยใช้ดวงแก้วเป็นอุคหนิมิต คือจำให้ติดตาหรือเพ่งดูจนติดตาติดใจแม้หลับตาหรือลืมตาก็เห็นได้จะทำให้เล็กหรือขยายให้ใหญ่ก็ย่อมได้จากนั้นจึงพลิกจิตพิจารณากายคตาสติ คือการพิจารณากายในกายเป็นอารมณ์โดยการแยกกายออกเป็นส่วนๆคือให้เห็นว่าเป็นเพียงธาตุ๔แต่ละอย่างไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา แบ่งออกเป็นสี่อย่างคือ
๑.ปฐวีธาตุ คือธาตุที่มีลักษณะแข็งภายในตัวก็มีภายนอกตัวก็มีสำหรับกำหนดพอให้สำเร็จประโยชน์เป็นอารมณ์ได้แก่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูกม้าม หัวใจ ตับ ปอดหรือสิ่งอื่นใดที่อยู่ในตัวที่มีลักษณะแข้นแข็งก็เอากองไว้ส่วนหนึ่ง
๒.อาโปธาตุ คือธาตุที่มีลักษณะเอิบอาบทั้งภายในภายนอกเป็นของเหลวคือ เลือด เหงื่อ เสลด น้ำตา น้ำลาย น้ำมูก มันข้น ดี เปลวมัน ไขข้อ น้ำมูตร หรือสิ่งอื่นใดที่มีลักษณะเอิบอาบอย่างนี้ก็แยกไว้กองหนึ่ง
๓.เตโชธาตุ คือธาตุที่มีลักษณะร้อน ทั้งภายในภายนอกได้แก่ ไฟที่ยังกายให้อบอุ่น ไฟที่ยังกายให้ทรุดโทรม ไฟที่ยังกายให้กระวนกระวาย ไฟที่ยังอาหารให้ย่อย นี่ก็ต้องพิจารณาให้ถ้วนถี่
๔.วาโยธาตุ คือธาตุที่มีลักษณะพัดผันเคร่งตึงทั้งภายในภายนอกได้แก่ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในไส้ ลมซ่านไปตามตัว ลมหายใจ และช่องว่างระหว่างกายพึงกำหนดจิตพิจารณาอย่างแยบคายลอกหนังออกแยกกองไว้ส่วนหนึ่ง แยกเนื้อกองไว้ส่วนหนึ่ง เลือดกองไว้ส่วนหนึ่ง เอ็นที่รึงรัดกายส่วนต่างๆก็กองไว้ส่วนหนึ่ง กระดูกก็กองไว้ส่วนหนึ่ง
เมื่อพิจารณาสติที่เป็นไปในกายก็เห็นตามสภาพที่มีส่วนประกอบซึ่งล้วนเป็นของไม่สะอาด ไม่งาม น่ารังเกียจ ทำให้จิตเกิดความรู้เท่าทันไม่หลงมัวเมาในกายอันประกอบไปด้วยธาตุทั้ง๔ จากนั้นหลวงพ่อสดก็ให้พิจารณาขันธ์คือรูปธรรมและนามธรรมทั้งหมดแบ่งออกเป็น๕กองดังต่อไปคือ รูปขันธ์กองรูปคือส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรมทั้งหมดทั้งร่างกายก็ดี พฤติกรรมก็ดี และคุณสมบัติต่างๆของส่วนที่เป็นร่างกาย
เวทนาขันธ์กองเวทนา คือ ส่วนที่เสวยอารมณ์และความรู้สึก สุข ทุกข์ หรือเฉยๆเรียกว่ากองเวทนา สัญญาขันธ์ ความกำหนดได้หมายรู้ในอารมณ์๖เช่นนั้นสิ่งนั้นสิ่งนี้นั้นขาว เขียว ดำ แดงเป็นกองสัญญา สังขารขันธ์คือสภาวะที่ปรุงแต่งจิตให้ดีบ้างชั่วบ้าง ไม่ดีไม่ชั่วบ้างหรือ
คุณสมบัติต่างๆของจิตที่มีเจตนาเป็นตัวนำเรียกว่ากองสังขาร วิญญาณขันธ์กองวิญญาณ หมายถึงความรู้อารมณ์ทางอายตนะ๖ คือรู้รูปด้วยตา รู้เสียงด้วยหู รู้กลิ่นด้วยจมูก รู้รสด้วยลิ้น รู้โผฏฐัพพะด้วยกาย รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ รวมแล้วเรียกว่าเบญจขันธ์
ขันธ์ ๕ นี้เมื่อย่อลงมาเป็น ๒ ประการ คือ นามและรูป รูปขันธ์จัดเป็นรูป ๔ขันธ์ที่เหลือนอกนั้นเป็นนามธรรม เมื่อหลวงพ่อสดแนะนำแล้วก็นำหลักคำสอนนั้นมาพิจารณาต่อที่กุฏิอยู่เป็นประจำเพื่อดำเนินรอยตาม
ท่านเล่าว่าในระหว่างที่อยู่กับหลวงพ่อสดที่วัดปากน้ำนั้นช่วงเวลากลางคืนท่านจะทำความเพียรจนถึงห้าทุ่มแล้วตื่นจากจำวัตรตี ๓ หากเป็นวันอุโบสถท่านจะถือเนสัชชิกไม่นอนตลอดคืนยังรุ่งทั้งไม่เคยปล่อยจิตให้อยู่นอกกายเลยไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใดจิตก็จะวนอยู่กับการพิจารณากายกับดวงแก้วเป็นอารมณ์ เพราะพื้นฐานที่ท่านปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องและความตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวตามวิสัยวาสนาขององค์ท่านที่ทำอะไรก็จะทำอย่างจริงจังจึงทำให้การฝึกวิชาธรรมกายกับหลวงพ่อสดก้าวหน้าอย่างมาก
เพราะจิตขององค์ท่านเกิดความรู้ความเห็นสิ่งต่างๆภายในอย่างมากมายอาจเป็นเพราะมีครูอาจารย์ผู้ฉลาดอย่างหลวงพ่อสดแนะนำจึงทำให้องค์ท่านได้พบกับความรู้พิเศษขึ้นมาอย่างที่ไม่เคยรู้มาก่อน ณ.วัดปากน้ำภาษีเจริญนั้นเองความรู้พิเศษที่เกิดขึ้นภายในจิตคือ ในวันมาฆบูชาหลังจากฟังธรรมเทศนาของหลวงพ่อสดแล้ว ท่านก็กลับกุฏิแล้วเข้าที่ภาวนาเมื่อกำหนดจิตจนเกิดดวงแก้วสว่างใสแล้วจึงพิจารณาธาตุขันธ์ขณะนั้นสมาธิเกิดความตั้งมั่น จิตรวมลงสู่ภวังค์ถึงเอกัคคตามีอารมณ์เดียว จิตสงบละเอียดอ่อนประณีตเข้าไปโดยลำดับ
ขณะจิตนั้นได้เกิดความรู้ย้อนหลังระลึกถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงสมัยยังเด็กล่วงไปถึงชาติในอดีตได้ว่าเป็นมาอย่างไร ท่านว่าจิตเรานั้นมีอยู่ดวงเดียวจะเกิดกี่ภพกี่ชาติก็จิตดวงเดิมนี่แหละจะเปลี่ยนก็แต่เพียงรูปกายเท่านั้นดังนั้นจิตจึงบันทึกข้อมูลทุกอย่างที่ได้กระทำไว้ทั้งดีและชั่วแต่คนเราไม่รู้เองเพราะ อวิชชามันปิดบังเอาไว้ ต่อเมื่อบุคคลใดขจัดเมฆหมอกคืออวิชชาออกไปเท่าไรยิ่งมากก็ยิ่งรู้เห็นตนเองมากขึ้นจากนั้นจิตก็พิจารณาถึงการเกิดการตายของตนเองและผู้อื่นได้อย่างไม่สงสัยจึงได้เข้าใจในพุทธสุภาษิตข้อที่ว่า
“กมฺมุนา วตตีโลโก คือสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม”
เมื่อพิจารณาถึงกรรมที่ทำให้เวียนว่ายอยู่ในภพชาติของท่าน จิตได้เกิดจึงเกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายในเรือนคือสังขารที่อาศัยอยู่ จนจิตสงบนิ่งอยู่ในอุเบกขาญาณขณะนั้นธรรมได้ปรากฏขึ้นมาภายในจิตว่า ปุญญัง สุขัง โหนตุ ผู้ใดไกลจากกิเลส ผู้ใดตื่นจากกิเลส ผู้นั้นก็วิเศษประเสริฐสุขสิ้นทุกข์ภัย อายุขัยก็เหลือล้นพ้นประมาณ สมนาม ว่า อรหัง สัมมา สัมพุทโธ เมื่อธรรมปรากฏขึ้นมาอย่างนั้นจิตท่านได้พิจารณาตามว่าในทันทีว่าอะไร คือ ผู้ไกลจากกิเลส
เมื่อไกลจากกิเลสแล้วจะวิเศษประเสริฐสุขอย่างไร เป็นเหตุให้ท่านระลึกถึงประวัติขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งแต่ประสูติจนถึงตรัสรู้และกระทั่งเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานและประวัติของเหล่าสาวกที่บรรลุอรหันต์จนถึงพระนิพพานจึงหมดความสงสัยส่วนที่ว่าอายุขัยก็เหลือล้นพ้นประมาณนั้นหมายความว่าเมื่อจิตถึงพุทธะเป็นจิตที่บริสุทธิ์อันชักนำให้ถึงพระนิพพานได้เมื่อจิตถึงนิพพานแล้วก็พ้นจากการเกิดการตายเป็นอมตะธรรมที่ถึงพุทธะอย่างสมบูรณ์จากนั้นท่านจึงพิจารณาจิตและบุญวาสนาของท่านก็ทราบว่าบารมีที่บำเพ็ญมายังไม่เต็มบริบูรณ์จึงยังไม่สามารถตัดอาสวะให้ขาดได้ในขณะนั้น แต่ท่านก็เห็นความสำเร็จอยู่แค่เอื้อมท่านว่าคืนนั้นท่านนั่งตลอดคืนยังรุ่งไม่อ่อนเพลียหรือหาวนอนเลยครั้นออกจากสมาธิภาวนาจิตก็ยังอิ่มเอิบด้วยปีติที่เกิดจากธรรมรส
จากคำกล่าวของท่านที่แสดงแก่สานุศิษย์ทำให้ทราบได้ว่าท่านน่าจะได้ญาณ ๓ อย่างแน่นอน เพราะญาณ ๓ นั้นหมายถึง ความรู้แจ้งหรือความรู้วิเศษมี ๓ ประการ คือ
๑.อตีตังสญาณ คือ ญาณเป็นเหตุระลึกขันธ์ที่อาศัยอยู่ก่อนได้หรือระลึกชาติในอดีตได้
๒.อนาคตังสญาณ คือ ญาณส่วนอนาคตหมายถึงการหยั่งรู้เรื่องราวในอนาคตสามารถเห็นเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
๓.ปัจจุปันนังสญาณ คือ ญาณในส่วนปัจจุบันหมายถึงความหยั่งรู้เรื่องราวในปัจจุบันหรือเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นเฉพาะหน้าสามารถล่วงรู้ได้ว่าควรทำอย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์เหมาะสม และรู้แตกฉานในเหตุและผล มีไหวพริบในการแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
แม้องค์ท่านจะไม่ได้บอกโดยตรงว่าได้ขั้นนั้นขั้นนี้เพราะอัธยาศัยของท่านไม่ใช่คนมักอวด อะไรที่ท่านเมตตาเล่าให้ฟังนี้ก็เล่าเป็นการภายในเฉพาะศิษย์ที่ใกล้ชิดเท่านั้นอาจเป็นเพราะองค์ท่านจะส่งเสริมให้เหล่าศิษย์มีกำลังใจในการปฏิบัติธรรมให้ยิ่งขึ้นไปเท่านั้นแต่อรรถธรรมที่ท่านแสดงให้ฟังนั้นก็พอจะสรุปได้ว่า การปฏิบัติของท่านที่วัดปากน้ำนั้น นอกจากจะได้ธรรมกายแล้วยังได้ญาณ ๓ ด้วยเมื่อท่านเกิดความรู้ภายในเช่นนั้น เป็นเหตุให้ท่านระลึกถึงอุปการคุณของหลวงพ่อสดเป็นอย่างยิ่ง
ท่านยังเล่าให้ฟังอีกว่าหลวงพ่อสดนั้นท่านมีความรู้ภายในมากสุดคณานับ ท่านมีบารมีที่บำเพ็ญมามากท่านมีเมตตามากใครใฝ่รู้ใฝ่เรียนท่านส่งเสริมทุกอย่างทั้งด้านปริยัติและด้านปฏิบัติและท่านยังมีญาณที่แก่กล้ามากหยั่งรู้ทุกอย่างพระเณรในวัดปากน้ำเป็นร้อยและบรรดาแม่ชีอุบาสิกาอีกท่านเลี้ยงได้ไม่ให้อดอยาก
สมัยนั้นคุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม ก็ได้มาฝึกปฏิบัติอยู่ที่วัดปากน้ำเช่นกัน ท่านเล่าว่าแม่ชีบุญเรือนเป็นผู้หญิงที่เก่งปฏิบัติภาวนาได้รู้เห็นสิ่งต่างๆ ทางจิตได้อย่างมากมาย น่าจะได้อภิญญาด้วย หลวงพ่อสดท่านไม่ใช่พระดุหรือโผงผางแต่ทั้งพระทั้งเณรที่ได้อยู่อบรมกับท่านก็มักเกรงกลัวท่านทั้งนั้นสิ่งใดที่ท่านปารถนาสิ่งนั้นต้องได้แต่สิ่งที่หลวงพ่อท่านปารถนานั้นก็เพื่อสงเคราะห์พระเณรในวัดทั้งสิ้น นี่ตัวอย่างผู้ที่มีบารมีเป็นอย่างนี้
เมื่อมีความชำนาญพอรักษาจิตและสมาธิตนได้แล้วท่านกลับระลึกถึงคุณของบิดามารดาของท่านที่ได้เลี้ยงดูอุ้มชูท่านมาแต่เยาว์วัย เมื่อท่านได้พบดวงแก้วดวงธรรมแล้วท่านก็ปารถนาที่จะให้บิดามารดาท่านได้สัมผัสบ้าง จักได้เป็นการตอบแทนพระคุณของท่านได้เป็นอย่างดี เมื่อระลึกได้ดังนั้นท่านจึงขออนุญาตกราบลาหลวงพ่อสดเพื่อกลับไปเยี่ยมบิดาและมารดาที่อยู่สุพรรณบุรี ซึ่งหลวงพ่อสดก็อนุญาตแต่เมื่อจะลากลับหลวงพ่อสดได้ให้โอวาทว่า
“เออท่านพยุงนี่มีความตั้งใจดี ถ้าไม่ละความพยายามต่อไปจะสมปรารถนา หลวงพ่อก็อยู่ที่ใจนี่แหละตราบใดที่รักษาความดีไว้ได้หลวงพ่อก็อยู่กับผู้นั้น ให้รักษาความดีดุจเกลือรักษาความเค็มนะจะได้ไม่เสียทีที่เกิดมา”
ท่านรับว่า สาธุภันเต แล้วจึงเดินทางกลับสุพรรณบุรีเมื่อสิ้นเดือน ๔ ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ รวมระยะเวลาที่ท่านอยู่กับหลวงพ่อสดเป็นเวลา ๔ เดือน
เรียบเรียงโดย พระอาจารย์วิชัย จริยวรรณ ณ ธุดงคสถานธรรมวิชัย ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี
เรียบเรียงโดย พระอาจารย์วิชัย จริยวรรณ ณ ธุดงคสถานธรรมวิชัย ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี