อตีเต ภิกฺขเว กุสุมฺพปุรํ นาม นครํ อโหสิ อเนกสหสฺสโยชนปฺปมาณํ นานาอุยฺยานโปกฺขรณิตฏา กสมงฺคลกตํ คชหยรถสมากิณฺณํ นานารตนสมฺปนฺนํ ตสฺมึ นคเร พฺรหฺมโฆโส นาม ราชา รชฺชํ กาเรสิ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลที่ล่วงมาแล้ว มีนครหนึ่งนามว่ากุสุมพบุรี กว้างขวางประมาณหลายพันโยชน์ มีสวนและสระโบกขรณีต่าง ๆ เป็นที่สำราญรื่นรมย์ อุดมไปด้วยหัยรถคชพาหนะและนานารัตน์ พระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่า พรหมโฆส ครองราชสมบัติอยู่ ณ เมืองกุสุมพบุรี พระมเหสีของพระราชาพรหมโฆสพระนามว่า สุนันทาเทวี
ได้ยินว่าสมัยครั้งนั้น พระสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตร พระองค์ได้อุบัติแล้วในมนุษย์โลก เสด็จประทับอยู่ ณ เมืองกุสุมพบุรี พระเจ้าพรหมโฆสราชทรงอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคกับภิกษุสงฆ์ ด้วยโภชนะและปานิยาหารประมาณได้สิบหกพรรษา และทรงพระเมตตาชุบเลี้ยงประชาชนด้วยสังคหวัตถุสี่ประการ พวกประชาบาลทั้งหลายพากันเป็นสุขสบายทั่วกัน สมบูรณ์ด้วยอเนกธนและธัญญาหารพร้อมทุกอย่าง พระราชาอาราธนาพระบรมศาสดาให้แสดงธรรมเป็นนิรันตรกาล ครั้นจบธรรมเทศนาแล้ว เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลายแปดสิบพันโกฏิได้บรรลุธรรมวิเศษต่าง ๆ กัน
คราวนั้น พิภพแห่งท้าวโกสีย์แสดงอาการร้อนให้ปรากฏขึ้น ท้าวเทวราชสอดส่องดูก็รู้ชัดว่า พระเจ้าพรหมโฆสราชครองราชสมบัติเป็นยุติธรรม เราจักไปทดลองดูให้รู้แน่แก่ใจ แล้วให้หาตัวพระมาตลีมาสั่งว่า ท่านจงแปลงกายให้เหมือนรูปสุนัขลงไปมนุษย์โลกก่อน แล้วเราจักตามลงไปภายหลัง พระมาตลีรับเทวบัญชาแล้วลงมาจากเทวโลก ไปถึงเมืองกุสุมพบุรีแปลงกายเป็นสุนัข ท้าวเทวราชแปลงเพศเป็นคนเลี้ยงสุนัข ท้าวเทวราชกับมาตลีเข้าไปยืนอยู่ท่ามกลางพระนคร พระมาตลีจึงบันลือเสียงดังก้องกังวานขึ้นสามครั้ง แผ่นดินก็สะท้านหวั่นไหว ชาวนครก็ตระหนกตกใจพากันวิ่งหนีละลนละลาน บางคนก็ไปซุ่มซ่อนอยู่ตามซอกภูเขาและพุ่มไม้และตามชายนที พระราชาสดับศัพท์โฆษแล้วตกพระทัย เสด็จขึ้นไปประทับอยู่บนปราสาทเจ็ดชั้นแล้วตรัสถามว่านั่นเสียงอะไรท้าวสหัสสนัยผู้เลี้ยงสุนัขกราบทูลว่า ข้าแต่สมมุติเทวา สุนัขของข้าพระบาทหิวนักจึงร้องเสียงดัง ขอพระองค์จงประทานข้าวสุกให้สุนัขกินเถิดพระเจ้าข้า
พระราชาจึงบังคับพวกอำมาตย์ให้นำข้าวสุกไปให้สุนัขนั้น ๆ กินแล้วหาอิ่มไม่ ได้ทำเสียงอุโฆษขึ้นอีกวาระที่สอง พระราชาสั่งถามทราบความว่าสุนัขกินข้าวยังหาอิ่มไม่ จึงรับสั่งใช้อำมาตย์ให้บังคับคนในเมืองนอกเมือง ให้ขนเอาข้าวสุกไปให้สุนัขนั้นกินให้อิ่ม สุนัขนั้นกินข้าวสุกหมดแล้วก็ยังหาอิ่มไม่ ได้ทำเสียงอุโฆษขึ้นเป็นวาระที่สาม พระราชาทราบความแล้วหาดำรัสประการใดไม่ ท้าวสหัสสนัยเจ้าของสุนัขกราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระมหาราช ในเมืองนี้มีคนพวกอธรรมอยู่มาก พระองค์จงประทานคนพวกอธรรมเหล่านั้นให้สุนัขกินเสีย สุนัขได้กินพวกอธรรมแล้วจึงจะอิ่มและจะไม่ร้องอีกต่อไป ท้าวสหัสสนัยจึงตรัสคาถาเจ็ดคาถาดังนี้ว่า
เย อธมฺมา กุฏิวิหารํ | เทวฏฺานฺจ เฉทกา |
มาตาปิตุคุรุภาตา | อสิเนหากตฺุตา |
ปุตฺตทารํ น รกฺขนฺติ | ตานิ สพฺพานิ เทหิ ตฺวํ |
ปาณาติปาเต หีสา จ | สีสํ อฏฺฏวึ ฉินฺทนฺติ |
สมณํ พฺราหฺมณํ นินฺทนฺตา | ตานิ สพฺพานิ เทหิ ตฺวํ |
เย ธนภิกฺขสตฺเถน จ | อสหายา อกตฺุตา |
ยา คพฺภธารี ปตติ ปุตฺตํ | ตานิ สพฺพานิ เทหิ ตฺวํ |
เย ปวิทานํ ทตฺวา | โสมนสฺเสน เจตสา |
ปุน ภุมฺมึ คเหตฺวาน | ตานิ สพฺพานิ เทหิ ตฺวํ |
เย ภิกฺขุโภชนํ ทตฺวา | ภฺุชิตฺวาน สยํ อทา |
อาสนา ภิกขู เฉตฺวา | ตานิ สพฺพานิ เทหิ ตฺวํ |
เย พาณิชา อธมฺมา จ | ปรธนฺจ คณฺหิตา |
โปตฺถกํ วิกินิตฺวา จ | ตานิ สพฺพานิ เทหิ ตฺวํ |
เย อนนฺทา ธมฺมํ สุตฺวา | อฺํ การํ สรนฺติ จ |
ปาณาติปาเต หึสา จ | ตานิ สพฺพานิ เทหิ ตฺวํ |
ความว่า คนผู้อธรรมทำลายกุฎีวิหารและเทวสถาน เป็นคนอกตัญญูไม่เคารพรักมารดา บิดา ครู และ พี่น้องของตน และไม่ปกครองบุตรภรรยาทิ้งให้อนาถา พระองค์จงประทานคนทั้งมวลนั้นให้สุนัขกินเสียเถิด อนึ่งคนผู้เบียดเบียนสัตว์ให้ได้ความเดือดร้อนใจ และตัดหัวคนเดินดงชิงเอาทรัพย์ และคนที่นินทาว่าร้ายสมณพราหมณ์ก็ดี พระองค์จงประทานคนพวกเหล่านี้ ให้สุนัขกินเสียให้หมดเถิด คนเหล่าใดไม่คบพวกขอทาน และมีสันดานเป็นคนอกตัญญูก็ดี อนึ่งสตรีมีครรภ์ทำให้ลูกตกไป (รีดลูกเสีย) พระองค์จงประทานคนพวกเหล่านี้ ให้สุนัขกินเสียให้สิ้นเถิด คนเหล่าใดเต็มใจยกที่ดินให้เขาแล้ว ภายหลังเรียกกลับคืนเอาปกครองเสียเอง พระองค์จงประทานคนพวกนั้นทั้งหมดให้สุนัขกินเสียเถิด อนึ่ง คนผู้ใดให้โภชนะแก่ภิกษุแล้วเอามาบริโภคเสียเองและขับไล่ภิกษุไปเสียจากอาสนะ พระองค์จงประทานคนพวกนั้นทั้งหมดให้สุนัขกินเสียเถิด พ่อค้าพาณิชเหล่าใดรับเอาทรัพย์ของผู้อื่นเขาไว้แล้ว ขายของขี้ริ้วขี้เหร่ให้แก่เจ้าของทรัพย์เขาไป พระองค์จงประทานให้คนพวกนั้นทั้งหมดแก่สุนัขกินเสียเถิด อนึ่งคนเหล่าใดไม่ยินดีฟังธรรมไปคิดนึกการอะไร ๆ อื่นเสียก็ดี และคนที่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายก็ดี พระองค์จงประทานให้คนพวกนั้นทั้งหมด แก่สุนัขกินเสียเถิด พระเจ้าข้า
คราวนั้น พระมาตลีสุนัขแปลง แสร้งทำทีประหนึ่งว่าจะโดดเข้ากัดชนชาวเมือง ๆ ก็ตระหนกตกใจ วิ่งหนีไปหลบซ่อนอยู่ ณ ที่ต่าง ๆ พระมาตลีเทวบุตรนั้นครั้นละรูปสุนัขเสียแล้ว แปลงเพศให้เหมือนดรุณสุริยเทวบุตร ประดับสรรพาลังการ มีหมู่เทพยดาเป็นบริวารประดิษฐานอยู่กลางอากาศ ท้าวสักกเทวราชจึงแสดงวิมานพันหนึ่ง ซึ่งมีนางอัปสรประจำอยู่วิมานละพัน ๆ ชวนกันบรรเลงดุริยางดนตรีเสียงไพเราะจับใจ และแสดงให้เห็นสมบัติต่าง ๆ บันดาลให้สกลนครสว่างด้วยทิพยโอภาสแห่งวิมานทั้งหลายแล้วทูลบรรยายว่า ดูกรมหาราช พระองค์ปรารถนาซึ่งทิพยสมบัติอยู่ จงทำตามคำของข้าพเจ้า แล้วประกาศทวาทสคาถานี้ว่า
เย สทฺธาย ปพฺพชิตฺวา | ทสสีเลสุ รกฺขนฺติ |
สพฺพปฺุานิ กตฺวาน | เต วิมาเนว ทิสฺสเร |
โย โพธิรุกฺขํ โรเปติ | โย จ ปพฺพชิโต นโร |
โย จ สตฺถุ พิมฺพํ กโร | โส วิมาเนว ทิสฺสเร |
เย คหฏฺา ปฺุกรา | สีลวนฺตา อุปาสกถา |
ปุตฺตทารฺจ โปเสนฺติ | เต วิมาเนว ทิสฺสเร |
เย กุฏิวิหารํ กตฺวา | เทวฏฺานํ รกฺขิตา จ |
มาตาปิตุคุรุภาตา | โปเสนฺติ ทิเน ทิเน |
กตฺุตาหิ สมฺปนฺนา | เต วิมาเนว ทิสฺสเร |
ปาณาติปาเต อหึสา | เนว อฏฺฏวึ ฉินฺทนฺตา |
สมณานํ อนินฺทา จ | เต วิมาเนว ทิสฺสเร |
เย ธนภิกฺขสตฺเถน | สหายา กตฺุตา |
ยา คพฺภธารี น ปตติ | เต วิมาเนว ทิสฺสเร |
เย ปวิทานํ ทตฺวา | โสมนสฺเสน เจตสา |
ปุน ภุมฺมึ อคเหตฺวา | ปจฺฉา โหนฺติ จ อิสฺสรา |
เย ภิกฺขุโภชนํ ทตฺวา | น ภฺุชิตฺวา สยํ อทา |
อาสนา ภิกฺขู ตปฺเปนฺติ | เต วิมาเนว ทิสฺสเร |
เย พาณิชา สุธมฺมา จ | ปรธนํ อคณฺหิตา |
โปตฺถกํ เนว วิกิณนฺติ | เต วิมาเนว ทิสฺสเร |
เย จ นนฺทา ธมฺมํ สุตฺวา | อฺํ การํ น สรนฺติ |
เย วาจํ คุรุโน กตฺวา | คุรุโทสํ น คณฺหิตฺวา |
ทูเร วา อวิทูเร วา | สรนฺติ ทิเน ทิเน |
คุรูนํ จิตฺตํ ปสาเทนฺติ | เต วิมาเนว ทิสฺสเรติ |
ความว่า ชนเหล่าใดบวชด้วยศรัทธา รักษาศีลสิบทำบุญทั้งปวงไว้ ชนเหล่านั้นจะได้อยู่ในวิมานเทียว ชนใด ๆ ได้ปลูกต้นโพธิไว้ก็ดี หรือตนบวชแล้วก็ดี สร้างพระศาสดาไว้บูชาก็ดี ชนนั้น ๆ ย่อมจะได้อยู่ในวิมานเทียว คฤหัสถ์เหล่าใดทำบุญไว้และเป็นอุบาสกมีศีล บำรุงเลี้ยงบุตรภรรยา (ตามกำลังของตน) คนเหล่านั้นจะไปอยู่ในวิมานเที่ยงแท้ ชนเหล่าใดก่อสร้างกุฏิวิหารและรักษาเทวสถานไว้ กอบไปด้วยความกตัญญู เลี้ยงดูมารดาบิดา พี่น้องและครูอาจารย์ทุกวันทุกวัน ชนเหล่านั้นย่อมจะได้ไปอยู่ในวิมานเที่ยงแท้ ชนเหล่าใดไม่ฆ่าสัตว์ไม่ทำสัตว์ให้ลำบากและไม่แย่งชิงชาวดงชาวป่า ไม่นินทาสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ชนเหล่านั้นย่อมจะไปอยู่ในวิมานสวรรค์
ชนเหล่าใดกตัญญูผู้คบหากับพวกขอทานก็ดี สตรีมีครรภ์คนใดไม่ทำลูกให้ตกไปก็ดี ชนเหล่านั้นย่อมจะไปอยู่ในวิมานเที่ยงแท้ ชนเหล่าใดเต็มใจให้ที่ดินแก่เขาแล้ว ภายหลังไม่คืนที่ดินเข้าปกครองอีกต่อไป ชนเหล่านั้นย่อมจะไปอยู่ในวิมานชั้นฟ้า ชนเหล่าใด ให้โภชนะแก่ภิกษุแล้วและมิได้เอามาบริโภคเสียเอง ให้ภิกษุทั้งหลายฉันจนอิ่ม ชนเหล่านั้นย่อมจะไปอยู่ในวิมานแน่แท้ พาณิชคนใดใจเป็นกรรมดี มิได้รับทรัพย์ของคนอื่นแล้ว และมิได้ขายของขี้ริ้วขี้เหร่ให้เขาไป พาณิชเหล่านั้นย่อมจะไปอยู่ในวิมานแน่ทีเดียว ก็ชนเหล่าใดยินดีฟังธรรม มิได้ระลึกถึงการงานอย่างอื่น เป็นผู้ทำตามถ้อยคำของครูอาจารย์ มิได้ถือโทษของครูอาจารย์ ไม่ว่าอยู่ไกลอยู่ใกล้ย่อมระลึกถึงครูอาจารย์ทุกวันๆ และย่อมทำจิตใจของครูอาจารย์ให้เลื่อมใสยินดี ชนเหล่านั้นย่อมจะไปอยู่ในวิมานเที่ยงแท้ ดูกรมหาราช ข้าพเจ้าคือท้าวเทวินทร์ละทิพยสมบัติลงจากเทวโลกมาสู่สำนักของพระองค์ (ประสงค์จะถวายโอวาท) ขอพระองค์จงดำรงอยู่ในปัญจศีล ต่อแต่นี้ไปพระองค์อย่าได้ประมาทเลย ท้าวอินทรเทวราชถวายโอวาทแล้วกลับไปยังสถานที่ของพระองค์
จำเดิมแต่คราวนั้นมา พระมหาสัตว์บำเพ็ญกุศลวัตต์ มีทานและศีลเป็นต้น ประทานโอวาทแก่มหาชนทรงดำรงราชสมบัติโดยธรรมสม่ำเสมอ เมื่อสิ้นพระชนมายุแล้วมีสวรรค์เป็นที่ดำเนินไปข้างหน้า หมู่ประชาชนชาวนครตั้งอยู่ในโอวาทพระโพธิสัตว์แล้ว เบื้องหน้าแต่ทำลายขันธ์มีสวรรค์เป็นที่ไป ณ เบื้องหน้า
สตฺถา อิมํ ธมฺมเทสนํ อาหริตฺวา สมเด็จพระบรมศาสดาทรงนำธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงประกาศจตุราริยสัจกถา เทพยดาและมนุษย์ได้รับประทานฟังแล้วก็ได้ดำรงอยู่ในมรรคผลมีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น สมเด็จพระทศพลจึงประชุมชาดกว่า ท้าวสักกเทวราชในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคืออนุรุทธ มาตลีเทวบุตรในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือพระอานนทเถระ นางนันทาเทวีกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือนางอุบลวรรณาเถรี มหาชนในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือพุทธบริษัท พระเจ้าพรหมโฆสราชในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือ พระตถาคต มีพุทธพจน์ให้จบลงดังนี้