พระอาจารย์สีทัตถ์ วัดท่าอุเทน นครพนม

พระอาจารย์สีทัตถ์วัดท่าอุเทน นครพนมและเรื่องพระถวัลย์ โชติธัมโมเซียงโมงระลึกชาติ พระอาจารย์สีทัตถ์ กลับชาติมาเกิด

โดย ทองทิว สุวรรณทัต

พระถวัลย์ โชติธมฺโม
เช้าวันหนึ่ง ขณะที่ผู้เขียนเดินขึ้นไปบนสำนักงาน “โลกทิพย์” กับ คุณอานนท์ เนินอุไร บรรณาธิการ

ก็พอดีเหลือบไปเห็นพระภิกษุรูปลักษณะโปร่งบาง ครองจีวรสีกรักอ่อน อายุประมาณ ๓๐ ปีเศษ รูปหนึ่ง นั่งอยู่ที่เก้าอี้รับแขก

คุณอานนท์ได้รีบเข้าไปนมัสการทักทายท่านอยู่ ๒-๓ ประโยคแล้วหันมาบอกผู้เขียนว่า

“พอดี ท่านเซียงโมง มาคุณทองทิวสัมภาษณ์เสียเลยจะได้ไม่เสียเที่ยว ท่านระลึกชาติได้”

เวลานั้นผู้เขียนกำลังยุ่งอยู่กับการส่งต้นฉบับหนังสือแจกในงานพระราชทานเพลิงศพ พ.อ.(พิเศษ) เสนาะ จินตรัตน์ และจะต้องรีบไปพบกับ คุณอัญชลี จินตรัตน์ ภรรยาของผู้การเสนาะ

จึงได้เข้าไปนมัสการท่าน “เซียงโมง” ด้วยความสับสนวุ่นวายในใจ ทั้งระคนสงสัยว่า เหตุไฉนท่านจึงได้มีนามเช่นนี้ ?

และได้เรียนถามท่านว่า ท่านจะให้เวลาแก่.ผู้เขียนไปทำธุรกิจสักชั่วโมงหนึ่งก่อนจะได้ไหม ? แล้วผู้เขียนจะกลับมาสัมภาษณ์ท่าน เพราะผู้เขียนกำลังสนใจในเรื่องตายแล้วเกิด และเรื่องระลึกชาติได้อยู่เป็นอย่างยิ่ง

ท่าน “เซียงโมง” ดูจะอึดอัดใจอยู่ ด้วยท่านจะไปหาที่พักซึ่งท่านยังไม่ทราบว่าจะเป็นที่ไหนแน่ ครั้นจะปฏิเสธผู้เขียนก็ใช่ที่

คุณอานนท์เห็นดังนั้นก็ตัดบท ขอนิมนต์ท่านไปยังบ้านของคุณอานนท์ ที่ตั้งเป็น “กองทุนโลกทิพย์” อยู่ใกล้ ๆ กับสำนักงาน “โลกทิพย์” นั่นเอง และขอให้ผู้เขียนสัมภาษณ์ก่อนจะไปหาคุณอัญชลี เพราะมีเวลาเหลือพอจะกระทำได้

คุณทองทิว ขณะสัมภาษณ์พระถวัลย์
ผู้เขียนจึงตามไปสัมภาษณ์ท่าน “เซียงโมง” ตามประสงค์ของคุณอานนท์ในเวลาต่อมา และได้เรื่องที่น่าอัศจรรย์มาเสนอต่อท่านผู้อ่านอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถพิสูจน์ได้

แม้ ศาสตราจารย์เอียน สตีเวนสัน ได้ค้นคว้าและพิสูจน์ให้เห็นประจักษ์หลายรายแล้วก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายก็ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าเป็นเพราะเหตุใด มนุษย์เราจึงตายแล้วเกิด ไม่ใช่ตายแล้วสูญดังที่เข้าใจกันอยู่ ?

เรื่องที่ท่านทั้งหลายจะได้อ่านต่อไปเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนขอนำมาเสนอให้ท่านได้ช่วยพิจารณาว่า พระพุทธศาสนามีสัจธรรมเหนือกว่าที่วิทยาศาสตร์จะพิสูจน์ได้ จริงหรือไม่ ?

บันทึกชีวิตจริง

ภิกษุวัยกลางคน ผู้นั่งสำรวมอยู่บนอาสนะที่คุณอานนท์จัดให้นั้น ได้เปิดเผยชีวิตตั้งแต่เยาว์วัยจนถึงปัจจุบันให้ฟัง

ซึ่งเรื่องราวชีวิตของท่านในช่วงที่ยังเยาว์วัยนั้น มีหลักฐาน พยานพิสูจน์ข้อเท็จจริง คือบันทึกเรื่อง “คนตายแล้วเกิดใหม่ ระลึกชาติได้” เขียนโดยท่านพระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)

บันทึกเรื่องนี้ ท่านพระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส) ได้ให้ทางวารสารยุวพุทธิกะสมาคมแห่งประเทศไทย ออกนำตีพิมพ์เผยแพร่ โดยกล่าวยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง ซึ่งมีเรื่องราวดังต่อไปนี้คือ..

พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)
“เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๙ ข้าพเจ้า (พระอริยคุณาธาร = เส็ง ปุสฺโส) ได้มีโอกาสติดตามเจ้าคณะมณฑลอุดร ไปตรวจการคณะฯ ทางริมฝั่งแม่น้ำโขง ในเขตจังหวัดหนองคาย ไปถึงบ้านโพนแพง อำเภอโพนพิสัย พักแรมที่วัดโพนเงิน ตรงข้ามกับพระพุทธบาทโพนสัน ในเขตประเทศลาว

ครั้งนั้นพระอาจารย์สีทัตถ์ กำลังก่อสร้างอุโมงค์ (กะตึบ) คร่อมพระพุทธบาทอยู่ที่นั่น

วันรุ่งเช้า เจ้าคณะมณฑลข้ามฟาก (แม่น้ำโขง) ไปเขตประเทศลาว ข้าพเจ้าจึงขอโอกาสสนทนากับพระอาจารย์สีทัตถ์

ข้าพเจ้าเพิ่งพบกันเป็นครั้งแรกในครั้งนั้น แต่ก็สนิทสนมกันง่ายดาย คล้ายกับได้รู้จักคุ้นเคยกันมานานแล้ว

เรื่องสำคัญที่สนทนากันในวันนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการระลึกชาติของพระอาจารย์สีทัตถ์

ท่านกล่าวว่า ท่านได้ฌานและอภิญญาณโลกีย์ มีความรู้ระลึกชาติในอดีตอนาคตของท่านได้ ตลอดถึงคนอื่นที่เกี่ยวข้องกันท่านกล่าวว่า ข้าพเจ้ากับท่านเคยเป็น “พ่อลูกปลูกโพธิ์” มาด้วยกัน แต่ต่างคนต่างมีกรรมเป็นของตน กรรมซัดไปติดคนละทาง คนละทิศ ห่างไกลกัน ทั้งวยายุกาลก็ห่างกันด้วย ถึงดังนั้นบุญก็ยังบันดาลให้มาประสบพบพานกันได้

ฝากไว้ให้เลี้ยงดู

การพบกันครั้งนี้เป็นทั้งครั้งแรก และเป็นทั้งครั้งสุดท้าย (ท่านอายุ ๗๑ แล้ว) จึงขอถือโอกาสบอกเล่าเก้าสิบเรื่องที่เกี่ยวข้องกันไว้ กับขอฝากให้เลี้ยงดูท่านในเมื่อเกิดชาติหน้านั้นด้วย

พระอาจารย์สีทัตถ์ท่านกล่าวว่า ท่านเป็นนิยโตโพธิสัตว์ ได้รับพุทธพยากรณ์แล้ว จะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลไกลโน้น และเป็นชนิด “สัทธาธิกะ” มีกำหนดสร้างบารมี ๑๖ อสงไขยกัลป์ จึงจะสำเร็จพระโพธิญาณ

ท่านกล่าวว่าในอดีตชาตินานมาแล้ว ท่านเคยเกิดเป็นลูกของข้าพเจ้า และในชาติหน้าในลำดับต่อไปนี้ แม้จะไม่ได้เป็นลูกเกิดแต่ในอกของข้าพเจ้า ขอแต่เป็นลูก “บุญธรรม” ขอให้ข้าพเจ้าเลี้ยงลูกปลูกโพธิ์อีกครั้ง

ข้าพเจ้าได้ฟังแล้วก็เอะใจ ! และท่านกล่าวต่อไปว่า

ในสมัยกึ่งพุทธกาลนั้น พระพุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ข้าพเจ้าจะเป็นคนสำคัญคนหนึ่งในสมัยนั้น ท่านจะไม่ได้ทันเห็น แต่ก็ไม่เป็นไร ในสมัยนั้นได้มาเกิดใหม่เป็นลูก “บุญธรรม” ของข้าพเจ้า

ท่านย้ำคำนี้หลายครั้งเพื่อให้กระชับใจข้าพเจ้า แล้วท่านก็กล่าวเรื่องการเกิดใหม่ในอนาคตของท่านไว้ดังนี้

เกิดใหม่ไม่มีสกุล

ท่านเกิดในชาติหน้าในท้องคนไม่มีสกุล พ่อผู้ให้กำเนิดไม่ปรากฏแก่คนทั้งหลาย แม่ผู้ให้กำเนิดเป็นคนพลัดถิ่น เขาจะไปคลอดบุตรในถิ่นที่ไม่มีคนรู้จัก ในหมู่บ้านชื่อว่า “บ้านสงเปลือย ตำบลพันดอน อำเภอกุมภวาปี จังหวัด อุดรธานี”

แล้วมารดาก็จะละทิ้งบุตรหนีไป มีทุคตะผัวเมียคู่หนึ่งรับไปเลี้ยงไว้ในระยะแรก เพราะฐานะของเขาเป็นคนยากจน เลี้ยงอยู่ประมาณ ๓ เดือน ไม่สามารถจะเลี้ยงต่อไปได้

ท่านว่า ทั้งนี้ก็เพราะเวรกรรมของท่านที่ทำลูกนกให้พลัดพรากจากแม่ของมันในอดีตชาติ

ต่อจากนั้นจะมีผู้หญิงใจบุญคนหนึ่งเป็นหญิงม่ายไม่มีบุตร ซึ่งเคยเป็นมารดาในชาติก่อนมารับไปเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม

หญิงคนนั้นชื่อ “สายบัว” อยู่ในหมู่บ้านสงเปลือยนั้นเอง เคยเป็นภริยาหลวงวรวุฒิมนตรี นายอำเภอ ฯ

เมื่อเกิดในชาติหน้านั้น จะได้สัดส่วนสมทรง ความยาวของขากับลำตัวจะเท่ากัน หลังมือหลังเท้านูน ผิวขาวเหลือง สะอาดเกลี้ยงเกลาปราศจากไฝฝ้า ด้วยอำนาจบุญที่ปฏิสังขรณ์ตบแต่งและก่ออุโมงค์คร่อมพระพุทธบาท

แต่ใบหน้านั้นหักนิดหน่อย เพราะความใจน้อยโกรธง่าย ทำหน้าเง้าหน้างอ และจะมีเสียงก่า ๆ เพราะด้วยการกล่าวผรุสวาจา

จะมีนามว่า “ถวัลย์” แต่คนมักจะเรียกเล่น ๆ กันว่า “บุญติด” แต่เมื่อได้มาอยู่กับข้าพเจ้าแล้วจะเรียงกันว่า “เซียงโมง”

เมื่อสนทนากันไป ท่านเห็นว่าข้าพเจ้าไม่ปลงใจเชื่อสนิท ท่านจึงขออนุญาตเล่าประวัติของข้าพเจ้าในชาติปัจจุบันที่ล่วงมาแล้วให้ฟังเพื่อเป็นพยานยืนยันความรู้ที่ท่านระลึกชาติได้ ข้าพเจ้าก็อนุญาต

ท่านได้เล่าประวัติความเป็นมาของข้าพเจ้าที่ล่วงมาแล้ว ถูกต้องตามความเป็นจริงทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนอย่างกับตาเห็น

ข้าพเจ้าได้ใคร่ครวญหาเหตุผลว่า ท่านรู้ได้อย่างไร (เวลานั้นข้าพเจ้าอายุ ๒๙ ปี) เข้าใจว่าท่านมีญาณชนิดหนึ่งรู้ได้จริง จึงตกลงปลงใจเชื่ออย่างสนิท

และรับปากรับคำว่าจะรับเลี้ยงท่านในเมื่อท่านเกิดใหม่ในชาติหน้า

จากวันพบพระอาจารย์สีทัตถ์มาประมาณ ๓ ปีเศษ คือในราวปี พ.ศ.๒๔๘๑ หรือต้นปี พ.ศ๒๔๘๒ จำไม่แน่

ข้าพเจ้าได้รู้จักกับ คุณนายสายบัว อินทรกำแหง ซึ่งเคยเป็นภริยาของหลวงวรวุฒิมนตรี มีภูมิลำเนาตรงกับที่พระอาจารย์สีทัตถ์บอกไว้ จึงเล่าเรื่องที่กล่าวมาแล้วให้คุณนายสายบัวฟัง

และสั่งไว้ว่า ถ้าคุณนายได้เด็กชายตามที่กล่าวมาแล้วมาเลี้ยงไว้ ขอให้ส่งข่าวด้วย

ปริศนาทารกน้อย

จากวันเมื่อพบคุณนายสายบัวมาแล้วประมาณ ๑๕ ปี ข้าพเจ้าก็ทราบว่าคุณนายสายบัวได้เด็กชายมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมแล้วจึงหาโอกาสไปพบ

คุณนายก็นำเด็กนั้นมาให้ข้าพเจ้าดูที่วัดในหมู่บ้านนั้น ซึ่งเวลานั้นเด็กนั้นมีอายุได้ ๓ ขวบ (เกิดใน พ.ศ.๒๔๙๓)

ข้าพเจ้าได้สอบถามเหตุการณ์เมื่อแรกเกิดและที่ได้มา คุณนายสายบัวเล่าว่า

มีหญิงคนหนึ่งพลัดถิ่นมาที่บ้านสงเปลือย ไม่มีใครรู้จัก พอมาถึงในคืนนั้นก็ปวดท้องคลอดบุตร ชาวบ้านได้ช่วยกัน

พอรุ่งเช้าชาวบ้านต้มน้ำร้อนจะให้เขาอาบ พอน้ำเดือด หญิงนั้นก็ตักมาจะลวกบุตรให้ตาย ชาวบ้านป้องกันไว้ทัน เอาบุตรซ่อนเสีย หญิงนั้นก็เลยหนีเตลิดเปิดเปิงไปในวันนั้น

มีผัวเมียคู่หนึ่งรับไปเลี้ยงไว้๓ เดือน เลี้ยงไม่ไหวเพราะความยากจน จึงนำมามอบแก่คุณนายสายบัว

คุณนายสายบัวเล่าต่อไปว่า ก่อนที่เขาจะนำเด็กมาให้ ในคืนนั้นฝันว่า “มีแก้วเก้าสี มีรัศมีรุ่งเรือง มาประดิษฐานอยู่ที่ชานเรือนรู้สึกดีใจไปรับเอามาไว้” พอรุ่งเช้าก็ได้รับเด็กคนนี้

ต่อมาได้ขนานนามว่า “ถวัลย์” แต่เรียกกันเล่น ๆ ว่า “บุญติด”

ทดสอบตอบฉะฉาน

ตามที่คุณนายสายบัวเล่าให้ข้าพเจ้าฟังนี้ ตรงกับที่พระอาจารย์สีทัตถ์พูดไว้ ตลอดถึงลักษณะของเด็กด้วยทุกประการ

ข้าพเจ้าจึงพูดกับคุณนายสายบัวว่า จะขอรับเอาไปเป็นบุตรบุญธรรม แต่ยังเล็กอยู่เกรงเด็กจะลำบาก ขอให้คุณนายเลี้ยงไปก่อนจนกว่าจะมีวัยอันสมควร

พ.ศ.๒๔๙๖ ออกพรรษาแล้วข้าพเจ้าไปบ้านสงเปลือยอีกครั้งหนึ่ง พักอยู่ที่วัดในหมู่บ้าน คุณนายสายบัวก็พาเด็กชายคนนี้มาต้อนรับ

ข้าพเจ้าอยากจะพิสูจน์ให้แน่อีกครั้งหนึ่งว่า จะเป็นพระอาจารย์สีทัตถ์แน่หรือไม่ จึงถามว่า เมื่อก่อนนั้น ตัวชื่อสีทัตถ์หรือไม่ ?

เขาตอบทันทีว่า “ใช่”

แล้วข้าพเจ้าก็ยุติไว้เพียงนั้นไม่เล่าเรื่องอาจารย์สีทัตถ์ให้เขาได้ยิน เพราะเพื่อจะสังเกตความเป็นไปต่อไป

เมื่อคุณนายสายบัวพากลับบ้านแล้ว คุณนายสายบัวกลับมาเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า

เด็กนั้นเมื่อกลับถึงบ้านได้เล่าเรื่องราวครั้งเป็นอาจารย์สีทัตถ์ในชาติก่อนให้คุณนายสายบัวฟังแต่ทว่าไม่ติดต่อกัน เล่าเฉพาะเรื่องสำคัญของชีวิตเป็นท่อน เป็นตอน พอรู้ได้ว่าเขาระลึกชาติได้

กลางปี พ.ศ.๒๔๙๗ คุณนายสายบัวนำเด็กชายถวัลย์มาให้ข้าพเจ้าที่วัดป่าเขาสวนกวาง ข้าพเจ้าเอารูปถ่ายของพระอาจารย์สีทัตถ์ให้ดู แล้วถามเด็กว่า นี่รูปของใคร ? เด็กตอบว่ารูปของเขาในตอนปลาย

(ตั้งแต่พระอาจารย์สีทัตถ์มรณภาพ จนถึงเด็กชายคนนี้เกิดประมาณ ๑๐ ปีกว่า ๆ เมื่อตอนท่านทำนายนั้นพระอาจารย์สีทัตถ์อายุ ๗๑ ปี)

ต่อมาข้าพเจ้ามีธุระไปที่อุดรธานีพาเด็กชายคนนั้นไปด้วย

วันหนึ่งข้าพเจ้าไปเยี่ยมพระยาอุดรธานีศรีโขมสาครเขตร์ พอขึ้นไปบนบ้าน เห็นเจ้าคุณอุดรฯกำลังนั่งโต๊ะรับประทานอาหารเย็น เด็กชายคนนี้ก็ตรงรี่เข้าไปหา และทำท่าจะรับประทานอาหารร่วมด้วย เจ้าคุณอุดรฯ มีความเมตตาจึงจัดอาหารให้รับประทาน

ข้าพเจ้ามานั่งรอคอยเจ้าคุณอุดรฯ อยู่ที่โต๊ะรับแขกใต้ซุ้มกล้วยไม้ เมื่อเด็กชายนั้นรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ข้าพเจ้าถามว่าไม่กลัวท่านหรือ ท่านเป็นพระยา

เขาตอบว่าไม่กลัว เพราะเคยรู้จักกับท่าน

ข้าพเจ้าถามว่า รู้จักท่านที่ไหน ?

เขาตอบว่า รู้จักเมื่อครั้งก่ออุโมงค์คร่อมพระพุทธบาทที่อำเภอบ้านผือ

พอเจ้าคุณอุดรฯ มานั่งกับข้าพเจ้าเรียบร้อยแล้ว ข้าพเจ้าถามเจ้าคุณอุดรฯ ว่า เมื่อครั้งพระอาจารย์สีทัตถ์ก่ออุโมงค์คร่อมพระพุทธบาทที่บ้านผือนั้น ท่านเจ้าคุณเคยไปและเคยรู้จักสนิทกันกับพระอาจารย์สีทัตถ์หรือไม่ ?

ท่านเจ้าคุณอุดรฯ ตอบว่าเคยไป และรู้จักกันสนิทสนมกันมาก

ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๗ จนถึงปัจจุบันนี้ เด็กคนนี้ได้มาอยู่กับข้าพเจ้าที่เขาสวนกวาง เมื่อคนต่างถิ่นมาเยี่ยม ถ้าคนนั้นเคยรู้จักกับพระอาจารย์สีทัตถ์ แม้เขาจะไม่รู้จัก ก็แสดงอาการสนิทสนมเหมือนกับคนที่เคยรู้จักกันมาช้านานแล้ว

แต่ถ้าคนนั้นไม่เคยรู้จักพระอาจารย์สีทัตถ์ แม้จะแนะนำให้เขารู้จัก เขาก็ไม่แสดงอาการสนิทสนม แสดงอาการอย่างคนธรรมดาที่เพิ่งรู้จักกัน

เซียงโมง

เด็กคนนี้เมื่อมาอยู่กับข้าพเจ้าข้าพเจ้าต้องการทดลองว่าเขาจะเคยบวชในชาติก่อนหรือไม่ จึงตัดสบงจีวรและย่ามเล็ก ๆ ให้ ทำทีบรรพชาให้เป็นสามเณร

เขาแสดงอาการดีใจชื่นบานหรรษา ส่อว่ามีอุปนิสัยในการบวชมาแล้ว เมื่อบวชแล้วอดข้าวเย็นไม่ได้ ต้องสึกกินข้าวเย็นในวันนั้น

(อายุ ๕ ขวบกับ ๗ เดือน เกิดวันอังคาร แรม ๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีขาล วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๓ เวลา ๕.๐๐ น.เศษ)

จึงตั้งชื่อล้อเลียนเขาว่า “เซียงโมง” คนที่บวชเณรไม่ข้ามวันแล้วสึก ทางภาคอีสานเรียกผูสึกจากเณรนั้นว่า “เซียง”

เมื่อเหตการณ์ตรงกับคำพยากรณ์ของพระอาจารย์สีทัตถ์ทุกประการดังที่เล่ามาตลอด ถึงพฤติการณ์ของเด็ก ข้าพเจ้าจึงปลงใจเชื่อว่าอาจารย์สีทัตถ์มาเกิดและระลึกชาติได้จริง

ข้าพเจ้าจึงขอรับรองด้วยเกียรติยศและศีลธรรมว่า เป็นความจริงดังนี้กล่าวมามิได้เสกสรรปั้นแต่งขึ้น

ขอส่งเรื่องนี้แก่ยุวพุทธิกะ เพื่อเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์การกลับชาติมาเกิดใหม่ของคน”
เด็กนั่นคืออาตมา

พระถวัลย์ โชติธมฺโม
พระภิกษุท่านนั้น จากการสัมภาษณ์ท่านได้กล่าวยืนยันว่า

“เด็กคนนั้นคืออาตมาเอง”

แล้วท่านได้เปิดเผยว่า…

ท่านชื่อ ถวัลย์ นามสกุล อินทรกำแหง

เกิดเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๓ ณ อำเภอกุมภวาปี จังหวัด อุดรธานี

บิดามารดาไม่มี เพราะเมื่อท่านเกิดมาแล้วจะตายหรือหายไปไหนทั้งคู่ก็ไม่ทราบเลย และจนบัดนี้ท่านมีอายุย่างเข้า ๓๘ ปี ก็ยังไม่ทราบว่าบิดามารดาของท่านเป็นใคร ? ชื่ออะไร ?

เพราะชีวิตเติบโตขึ้นมาด้วยการอนุเคราะห์เลี้ยงดูจากคุณแม่สายบัว อินทรกำแหง จนอายุได้สามขวบก็นำไปให้ ท่านเจ้าคุณพระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสโส) อุปการะต่อ และได้ใช้นามสกุล “อินทรกำแหง” เรื่อยมา

ครั้นอยู่กับท่านเจ้าคุณเส็งได้๒ ปี ท่านลงมากรุงเทพฯ ก็ได้พามาอาศัยอยู่บ้าน คุณสนั่น วีรวรรณ และได้เรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนสุกิจวิทยาลัยของ ท่านศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินทร์ ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมไปนานแล้ว โดยเริ่มเรียนตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ ๑ ถึงประถมปีที่ ๔

จากนั้นก็ไปสอบเข้าโรงเรียนวัดธาตุทอง จนถึงชั้นประถมปีที่ ๗ จบแล้วไปเรียนต่อที่โรงเรียนยาสูบอุปถัมภ์ ข้างสะพานเหลืองเดิมจนถึงชั้นมัธยมปีที่ ๒

ภายหลังเกิดมีปัญหาภายในบ้านเล็กน้อย ก็เลยสอบตก จึงกลับไปอยู่กับคุณแม่สายบัว และไปเรียนต่อจนจบชั้นมัธยมปีที่ ๓ ของโรงเรียนน้ำตาลอุปถัมภ์

แล้วของเก่าจะกลับมา

พระภิกษุถวัลย์ได้เล่าต่อไปว่า

เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมปีที่สามแล้ว ได้ไปรอทำงานอยู่ที่เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก เพราะน้าชายซึ่งเป็นญาติห่าง ๆ จะฝากให้

แต่รออยู่นานก็ไม่ได้ทำงานสักที จึงกลับมาบวชเณร เมื่อปี ๒๕๑๒ ที่วัดจอมสี อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี โดยมีท่านพระครูชิโนวาทธำรงค์ เป็นอุปัชฌาย์ (มรณภาพแล้ว)

เป็นสามเณรสมบูรณ์แล้วก็ไปอยู่วัดเขาสวนกวางกับท่านเจ้าคุณเส็ง พออายุครบอุปสมบทก็บวชเป็นพระภิกษุ โดยมี ท่านพระครูอินทรโสภณ เป็นอุปัชฌาย์ ได้ฉายาว่า โชติธัมโม

ท่านเจ้าคุณเส็งได้สอนให้ปฏิบัติกรรมฐานและสอนให้เร่งความเพียรให้หนัก ท่านบอกว่า

“ให้เพียรทำสมาธิเรื่อย ๆ แล้วของเก่าจะกลับมา”

มารผจญ

แต่ท่านพระภิกษุถวัลย์ อุปสมบท เป็นพระภิกษุได้เพียงไม่กี่พรรษา สอบนักธรรมโทได้ ก็ต้องลาสิกขาออกมาผจญกับความวุ่นวายในเรื่องทางโลกอยู่อีกหลายปี

“อาตมาสึกออกมามีครอบครัวแล้วก็อยู่กันได้ไม่นานก็แยกทางกัน อาตมาก็มาพิจารณาดูว่าจะไปทางไหน

จนเห็นว่าไม่มีทางไหนดีกว่าอยู่ในสมณเพศ เพราะมีแต่ความสงบร่มเย็น อาตมาจึงได้กลับมาอุปสมบทโดยมีอุปัชฌาย์องค์เดิมเป็นผู้บวชให้” ท่านเล่าให้ฟัง

จะอยู่เรื่อยไป

ปัจจุบันท่านจำพรรษาอยู่ที่ วัดวงศ์สนิทเมตตาราม ตำบลกะเฉด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง

“อาตมายังไม่ลืมพระคุณของท่านเจ้าคุณเส็งเลย อาตมาเคยไปกราบท่านในฐานะท่านเป็นผู้มีพระคุณชุบเลี้ยงอาตมา มาที่วัตเขาสวนกวาง

ได้เข้าไปปฏิบัติรับใช้ท่านอยู่ ท่านรู้จักหลักธรรมะดี ท่านพูดแต่ละคำเป็นหลักธรรมโดยตรงเลย

ทุกวันนี้ อาตมาสวดมนต์ภาวนาแล้วอุทิศกุศลไปให้ท่านเจ้าคุณทุกครั้ง และตั้งใจจะอยู่ในสมณเพศไปเรื่อย ๆ

ตั้งใจจะปฏิบัติภาวนาให้จิตสงบจนถึงที่สุด แต่คงต้องใช้เวลาบ้าง เพราะอาตมาใช้ชีวิตทางโลกมานาน เพิ่งจะกลับมาบวชได้สองพรรษานี้เอง” ท่านพระภิกษุถวัลย์กล่าว ในที่สุด

อยู่ที่ไหน

เรื่องหลวงปู่สีทัตถ์กลับชาติมาเกิดเป็นพระถวัลย์ โชติธัมโม จึงจบเพียงแค่นี้

แต่ความนึกคิดของผู้เขียนยังไม่จบ ด้วยผู้เขียนมีความสงสัยว่าจิตที่ออกจากรูปกายของคนเราเมื่อตายไปแล้วเป็นวิญญาณนั้น ไปอยู่ที่ไหนกันแน่ ?

ดังรายของ พ.อ.(พิเศษ) เสนาะ จินตรัตน์ ซึ่งเพิ่งจะถึงแก่อนิจกรรมเมื่อไม่นานมานี้ คุณอัญชลี จินตรัตน์ ภรรยาของท่านได้บอกแก่ผู้เขียนในวันหนึ่งว่า

“หนูมีความรู้สึกว่าพี่เหนาะอยู่ใกล้ ๆ หนูนี่เอง ไม่ได้ไปไหน”

และมารดาของเธอก็ยังเป็นผู้เห็นผู้การฯเสนาะเข้ามาเยี่ยมภรรยาและลูกสาวของท่านถึงในมุ้ง ทั้งยืนยันได้ว่าไม่ใช่ความฝัน

หรืออย่างราย ท่านศาสตราจารย์ ดร.คลุ้ม วัชโรบล ก็เช่นกัน ถ้าวิญญาณของท่านไปอยู่บนสรวงสวรรค์ เหตุไฉนลูกชายของท่าน จึงสามารถเป็นร่างให้วิญญาณของท่านเข้ามาแฝงอยู่ได้ ในรายการพิสูจน์เกี่ยวกับวิญญาณทางวิทยาศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ?

ใครจะสามารถเรียกวิญญาณที่อยู่บนสวรรค์ชั้นสูงลงมายังโลกมนุษย์ได้ครั้งแล้วครั้งเล่า ?

“แล้วถ้าเช่นนั้น วิญญาณอยู่ที่ไหน ?”

คำถามข้อนี้ผู้เขียนไม่สามารถจะตอบให้ชัดเจนลงไปได้ นอกจากจะต้องใช้เวลาศึกษาอีกมาก เพราะดั่งราย หลวงปู่สีทัตถ์ ที่กลับมาเกิดในชาตินี้เป็นพระถวัลย์ อินทรกำแหง นั้น

หลวงปู่สีทัตถ์เป็นพระภิกษุที่เชี่ยวชาญทางอภิญญาเป็นอย่างยิ่ง สามารถบอกแก่เจ้าคุณอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส) ได้ล่วงหน้าว่า ท่านจะมาเกิดเป็นเด็กกำพร้า ขอให้ช่วยอปถัมภ์เลี้ยงดูด้วย !

ปัญหาอยู่ตรงที่ระหว่างวิญญาณหลวงปู่สีทัตถ์ยังไม่ได้เกิดนั้นอยู่ที่ไหน ? ลอยละล่องคอยการจุติหรือไปอยู่บนสวรรค์ชั้นไหน ?

ใครคิดออกช่วยกรุณาบอกแก่ผู้เขียนด้วยจะเป็นพระคุณเพราะปัญหาทางภูมิธรรมของผู้เขียนมีน้อยเกินกว่าจะคาดคะเนได้

และจะขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง ถ้าชี้หนทางให้ผู้เขียนได้พบกับท่านผู้มีภูมิธรรมอันสูง เพื่อจะได้เรียนถามท่านด้วยตัวผู้เขียนเอง จึงขอขอบพระคุณล่วงหน้ามา ณ ที่นี้

ประวัติพระทรงคุณ

ในโอกาสนี้ เมื่อได้พูดถึงพระถวัลย์ โชติธัมโม ซึ่งเป็นชาติปัจจุบันของ หลวงปู่สีทัตถ์ พระผู้มากบารมีในครั้งอดีต ก็ใคร่ขอนำประวัติในอดีตชาติของท่านซึ่งได้เคยสร้างคุณมหาศาลแก่วงการพระพุทธศาสนามาเสนอแก่ท่านสักเล็กน้อย

หลวงปู่สีทัตถ์ ท่านเป็นชาวท่าอุเทนโดยกำเนิด ท่านเกิดที่หมู่ที่ ๔ ตำบลท่าอุเทน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม เมื่อพ.ศ. ๒๔๐๘

โยมบิดาชื่อ นายมาก โยมมารดาชื่อ นางดา สุวรรณมาโจ

เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ท่านได้เข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดโพนแก้ว อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม

หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้ศึกษาพระปริยัติธรรมทางบาลีจากท่านพระอาจารย์ขันธ์ พระอาจารย์ผู้มีวิทยาคมสูงยิ่งแห่งวัดโพนแก้วนั่นเอง

เมื่อเห็นว่ามีความรู้ขั้นพื้นฐานดีแล้ว ท่านจึงได้ย้ายสำนักไปเรียนอยู่กับ พระอาจารย์ตาคำ แห่งวัดศรีสะเกษในตัวเมืองท่าอุเทนเช่นกัน

การเรียนในสำนักของพระอาจารย์ตาดำนั้น ท่านมุ่งเรียนในวิชามูลกัจจายน์และคัมภีร์ทั้ง ๕ จนมีความรู้แตกฉานในทางบาลีเป็นอย่างดี

ในสมัยนั้นการศึกษาทางฝ่ายปริยัติธรรม ยังไม่ได้แยกเป็นชั้นเช่นทุกวันนี้ คือนักธรรมชั้นตรี โท เอก และมหาเปรียญแต่อย่างใด เพียงแต่เรียนรวมกันทีเดียวเป็นปี ๆ เลย

ชีวิตที่ผันแปร

ในประวัติเมืองท่าอุเทนซึ่งเขียนโดย นายเมธี ดวงสงค์ ได้เขียนถึงประวัติของหลวงปู่สีทัตถ์พระอาจารย์ผู้สร้างพระธาตุท่าอุเทนเอาไว้ว่า

หลวงปู่สีทัตถ์ท่านบวชถึง ๓ ครั้ง และได้ลาสึกถึง ๒ ครั้ง ส่วนสาเหตุที่ทำให้ท่านต้องลาสิกขาบทออกไป แล้วเข้ามาบวชอีกว่า เป็นเพราะมีเรื่องทางโลกเข้ามารบกวนความสงบของท่านกล่าวคือ มีเหตุอันเป็นกระแสแห่งโลกทำให้ท่านต้องสึกไปแต่งงานซ้ำแล้วซ้ำอีก

ชาวบ้านที่เคารพนับถือท่านบางคนก็กล่าวว่า สาเหตุที่หลวงปู่สีทัตถ์ท่านลาสิกขาไปนั้น คงเนื่องมาจากมี พระบาง อยู่ในวัด

แต่มูลเหตุดังกล่าวนี้ก็เป็นความเข้าใจของคนบางคนเท่านั้นจะมีความจริงเท็จแค่ไหนเพียงไรก็ยากที่จะนำมาพิสูจน์กัน

สืบต่อกันมา

พระบาง
พระบางนี้ได้มีผู้เล่าสืบต่อกันมาว่า ได้มีการสร้างขึ้นในประเทศลาว โดยคณะกรรมการ ๒ ฝ่ายเป็นผู้ร่วมกันสร้างขึ้นคือ

ฝ่ายสงฆ์มี สมเด็จเหมมะวันนา เป็นประธาน

ส่วน ฝ่ายฆราวาส มี พญาแมงวัน (มีรูปแมลงวันติดอยู่ที่หน้าผาก) ผู้เป็นเจ้าเมืองเหิบ ประเทศลาวเป็นประธาน

ในครั้งนั้นได้หล่อพระที่มีขนาดเท่ากันขึ้น ๒ องค์ องค์หนึ่งเป็นพระขัดสมาธิ (ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่บ้านดอนติ้ว เมืองหินปูน ประเทศลาว)

องค์ที่สองนั้นเป็นพระยืนปางห้ามสมุทร คือพระบาง ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดไตรภูมิ ตำบลท่าอุเทน อำเภอท่าอุเทนจังหวัดนครพนม

อาถรรพณ์พระบาง

พระบาง วัดไตรภูมิ
หลังจากได้อัญเชิญพระบางจากประเทศลาวมาประดิษฐานที่วัดพระธาตุท่าอุเทนได้ไม่นาน ก็ต้องย้ายไปประดิษฐานยังวัดไตรภูมิ

ส่วนสาเหตุที่ต้องย้ายที่ประดิษฐานพระบางจากวัดพระธาตุท่าอุเทนไปประดิษฐานไว้ที่วัดไตรภูมินั้นก็สืบเนื่องมาจาก หลวงปู่สีทัตถ์ ท่านต้องลาสึกถึง ๒ ครั้งนั่นเอง

ทั้งนี้เพราะเป็นความเชื่อถือของชาวบ้านว่า พระบางเป็นพระที่ไม่ให้คุณ มีอาถรรพณ์ทำให้หลวงปู่สีทัตถ์ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ที่มีผู้เคารพนับถือมากในลุ่มแม่น้ำโขง ตลอดจนถึงฝั่งลาวต้องลาสึก ซึ่งเรื่องราวมีว่า

หลังจากหลวงปู่สีทัตถ์ท่านเข้ามาบวชเป็นครั้งที่สองนั้น ท่านมักจะออกแสวงหาความวิเวกตามสถานที่สงบต่าง ๆ อยู่เสมอ

และการอุปสมบทครั้งที่สองของท่านนั้น ท่านอุปสมบทหลังจากที่พระบางได้มาประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุท่าอุเทนแล้ว คือหลังปี พ.ศ. ๒๔๕๐

ส่วนสาเหตุที่ท่านต้องสึกอีกครั้งนั้น มีเรื่องเล่าว่า ท่านพร้อมกับลูกศิษย์องค์หนึ่งได้ถือธุดงคกรรมฐานไปที่ฝั่งลาว

วันหนึ่ง ขณะที่ท่านนั่งกรรมฐานอยู่นั้น ท่านได้ยินเสียงร้องรำของหญิงสาวชาวบ้านมีความไพเราะจับใจมาก ถึงขนาดตัดสินใจลาสิกขาบทในคืนวันนั้นทันที

หลวงปู่ท่านได้ลาสิกขาเปลื้องผ้ากาสาวพัสตร์แล้ว ไปสู่ขอหญิงสาวชาวบ้านผู้ที่ร้องรำคนนั้นกับบิตามารดาทันที ซึ่งบิดามารดาของหญิงสาวก็ไม่ขัดข้องเพราะมีความเคารพนับถือท่านมากอยู่แล้ว

การลาสิกขาบทของท่านสร้างความประหลาดแก่ผู้พบเห็นในเวลานั้นเป็นอย่างยิ่ง เพราะจู่ ๆ พระผู้ทรงศีลาจารวัตรอันงดงาม ต้องมาพ่ายแพ้กิเลสอันเป็นตัวมารอย่างง่าย ๆ เช่นนั้นจึงทำให้ชาวบ้านคิดไปว่าคงเป็นเพราะพระบางที่อยู่ในวัดมีอาถรรพณ์จึงบันดาลให้ท่านเป็นไป

ต่างลงความเห็นกันว่าไม่สมควรเอาไว้ จึงได้พากันย้ายพระบางออกจากวัดพระธาตุท่าอุเทน ไปอยู่วัดไตรภูมิตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

บุญบารมีสูง

พระธาตุท่าอุเทน
หลวงปู่สีทัตถ์ ท่านเป็นพระที่มีบุญญาบารมีสูงยิ่งจริง ๆ และท่านมีอภินิหารแก่กล้ามาก

ท่านสามารถก่อสร้างพระธาตุต่าง ๆ สำเร็จมาแล้วหลายแห่ง เช่น

๑. พระธาตุท่าอุเทน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม

๒. พระธาตุพระพุทธบาทบัวบก อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

๓. มณฑปโพนสัน ประเทศลาว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างพระธาตุท่าอุเทน นั้น หลวงปู่สีทัตถ์ท่านมีความสามารถสร้างเหมือนพระธาตุพนมสมัยก่อนได้ทั้ง ๆ ที่ฐานรองรับก็เพียงขุดหลุมแล้วใส่หินนางเรียง หรือหินแก้วนางฝาน เป็นฐานรองรับพระธาตุซึ่งยังไม่ทรุดแต่ประการใด และมีอายุยาวนานมากว่า ๗๐ ปีแล้ว

นับว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์มิใช่น้อยที่คนในสมัยนี้คงไม่มีบารมีก่อสร้างได้เช่นท่าน เพราะการนำเอาหินแก้วนางฝานมารองรับองค์พระธาตุได้นี้ นับว่าเป็นอภินิหารอันแก่กล้าของท่านเหนือโลกจริง ๆ

ข่าวลือ

ในระหว่างที่หลวงปู่สีทัตถ์ทำการก่อสร้างองค์พระธาตุท่าอุเทนนั้น (ในราว พ.ศ. ๒๔๕๖) ได้มีพระครูสมุห์วรคณิสรสิทธิการ ซึ่งทางฝ่ายคณะสงฆ์จากกรุงเทพฯ ได้แต่งตั้งให้เป็นผู้แทนหัวหน้าสงฆ์ มาตรวจการทางภาคอีสาน

ครั้นมาถึงจังหวัดหนองคายได้ข่าวว่า

หลวงปู่สีทัตถ์ เป็นผู้มีอิทธิพลมาก และแสดงปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ได้ เช่น ล่องหนหายตัว ย่อแผ่นเดินให้แคบเข้า และ ข้ามแม่น้ำโขงได้โดยไม่ต้องใช้เรือ มีผู้คนเลื่อมใสมากและได้ซ่องสุมผู้คนเพื่อจะกบฏต่อกรุงเทพฯ

พระคูรสมุห์วรฯ จึงคิดจะมาจับเอาตัวท่านหลวงปู่ลงไปกรุงเทพฯ

ความจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นข่าวลือที่เกิดขึ้น เพราะหลวงปู่ท่านเป็นคนสุภาพอ่อนโยน รักความสงบ และถ่อมตนอยู่เสมอเป็นผู้ตั้งอยู่ในสุจริตปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดต่อพระธรรมวินัย จึงทำให้มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสท่านมาก

หลวงปู่ท่านไม่ได้แสดงปาฏิหาริย์ ท่านตั้งใจสร้างพระธาตุเจดีย์โดยบริสุทธิ์ใจ แต่ก็มีผู้ไม่หวังดีใส่ร้ายท่าน ซึ่งเรียกว่าเป็นตัวมารโดยแท้

พระครูสมุห์วรฯ เมื่อโดยสารเรือล่องลงมาจากจังหวัดหนองคายมาถึงท่าอุเทนแล้ว ก็จอดหรือตรงท่าวัดกลาง ซึ่งขณะนั้นมีหาดทรายติดกับตลิ่งฝั่งท่าอุเทนยื่นไกลออกไปสู่กลางแม่น้ำโขงประมาณ ๑๐ เส้น

และเมื่อพระครูสมุห์วรฯ มาถึงก็มีข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนออกมาให้การต้อนรับพอสมควร

ท่านได้ขึ้นไปวัดอรัญญวาสี เพื่อจะจับเอาหลวงปู่สีทัตถ์ แต่ก็ไปไม่ถึงวัด ไปถึงแค่หน้าที่ว่าการอำเภอก็แวะเข้าไปพักอยู่ที่นั่น

เมื่อมีผู้ไปถามท่านว่า “ทำไมไม่ไปให้ถึงวัด”

ท่านก็ตอบว่า “กลัวพระสีทัตถ์จะสั่งให้ลูกน้องทำอันตราย”

ไม่มาดอก

พระคูรองค์นั้นได้โทรเลขให้ พระพนมนราฯรักษ์ (อุ้ย นาครทรรพ) ผู้ว่าฯ นครพนมในสมัยนั้น ให้ขึ้นมาจับเอาตัวหลวงปู่สีทัตถ์เอง แต่กลับได้รับคำตอบกลับไปว่า

“ท่านอาจารย์สีทัตถ์มิได้คิดกบฏซ่องสุมผู้คนอะไรเลย หากแต่ท่านสร้างพระธาตุเจดีย์และมีผู้คนมาจากอำเภอและจังหวัดต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เดียงเดินทางมาช่วยท่าน โดยหวังผลในส่วนกุศลเท่านั้น มิได้คิดเป็นอย่างอื่นดังที่พระคุณเจ้าเข้าใจ

และตัวท่านพระอาจารย์สีทัตถ์เองก็อยู่ในศีลธรรมอันดี รักความสงบไม่มีจิตคิดอิจฉาและชิงดีคนอื่น”

เมื่อพระครูสมุห์วรฯ ทราบความจริงเช่นนั้น จึงเดินทางต่อไปยังเมืองนครพนม เหตุการณ์ก็เป็นอันสงบไป

ส่วนทางฝ่ายวัดอรัญญวาสี เมื่อทราบข่าวว่ามีพระภิกษุมาจากกรุงเทพฯ จะมาจับเอาตัวหลวงปู่ซึ่งท่านก็ไม่ได้สะทกสะท้านแต่อย่างใด ท่านยังสั่งให้พระลูกศิษย์เตรียมปูอาสนะให้ด้วย และท่านก็ยังคงทำงานก่อสร้างพระธาตุของท่านไปเรื่อย ๆ

ต่อมาได้มี พระอาจารย์ปาน ซึ่งมาจากบ้านใหม่ ดอนสังคี อำเภอโพนพิสัย กับ พระอาจารย์ยอดแก้ว และ พระอาจารย์ปิ่น ได้มาขอสู้แทนหลวงปู่ซึ่งท่านก็กล่าวว่า

“พระคูรสมุห์ฯ ไม่มาดอก อย่าวุ่นวายไปเลย” และก็ไม่มาจริง ๆ

หมดไหแล้ว

เรื่องอภินิหารที่เกิดจากบุญญาบารมีของผู้สร้าง คือหลวงปู่สีทัตถ์นี้ได้มีผู้กล่าวกันว่า ได้แสดงอภินิหารด้วยการเรียกปลาร้ามาเลี้ยงคนงานที่มาก่อสร้างองค์พระธาตุอย่างอัศจรรย์ยิ่ง

ซึ่งเรื่องมีอยู่ว่า ในการสร้างพระธาตุท่าอุเทนนั้น อาหารหลักที่จะนำมาเลี้ยงคนทั่วไปก็คือ ปลาแดก (ปลาร้า) กับผักสด และปลาแห้ง

หลวงปู่สีทัตถ์ท่านได้ตั้งโรงครัวเพื่อให้คนงานที่ออกแรงปั้นอิฐ (ดินจี่) เผาอิฐ ได้รับประทานกัน ซึ่งมีจำนวนเป็นร้อย ๆ (รวมทั้งพระภิกษุสามเณรด้วย)

เย็นวันหนึ่ง หลวงปู่ได้เดินตรวจดูความเรียบร้อยของงานที่ผ่านไปวันหนึ่ง ๆ และท่านได้มายืนคุยกับญาติโยมที่กำลังพากันรับประทานอาหารเย็นอยู่ พวกแม่ครัวจึงพากันนมัสการท่านว่า

“วันนี้ปลาร้าหมดไหแล้วพรุ่งนี้จะไม่มีปลาร้าประกอบอาหารอีก”

หลวงปู่ท่านได้ยินแล้วก็ไม่ตอบอะไรได้แต่ยิ้ม ๆ และหัวเราะหึ ๆ ในลำคอเท่านั้น และท่านได้เดินมาดูไหปลาร้าที่ว่างเปล่ากว่า ๑๐ ไห แต่ท่านก็ไม่ได้แสดงอาการวิตกกังวล หรือมีคำสั่งในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด ทำให้พวกแม่ครัวพากันห่วงยิ่งขึ้นและคิดไปว่า

“เอ… หลวงปู่เรานี่ จะเอาอย่างไรนะ ปลาร้าหมดไห บอกให้รู้ก็ทำเป็นเฉย ๆ อยู่ จะเอาอย่างไรก็ดี จะให้ทำอย่างไรก็ไม่บอก”

ก่อนที่หลวงปู่ท่านจะเดินจากไป ท่านก็พูดเปรย ๆ ขึ้นว่า

“กินข้าวกินปลากันไปเถอะแล้วจะมีคนเอามาให้”

คำพูดของหลวงปู่ครั้งนั้นทำให้พวกแม่ครัวพากันฉงนอยู่มิใช่น้อย จากนั้นต่างก็ช่วยกันเก็บล้างถ้วยชามทำความสะอาด แล้วปิดประตูโรงครัวเพื่อกันไม่ให้สุนัขหรือแมวเข้าไปรบกวนแล้วก็พากันเข้าไปนอน

เหตุอัศจรรย์

หลวงปู่ตา ผู้เป็นกำลังสำคัญ
ที่ช่วยสร้างพระธาตุท่าอุเทน
พอวันรุ่งขึ้นพวกแม่ครัวก็พากันมาติดไฟนึ่งข้าวเหนียวเพื่อเตรียมไว้ให้พวกที่สร้างพระธาตุได้กินกันก่อนทำงาน

ปรากฏการณ์อันแปลกประหลาดก็เกิดขึ้นแก่แม่ครัวได้อัศจรรย์กันไปตาม ๆ กัน เพราะบรรดาไหปลาร้าที่ว่างเปล่าเมื่อเย็นวานนี้ กลับมีปลาร้าเต็มไหหมด

สร้างความฉงนสนเท่ห์แก่ทุกคนที่พบเห็นเป็นอย่างมาก จึงได้บอกต่อ ๆ กันไปให้มาดูความแปลกมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้น เมื่อทุกคนมาเห็นเข้ากับตาต่างก็พากันงึด (อัศจรรย์) เป็นที่สุด

พอสว่างได้เวลาที่พระจะออกบิณฑบาต ต่างก็พากันไปกราบนมัสการให้หลวงปู่ทราบว่า ที่พวกเขาตกใจว่ากลัวจะไม่มีปลาร้ากินในวันนั้นปลาร้าได้มีอยู่เต็มไปหมดทุกไหแล้ว และต่างก็สอบถามหลวงปู่ว่าปลาร้ามีมาได้อย่างไร ใครเป็นผู้ให้มา ทำไมจึงมีมาได้

หลวงปู่ท่านไม่ตอบเช่นเคย ท่านหยิบเอาบาตรได้แล้วก็จะออกไปบิณฑบาตตามที่เคยปฏิบัติมา เพียงแต่วางหน้าเฉย ๆ และท่านได้เปรยขึ้นว่า

“เออ…มีก็ดีเล้ว จะได้กินกันอีก ทำงานกันต่อไปเถอะ”

ข้ามมายังไง

ในประวัติของเมืองท่าอุเทนได้มีผู้บันทึกถึงเรื่องหลวงปู่ว่าหลวงปู่ท่านข้ามโขง (แม่น้ำโขง) โดยไม่ต้องใช้เรือ

เหตุนี้เกิดขึ้นที่อำเภอบ้านแพง ซึ่งสมัยนั้นเป็นเพียงตำบลหนึ่งเท่านั้น

จากปากคำของคนที่เชื่อถือได้ กล่าวกันว่าผู้เปิดเผยเรื่องอภินิหารของหลวงปู่ คือ อดีตครูใหญ่ตำบลหนึ่ง ซึ่งนายอำเภอแต่งตั้งให้ไปเป็นครูผู้ใหญ่ในตำบลที่มีผีปอบมาก ๆ เพื่อให้ไปปราบผีและได้ผลเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง

บรรดาผีที่เข้าสิงคนอยู่นั้น ถ้าได้เห็นครูคนนี้ขึ้นไปบนบ้านเท่านั้น ก็ร้องเสียงหลงทันที “ออกแล้ว ยอมแล้ว”

ในปัจจุบันท่านผู้นี้อายุ ๘๓ ปี คือ อาจารย์ทอน กิตติศรีวรพันธุ์ แห่งบ้านเนินคนึง อำเภอบ้านแพง ในปัจจุบัน

อาจารย์ทอนได้เล่าให้ผู้ใกล้ชิดฟังว่า ในสมัยนั้นเขาได้พบกับสามเณรตัวเล็ก ๆ องค์หนึ่งซึ่งเป็นผู้ติดตาม หลวงปู่สีทัตถ์ ท่านออกเดินธุดงค์เพื่อแสวงหาสัจธรรมตามป่าเขาลำเนาไพรในระยะใกล้ ๆ

เณรน้อยองค์นั้นก็ติดตามไปเพื่อปรนนิบัติท่าน เพื่อเป็นการเริ่มฝึกหัดการเจริญวิปัสสนากรรมฐานกับท่าน

สามเณรองค์นี้ได้ถึงแก่มรณภาพไปแล้ว ก่อนที่จะมรณภาพ ก็ได้เล่าเรื่องหลวงปู่ให้ฟังว่า

“วันหนึ่งหลังจากฉันอาหารเช้าแล้ว หลวงปู่จะพาข้ามไปฝั่งลาวเพื่อไปแสวงหาพระอาจารย์ดังทางฝั่งโน้น

หลวงปู่ท่านได้พาเดินเลาะท่าเรือที่จะข้ามไปแต่ก็ไม่มีสักลำ ท่านพาเดินจนเหนื่อยจึงได้พบเรือแต่ไม่มีคนพายข้ามไป เณรน้อยจึงบอกกับหลวงปู่ว่า

“ขอพักก่อนเถอะ เพราะเดินเหนื่อยแล้ว ผมเบื่อและเมื่อยเต็มที”

หลวงปู่ท่านกล่าวกับเณรน้อยว่า “เฉย ๆ ไว้ ต้องไปให้ได้หลวงปู่จะพาไปเอง”

จากนั้นท่านก็สั่งให้กลับหลังหัน แล้วให้ยืนนิ่ง ๆ พร้อมกับให้หลับตาให้สนิทจริง ๆ

ขณะที่สั่งหลวงปู่ท่านอยู่ด้านหลัง และอยู่ห่างกันประมาณวาเศษ ๆ พอหลวงปู่ท่านสั่งแล้วเณรน้อยก็หลับตาตามที่ท่านสั่ง

เณรก็คิดอยู่ในใจว่าหลวงปู่ท่านจะพาเราไปอย่างไรกันหนอพร้อมกับระลึกและจดจ่ออยู่ว่าเมื่อไรหลวงปู่ท่านจะให้ลืมตาสักที

เมื่อหลับตาแล้วก็มืดมิดมองไม่เห็นอะไร

ทันใดนั้นเองหลวงปู่ก็พูดเป็นเสียงธรรมดาว่า

“เอ้าถึงแล้ว ลืมตาได้”

สามเณรน้อยลืมตาขึ้น และได้เห็นตัวเองกับหลวงปู่มายืนอยู่ที่ฝั่งประเทศลาวเสียแล้ว เมื่อมองดูที่ริมน้ำก็ไม่เห็นมีเรือเลย ปาฏิหาริย์แท้ ๆ ด้วย ความแปลกประหลาดและพิศวง ทำให้เณรน้อยผู้คอยอุปัฏฐากท่านอดรนทนไม่ไหว ใคร่อยากจะรู้ว่า หลวงปู่ท่านทำอย่างไรนะ ถึงได้ข้ามแม่น้ำโขงมาได้ จึงได้เอ่ยถามขึ้นว่า

“หลวงปู่ครับ เราข้ามมาได้อย่างไร ใครดลบันดาลให้”

แทนที่หลวงปู่ท่านจะตอบถึงสาเหตุที่สามารถข้ามแม่น้ำโขงมาได้ ท่านกลับตอบเป็นเชิงดุ ๆ ว่า

“ไม่ใช่เรื่อง เอาล่ะ ไปกันได้แล้ว”

ทำให้เณรน้อยยิ่งงงใหญ่ พลางก็เดินตามหลังหลวงปู่ท่านไป

เร้นกาย-หายตัว

จากปากคำบอกเล่าในบันทึกของอดีตนายอำเภอซึ่งได้รับคำไขขานบอกเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่ของเมืองท่าอุเทนเล่าให้ฟังว่า

หลวงปู่ท่านหายตัวได้และย่อแผ่นดินจากกว้างให้แคบได้

เช่นเมืองท่าอุเทนอยู่ฝั่งไทย เมืองปากหินปูนอยู่ฝั่งลาว โดยมีแม่น้ำโขงกั้นกลางอยู่ แต่หลวงปู่ท่านก็มีความสามารถเดินข้ามได้อย่างสบาย

มีเรื่องเล่าว่าในสมัยนั้นฝั่งลาวกับฝั่งไทยมีความรักใคร่กันดี เมื่อมีงานบุญก็จะบอกกล่าวถึงกันเป็นประจำ แม้จะมีแม่น้ำโขงขวางกั้นอยู่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด

พระเณรจะถูกนิมนต์ให้ไปร่วมทำบุญและไปกันเป็นคณะ ซึ่งหลวงปู่ท่านก็กำลังมีชื่อเสียงโด่งดัง ท่านก็ถูกนิมนต์ไปด้วยเสมอ เพราะชาวฝั่งเมืองหินปูนต้องการชมบารมี และจะได้เห็นหน้าเห็นตาท่านชัด ๆ สักที

เมื่อญาติโยมได้นิมนต์พระสงฆ์องค์เณรเรียบร้อยแล้วก็ได้พากันไปนิมนต์หลวงปู่สีทัตถ์ ซึ่งขณะนั้นท่านกำลังสั่งและควบคุมพวกช่างสร้างพระธาตุท่าอุเทนอยู่โดยขอนิมนต์ให้ท่านไปพร้อม ๆ กันหลาย ๆ รูปและหลายลำเรือและกล่าวกับท่านว่า

“ชาวเมืองปากหินปูนกำลังรออยู่ ขอให้หลวงปู่ลงเรือไปด้วยกันให้จงได้ เพราะที่เรือได้เตรียมปูเสื่อน้อยให้สำหรับหลวงปู่อยู่แล้ว เพื่อจะได้ไปทันเจริญพระพุทธมนต์ก่อนเพลในโบสถ์ วัดปากหินปูน

เสร็จแล้วก็จะได้ให้หลวงปู่ร่วมฉันเพลกับพระรูปอื่น ๆ ด้วย”

หลวงปู่ท่านกล่าวกับญาติโยมว่า

“ไปก่อนเถอะ จะสั่งเสียมอบหมายการงานให้ช่างสร้างพระธาตุท่าอุเทนเรียบร้อยแล้ว จะรีบตามไปให้ทันทีหลัง

พวกญาติโยมก็พากันคะยั้นคะยออยู่หลายครั้ง หลวงปู่จึงหันหน้ามาบอกว่า

“ไปเถอะ ไปก่อนเถอะ จะตามไปให้ทันทีหลัง ไม่ต้องห่วง”

จากนั้นญาติโยมก็พากันลงเรือข้ามไปปากหินปูน พอไปถึงฝั่งปากหินไน ที่วัดกำลังมีงานผู้คนก็มาก ญาติโยมได้พาพระเณรจากฝั่งไทยเข้าโบสถ์

แต่เมื่อทุกคนมองเข้าไปในโบสถ์ ก็เกิดความสงสัยเป็นอย่างยิ่งเพราะพระเณรของเมืองปากหินปูน ต่างก็นั่งห้อมล้อมหลวงปู่สีทัตถ์อยู่อย่างเนืองแน่น สร้างความประหลาดใจไปตาม ๆ กัน

เพราะเรือที่ตามมาติด ๆ กันมิได้เห็นมีสักลำ จะเข้าไปถามดูว่าท่านมาได้อย่างไรก็ไม่มีโอกาส เพราะมีพระอยู่มาก และกำลังประกอบกิจทางศาสนาอยู่

เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ตอนบ่าย ๆ ญาติโยมก็พากันเดินทางกลับมายังเมืองท่าอุเทน ซึ่งหลวงปู่ท่านก็กลับมาด้วย

พอมาถึงวัด ญาติโยมที่ฉงนสนเท่ห์เป็นอย่างมาก เพื่อให้หายสงสัยจึงไปกราบนมัสการถามหลวงปู่ว่า

“หลวงปู่ไปถึงวัคปากหินปูนก่อนได้อย่างไร”

ซึ่งหลวงปู่ท่านก็ตอบไปโดยเลี่ยง ๆ ว่า“ก็ตามกันไปนั่นแหละ ไม่เห็นหรือ ?”

จากนั้นหลวงปู่ท่านก็พูดคุยไปในเรื่องอื่น ๆ อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสร้างพระธาตุว่า

“งานของเรายังมีอีกมาก ช่วยกันเข้าจะได้เสร็จ ๆ ไป”

มรณกาล

ต่อมาภายหลังเมื่อเสร็จจากการก่อสร้างพระธาตุบัวบกแล้ว ท่านก็ข้ามฝั่งโขงไปถึงธุดงคกรรมฐานอยู่ในป่าประเทศลาว

หลังจากนั้นก็ได้มาสร้างมณฑปครอบรอยพระพุทธบาท (จำลอง) ที่บ้านโพนสัน ซึ่งการก่อสร้างก็สำเร็จไปด้วยดี

หลวงปู่ท่านได้อยู่ที่วัดบ้านโพนสันอีก ๖ ปี ก็มรณภาพ ณ ที่วัดแห่งนั้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๓สิริอายุได้ ๗๕ ปีพอดี

ก่อนมรณภาพ หลวงปู่ท่านสั่งเอาไว้ว่า

“เมื่อเผาศพเสร็จแล้วให้เอากระดูกของท่านไปทิ้งลงในแม่น้ำโขงให้หมด ”

ตังนั้น หลังจากเสร็จสิ้นพิธีศพของท่านแล้ว บรรดาศิษย์ทั้งหลายจึงนำอัฐิของท่านทิ้งลงในแม่น้ำโขงจนหมดสิ้น

ในชีวิตของหลวงปู่สีทัตถ์พระผู้ใฝ่ในธรรมแห่งเมืองท่าอุเทน ท่านได้ออกเดินธุดงค์จงกรมไปหาความจริงถึงประเทศพม่า ลาว และทั่วภาคเหนือ-อีสาน ซึ่งมีสภาพเป็นป่าเขาลำเนาไพร อันเป็นสถานที่ยินดี เหมาะที่จะบำเพ็ญพลังจิต โดยมิได้ย่อท้อต่อภูมิประเทศและดินฟ้าอากาศแต่อย่างใด

จิตใจของท่านจึงมั่นคง ไม่หวั่นไหว มุ่งแต่จะแสวงหาความจริงอันเป็นความจริง ดังคำสอนของพระพุทธรูปองค์ ท่านจึงเป็นพระอริยสงฆ์ที่ควรค่าแก่การยกย่องเป็นอย่างยิ่งองค์หนึ่ง

แชร์เลย

Comments

comments

Share: