ผู้มีอริยทรัพย์ย่อมเป็นผู้ไม่ยากจน 3

เจริญพร ญาติโยมสาธุชนทุกท่าน

วันนี้อาตมภาพได้มาพบกับท่านผู้ฟังอีกเช่นเคย  ในรายการปาฐกถาธรรม  เรื่อง ผู้มีอริยทรัพย์ย่อมเป็นผู้ไม่ยากจน  ต่อจากที่อาตมาได้กล่าวถึงอริยทรัพย์ คือทรัพย์อันประเสริฐ อันเป็นคุณธรรมภายใน ไปใน 2 ตอนที่แล้ว รวม 5 ข้อ คือ ความเป็นผู้มี ศรัทธา ในข้อปฏิบัติและในบุคคลที่ควรศรัทธา 1 ความเป็นผู้มีศีล1  ความเป็นผู้มีหิริและโอตัปปะ คือ ความเป็นผู้มีความละอายและเกรงกลัวต่อการกระทำความชั่วหรือบาปอกุศลอีก 2 ข้อ ความเป็นผู้ได้เคยเรียนรู้และมีประสบการณ์มามาก ชื่อว่า สุตะ อีก 1

ต่อไปนี้อาตมภาพจะได้กล่าวถึงอริยทรัพย์ คือ ทรัพย์อันประเสริฐ  อันเป็นคุณธรรมภายใน ที่จะนำชีวิตให้ถึงความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข ไม่เป็นผู้ยากจน  อีก 2 ข้อ คือ จาคะ 1 และปัญญา อีก 1

คำว่า “จาคะ” หมายถึง ความเสียสละประโยชน์สุขส่วนตน เพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น และ/หรือ เพื่อช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์    การเสียสละความสุขส่วนตน ณ ที่นี้ หมายเอา การเสียสละโลกิยสุข นับตั้งแต่ การเสียสละเวลา การเสียสละกำลังกาย สติปัญญา วิชาการความรู้ ความสามารถ รวมทั้ง ทาน คือ การให้ อันเป็นการเสียสละทรัพย์สิ่งของที่จะอำนวยความสุขแก่ตน ชื่อว่า อามิสทาน   และการให้ธรรม ได้แก่ การแนะนำสั่งสอนข้อปฏิบัติที่ดี ที่จะเป็นประทีปส่องทางดำเนินชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข ชื่อว่า “ธรรมทาน” แก่ผู้อื่น   และทั้งการสละอุปธิ คือ กิเลส ตัณหา อุปาทาน ออกจากจิตสันดานของตน อีกด้วย หรือแม้แต่ที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เกี่ยวกับปัญหาทางการเมือง การเศรษฐกิจ ทางสังคมประเทศชาติ และมีเสียงเรียกร้องให้ “เสียสละเพื่อชาติ” คือ การเสียสละโลกิยสุขส่วนตน ได้แก่ การเสียสละวิชาการ ความรู้ สติปัญญา ความสามารถ และแม้การสละลาภ ยศ สักการะหรือการสละตำแหน่งและ/หรืออำนาจอันให้เกิดโลกิยสุขที่ตนกำลังเสวยอยู่เพื่อประชาชนส่วนรวม และเพื่อประเทศชาติ ก็สงเคราะห์เข้าในคุณธรรมข้อ อริยทรัพย์ คือ “จาคะ” นี้ด้วยเหมือนกัน  ดังที่มีข่าวในทุกวันนี้ว่าประชาชนโดยส่วนรวมและประเทศชาติกำลังเรียกร้องต้องการ บุคคลผู้ทรงคุณธรรมข้อจาคะ คือ ความเสียสละเพื่อชาติ นี้ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาทั้งทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และทางสังคมประเทศชาติ เป็นอย่างมากและอย่างเร่งด่วน อีกด้วย

ผู้ทรงคุณธรรมข้อ “จาคะ” คือ ผู้รู้จักเสียสละความสุขส่วนตนเพื่อผู้อื่น เช่นนี้ นับว่าเป็นผู้มีทรัพย์อันประเสริฐ เป็นคุณธรรมภายใน ที่เจริญแก่กล้าขึ้นเป็นบุญ เป็นบารมี ได้แก่ ทานบารมี ทานอุปบารมี ทานปรมัตถบารมี คอยติดตามให้ผลเป็นความเจริญรุ่งเรือง และสันติสุขต่อๆ ไป ทุกภพทุกชาติ จนถึงมรรคผลนิพพาน ที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวง และที่เป็นบรมสุข จึงเป็นผู้ไม่ยากจน และควรที่บัณฑิตผู้มีปัญญาจะพึงบำเพ็ญมากๆ แม้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานี้ เมื่อก่อนที่จะได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าในรุ่งอรุณของคืนวันเพ็ญเดือนวิสาขะ เมื่อ 2585 ปีที่ผ่านมานี้ ก็ได้บำเพ็ญพุทธการกธรรม คือ การบำเพ็ญบุญบารมี อันเป็นคุณความดีอย่างยิ่งยวด โดยเริ่มที่ทานบารมี คือการเสียสละ การบริจาคนี้ก่อน เพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญแก่การเจริญบารมีอื่นๆ ให้สำเร็จ

จึงมีคำกล่าวว่า “คนที่จะเป็นใหญ่ได้ จะต้องเป็นนักเสียสละ คือจะต้องเป็นผู้มีจิตใจกว้างขวาง โอบอ้อมอารี เผื่อแผ่ เสียสละประโยชน์สุขส่วนตน เพื่อผู้อื่น ส่วนผู้มีจิตใจคับแคบ เห็นแก่ตัว ตระหนี่เหนี่ยวแน่น ไม่กล้าเสียสละประโยชน์สุขส่วนตนเพื่อผู้อื่น ยากที่จะเป็นใหญ่ได้ หรือถึงจะเป็นใหญ่ได้ ก็เป็นได้ไม่นาน

หลักของจาคะ คือการเสียสละนี้ จึงมีว่า

  1. เป็นการเสียสละประโยชน์สุขส่วนตนหรือส่วนพวกพ้องหมู่คณะของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นหรือ แก่ประชาชนหมู่ใหญ่ หรือแก่ประเทศชาติโดยส่วนรวม เพื่อให้ผู้อื่นหรือประชาชนโดยส่วนรวมได้อยู่ดีมีสุข และ/หรือ ได้พ้นทุกข์
  2. การเสียสละประโยชน์สุขนั้น หมายรวมความถึงการเสียสละกำลังกาย สติปัญญา วิชาการ ความรู้ความสามารถ กำลังทรัพย์สิ่งของ และธรรมะ คือคำแนะนำสั่งสอน การปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเพื่อถึงซึ่งความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขแห่งชีวิต และรวมถึงการเสียสละด้วยการบำเพ็ญคุณความดีอย่างยิ่งยวด เป็นบารมีธรรมอย่างสูง นับตั้งแต่การเสียสละลาภ ยศ สักการะ ข้าทาสบริวาร อันให้โลกิยสุขสำหรับตนและแม้บุตรภรรยาผู้เป็นที่รักดั่งดวงใจ และการสละชีวิตเลือดเนื้อของตนเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น หรือเพื่อประชาชนโดยส่วนรวม และประเทศชาติ และเพื่อช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ก็ทำได้
  3. จาคะ คือ การเสียสละ พึงเป็นไปเพื่อบรรเทา เพื่อการละ การสละคืน “อุปธิ” คือเพื่อการละกิเลส ตัณหา อุปาทาน อันเป็นเหตุแห่งความทุกข์ เพื่อเป็นบุญกุศลหรือคุณความดีอันยังใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส กล่าวคือ พึงเป็นการเสียสละโดยมิได้มุ่งหวังผลประโยชน์ตอบแทน เช่น มิใช่กระทำเพื่อความเด่นดัง หรือเพื่อลาภ ยศ สักการะ จึงจะเกิดประโยชน์สันติสุข แก่ตนเองและผู้อื่นอย่างสมบูรณ์

จาคะ คือความเสียสละเช่นนี้ เมื่อได้บำเพ็ญเป็นคุณความดีอย่างยิ่งยวด แก่กล้ามากขึ้น ชื่อว่า บารมี ได้แก่ ทานบารมี 1 ในบารมี 10 ทัศ ที่เมื่อเจริญแก่กล้าเป็นทานอุปบารมี ถึงทานปรมัตถบารมีแล้ว ก็จะเป็นพลวปัจจัยให้ปฏิบัติธรรมถึงมรรคผลนิพพานที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวงและที่เป็นบรมสุขได้

การเสียสละ การบริจาค การให้หรือการแบ่งปันทรัพย์สิ่งของ ได้แก่ ปัจจัย 4 และเครื่องอำนวยความสะดวกในการดำรงชีพ เป็นต้น แก่ผู้อื่น ชื่อว่า อามิสทาน การให้ธรรมเป็นทาน คือ การให้คำแนะนำสั่งสอนแก่ผู้อื่นให้รู้แนวทางความประพฤติปฏิบัติตน ให้เป็นไปแต่ในทางที่ดีที่ชอบ อันจะนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขแห่งชีวิต ไม่ไปในทางที่ชั่ว อันจะนำไปสู่ความเสื่อม เป็นโทษเป็นความทุกข์เดือดร้อน นี้ชื่อว่า “ธรรมทาน”   การตั้งตน การปฏิบัติตนอยู่แต่ในคุณความดี อยู่ในศีลในธรรม เป็นเยี่ยงอย่างที่ดีแก่ผู้อื่นให้ประพฤติปฏิบัติตาม ก็ชื่อว่าธรรมทานเหมือนกัน การรู้จักให้อภัยแก่กัน ไม่ถือโทษโกรธเคืองกัน ไม่คิดและไม่กระทำการทำลายล้างผลาญชีวิตกัน ชื่อว่า “อภัยทาน” ก็สงเคราะห์เข้าในธรรมทานนี้เหมือนกัน ดังที่พระสิริมังคลาจารย์ ผู้แต่งคัมภีร์ปกรณ์พิเศษ “มังคลัตถทีปนี” ได้อธิบายไว้ ปรากฏในหนังสือนี้ ฉบับแปลเป็นภาษาไทย จัดพิมพ์โดยมหามกุฏราชวิทยาลัย ครั้งที่ 11/2533 หน้า 47 ว่า

“แม้อภัยทาน ก็พึงเห็นว่า พระผู้มีพระภาคทรงสงเคราะห์ ด้วยธรรมทาน ในทานทั้ง 2 นี้เหมือนกัน”

ที่พระสิริมังคลาจารย์ได้กล่าวถึงธรรมทานทั้ง 2     ท่านผู้ฟังพึงทราบว่า  ท่านหมายถึง ธรรมทานที่เป็นโลกุตตระ คือ คำสั่งสอนให้ผู้ฟังและปฏิบัติตามสามารถพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด กล่าวคือ ถึงความสิ้นทุกข์ได้ นี้ประการ 1 กับ ธรรมทานที่เป็นโลกิยะ คือคำสั่งสอนให้ผู้ฟังแล้วปฏิบัติตาม ได้รับผลเป็นความสุขความเจริญทั้งในภพชาตินี้และภพชาติต่อๆ ไป นี้อีกประการ 1

ระหว่าง ธรรมทาน คือ การให้ธรรมเป็นทาน กับ อามิสทาน คือการให้วัตถุสิ่งของ มีปัจจัย 4 และสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตเป็นต้น นั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงสรรเสริญธรรมทาน คือการให้ธรรมเป็นทานว่าเป็นเลิศ ดังพระพุทธดำรัสปรากฏในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ตติยปัณณาสก์ ข้อ 386 แปลความว่า

“ภิกษุทั้งหลาย   ทาน 2 อย่างนี้   2 อย่างเป็นไฉน ?   คือ  อามิสทาน 1  ธรรมทาน 1     ภิกษุทั้งหลาย   ทาน 2 อย่างนี้แล.    ภิกษุทั้งหลาย  บรรดาทาน 2 อย่างนี้  ธรรมทานเป็นเลิศ ”

ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า ธรรมทานเป็นเลิศ คือ ประเสริฐกว่าอามิสทาน นั้น ก็เพราะ  ธรรมทานให้ผลระยะยาวแก่ผู้รับฟังและรับปฏิบัติตาม ให้ได้รับผลเป็นความเจริญและสันติสุขในชีวิต ทั้งในภพชาติปัจจุบันและในภพชาติหน้า ต่อๆ ไป จนถึงมรรคผลนิพพาน ที่สิ้นสุดแห่งทุกข์และที่เป็นบรมสุข แต่อามิสทาน ให้ผลแก่ปฏิคคาหก คือผู้รับ เป็นความบรรเทาทุกข์และ/หรือเป็นความสุขแต่เพียงระยะสั้น ที่ได้บริโภคใช้สอยทรัพย์สิ่งของนั้น ภายในภพชาติปัจจุบันนี้เท่านั้น    ถ้าว่าผู้รับยังเป็นผู้หลงงมงายไม่รู้บาป-บุญ คุณ-โทษ ยังไม่มีปัญญาส่องสว่างเห็นทางเจริญทางเสื่อมแห่งชีวิตตามที่เป็นจริง เขาก็ยังคงประกอบเหตุปัจจัยที่เป็นบาปอกุศล หรือความชั่วอันให้ผลที่เป็นโทษ เป็นความทุกข์เดือดร้อน และทั้งไม่รู้จักประกอบเหตุปัจจัยที่เป็นบุญกุศล หรือคุณความดีให้เกิดความเจริญและสันติสุขแม้แก่ตัวเขาเอง อย่างแท้จริงได้    ชีวิตของพวกเขาเหล่านั้น ก็จะยังคงวนเวียนอยู่ในไตรวัฏฏะ คือความมีกิเลส แล้วก็ประกอบอกุศลกรรม ด้วยอำนาจของกิเลสที่ครอบคลุมจิตใจอยู่ และได้รับผลจากอกุศลกรรม เป็นความทุกข์เดือดร้อน และต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารจักรอันเป็นทุกข์ อยู่อย่างนี้หรือยิ่งกว่านี้ ต่อๆ ไป ไม่มีที่สิ้นสุด

ธรรมทาน นั้นแหละที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเขาให้ดีขึ้นอย่างถาวรได้   เพราะการที่สัตว์โลกทั้งหลายจะอยู่ดีมีสันติสุขหรือจะประสบความทุกข์เดือดร้อนย่อมเป็นผลแต่กรรมดี หรือกรรมชั่วที่ตนได้กระทำมาแล้วทั้งนั้น   หรืออีกนัยหนึ่ง กรรมดีหรือกรรมชั่ว นั้นแหละ คือเหตุปัจจัยให้เกิดความสันติสุขหรือความทุกข์ ด้วยเหตุนี้ การให้ธรรมเป็นทาน อันเป็นการชี้ทางสว่างในการทำกรรมที่ดีงาม เป็นการให้สร้างเหตุปัจจัยแห่งความสันติสุขในชีวิต มิให้ทำกรรมชั่วที่จะเป็นการสร้างเหตุแห่งความทุกข์เดือดร้อน แก่เวไนยสัตว์ คือ แก่สัตว์ หรือชนผู้ควรแก่การแนะนำสั่งสอนได้ จึงมีคุณค่าสูงกว่าอามิสทาน อันเป็นการให้ทรัพย์สิ่งของเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขเพียงชั่วคราว ที่เป็นการช่วยแก้ปัญหาความทุกข์เดือดร้อนของผู้อื่นที่ปลายเหตุ คือ ที่ผลของบาปอกุศลที่เขาได้เคยกระทำไว้แล้วแต่อดีตเท่านั้น

ธรรมทานจึงเป็นเลิศ คือ ประเสริฐ กล่าวคือ มีคุณค่าสูงสุด ยิ่งกว่าอามิสทาน ด้วยประการฉะนี้ และเพราะเหตุนั้น บัณฑิต คือ ผู้รู้ ผู้มีปัญญา ผู้ทรงคุณธรรม คือผู้มีศีลมีธรรม จึงยกย่องสรรเสริญ และทั้งสนับสนุนส่งเสริมธรรมทาน กับทั้งปฏิบัติธรรมเองและให้ธรรมเป็นทานเองเป็นปกติ

แต่มิได้หมายความว่า อามิสทาน จะไม่เป็นข้อพึงกระทำ     เป็นข้อที่พึงต้องกระทำเป็นพื้นฐานทีเดียว เพราะจะยังผลให้สัตว์โลกผู้กระทำเจริญด้วยสมบัติเครื่องอยู่อาศัย ทุกระดับภูมิธรรม    กล่าวคือ ทานกุศลในระดับโลกิยะ ย่อมให้ผลเป็นมนุษย์สมบัติ ได้แก่ ทรัพย์สมบัติ รูปสมบัติ บริวารสมบัติ และคุณสมบัติ คือความรู้ความสามารถ เป็นต้น ถึงสวรรค์สมบัติหรือทิพยสมบัติที่ประณีตกว่ามนุษย์สมบัติ   และเป็นพื้นฐานให้ถึงนิพพานสมบัติ คือเป็นทานบารมี ทานอุปบารมี และทานปรมัตถบารมี อันเป็นอุปการะแก่การบำเพ็ญบารมีอื่นๆ ให้เกิดและเจริญขึ้นได้ดี เมื่อบุญบารมีทั้ง 10 ประการ เรียกว่า บารมี 10 ทัศ เจริญแก่กล้าถึงปรมัตถบารมี ในภพชาติใด ย่อมเป็นพลวปัจจัยให้กระทำที่สุดแห่งทุกข์  คือให้สามารถปฏิบัติธรรมถึงความบรรลุมรรคผลนิพพานที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ และที่เป็นบรมสุขได้

กล่าวโดยส่วนรวมในเรื่องของ “ทานกุศล” ทั้งปวง จักเป็นมหานิสงส์ คือมีผลมาก ถ้าทั้งผู้ให้ ผู้รับ และทั้งสิ่งของ หรือ ธรรมที่ให้เป็นของดี บริสุทธิ์ หรือ เป็นข้อปฏิบัติที่ดีที่ชอบ กล่าวคือ

ฝ่ายผู้ให้ เป็นคนดี มีคุณธรรม คือ เป็นผู้มีศีลมีธรรม เป็นสัมมาทิฏฐิ และมีเจตนาที่ดี ที่บริสุทธิ์ คือมุ่งให้ด้วยหวังที่จะอนุเคราะห์ สงเคราะห์ผู้อื่นให้พ้นทุกข์ และให้ได้รับความสันติสุข โดยไม่มุ่งหวังเครื่องตอบแทน ทั้งก่อนแต่จะให้ ทั้งขณะที่ให้ และแม้เมื่อภายหลังที่ได้ให้แล้ว ก็ยังมีจิตยินดีที่ได้ให้ประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น นี้ฝ่าย 1 อย่างนี้ ย่อมเป็นมหานิสงส์ คือ ทานกุศลนั้นย่อมให้ผลเป็นความเจริญและสันติสุขแก่ผู้ให้ต่อไป ทั้งในปฏิสนธิกาล คือตั้งแต่แรกเกิด ตลอดวัยกลางคน และถึงวัยชรา

ฝ่ายผู้รับ ก็เป็นคนดีมีคุณธรรม คือมีศีลมีธรรม เป็นสัมมาทิฏฐิ และ/หรือ กำลังปฏิบัติพระสัทธรรมเพื่อขจัดขัดเกลากิเลสตน กำลังประพฤติปฏิบัติตนเป็นเยี่ยงอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น และทั้งช่วยเผยแพร่พระสัทธรรมที่ตนได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ จากการปฏิบัติธรรมที่ดีแล้ว คือ ให้ธรรมเป็นทานแก่ผู้อื่น ตามสมควรแก่ภูมิธรรมของตน นี้ฝ่าย 1 ย่อมยิ่งด้วยมหานิสงส์ คือมีผลสูงแก่ผู้ให้ทานกับบุคคลผู้เช่นนี้ กว่าการให้ทานแก่คนชั่ว หรือแก่คนไม่ดี คนไม่มีศีลธรรมประจำใจ และผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ มากมายนัก ดังที่ได้เคยมีพวกเทวดาสตุลลปกายิกา ได้พากันไปเฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงที่ประทับ ณ พระวิหารเชตวัน เมื่อล่วงปฐมยามแล้ว ได้พากันเปล่งอุทานถึงอานิสงส์ของการให้ทาน พวกหนึ่งได้เปล่งอุทาน มีใจความตอนหนึ่ง ในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค พระสุตตันตปิฎก เล่ม 15 ข้อ 99 ว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์   ทานยังประโยชน์ให้สำเร็จได้แล   แม้เมื่อของมีอยู่น้อย การให้ทานได้เป็นการดี   ทานที่ให้แม้ด้วยศรัทธา ก็ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ ทานที่ให้แก่ผู้มีธรรมอันได้แล้ว ยิ่งเป็นการดี   อนึ่ง ทานที่บุคคลเลือกให้ยิ่งเป็นการดี ทานที่เลือกให้ พระสุคตเจ้าทรงสรรเสริญแล้ว”  – (สํ.ส.15/99)

ครั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เมื่อเทวดาทูลถามว่า คำของใครเป็นภาษิต ก็ได้ตรัสตอบรับรองเทวดาผู้เปล่งวาจาทั้งหลายเหล่านั้นว่า คำของเทวดาทั้งหมดนั้นแหละเป็นภาษิตโดยปริยาย

ที่ว่า “ทานที่เลือกให้ อันพระสุคตเจ้าทรงสรรเสริญแล้ว  วิเจยฺยทานํ สุคตปฺปสตฺถํ”  นั้น ก็เพราะว่า ทานที่ให้เพื่อเป็นประโยชน์สุขแก่คนดี ผู้มีศีลมีธรรม มีปัญญา ผู้รับทานซึ่งเป็นผู้มีคุณธรรมประจำใจอยู่นั้น ย่อมยังประโยชน์ตนและประโยชน์แก่ผู้อื่น หรือแก่สาธารณชนได้มาก แต่ถ้าทานที่ให้แก่คนชั่ว คนไม่มีศีลธรรมประจำใจ ผู้เป็นคนพาลปัญญาโฉดเขลาแล้ว   เขาย่อมไม่มีสติปัญญาที่จะปฏิบัติตน ยังประโยชน์ตนประโยชน์ท่านผู้อื่นให้สำเร็จได้ คือแม้แต่ตัวเขาเองก็ไม่มีสติปัญญาพอที่จะช่วยตนเอง หรือพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นได้ แล้วเขาจะสามารถช่วยใครอื่นได้อีก   ดังธรรมภาษิตในขุททกนิกาย ชาดก ภาค 1 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 19 ข้อ 506-507 ความว่า

“ผู้ใดให้ทาน ในคนที่ไม่ควรให้  ไม่ให้ในคนที่ควรให้     ผู้นั้น ถึงได้รับความทุกข์ในคราวมีอันตราย ก็ไม่ได้สหาย.

ผู้ใดไม่ให้ทานในคนที่ไม่ควรให้   ให้ในคนที่ควรให้    ผู้นั้นถึงได้รับความทุกข์ในคราวมีอันตราย ย่อมได้สหาย.” – (โพธิสตฺต  ขุ.ชา. จตุกฺก. 27/506-507)

ฝ่ายทรัพย์สิ่งของ หรือข้อธรรมที่ให้ เป็นทรัพย์สิ่งของที่มีคุณภาพดี และที่ได้มาโดยความบริสุทธิ์ ไม่ใช่เอาของเสียๆ หรือของที่ใช้แล้ว ที่ไม่ประสงค์จะเก็บไว้ให้รกบ้าน มาให้ และ/หรือ ข้อธรรมที่ให้เป็นข้อปฏิบัติที่ดี ที่กอปรด้วยสัมมาทิฏฐิ คือเป็นข้อปฏิบัติที่ให้เกิดผลเป็นความเจริญและสันติสุขในชีวิต และ/หรือให้ถึงความพ้นทุกข์ ไม่ใช่ข้อปฏิบัติชั่วร้าย ที่กอปรด้วยมิจฉาทิฏฐิ ที่จะนำไปสู่ความเสื่อมหรือที่เป็นโทษ เป็นความทุกข์เดือดร้อนได้ต่อไป จึงจะเป็นมหานิสงส์ คือมีผลมากแก่ผู้ให้ทานด้วยทรัพย์สิ่งของและ/หรือแก่ผู้ให้ธรรมทานเช่นนี้ ดังที่อุคคหเทพบุตร ผู้ได้เคยถวายทานอันเลิศแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า ณ เมืองเวสาลี ในกาลต่อมาไม่นานได้ทำกาละ (ตาย) และได้ไปบังเกิดในเทวโลก แล้วได้ลงมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ พระวิหารเชตวัน สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้ตรัสกะอุคคหเทพบุตร เป็นพระคาถาแปลความว่า

“ผู้ให้ของชอบใจ ย่อมได้ของชอบใจ 
ผู้ให้ของเลิศ ย่อมได้ของเลิศ 
ผู้ให้ของดีย่อมได้ของดี 
ผู้ให้ของประเสริฐ ย่อมถึงฐานะอันประเสริฐ”
(องฺ ปญฺจก.22/44)

ผู้รู้จักเสียสละ รู้จักให้หรือแบ่งปันประโยชน์สุขส่วนตน และ/หรือส่วนหมู่คณะของตน และการให้ธรรมเป็นทาน เพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น แก่ชนหมู่ใหญ่ หรือแก่ประเทศชาติส่วนรวม ย่อมเป็นอริยทรัพย์คือเป็นคุณธรรมอยู่ภายในจิตสันดาน เป็นทรัพย์ที่ประเสริฐ ที่ไม่มีใครผู้ใดสามารถแย่งชิงเอาไปได้ และไม่รู้จักเสื่อมสลายด้วยภยันตรายใดๆ จากภายนอก  อริยทรัพย์อันเป็นคุณธรรมนี้แหละจะเป็นทรัพย์อันประเสริฐที่คอยติดตามให้ผล แก่ผู้ปฏิบัติและทรงคุณธรรมนี้ให้เจริญด้วยมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ ถึงนิพพานสมบัติได้ ผู้มีคุณธรรมข้อนี้จึงชื่อว่า ย่อมไม่เป็นผู้ยากจน

อริยทรัพย์ข้อที่ 7 คือ “ปัญญา” คือ ความรู้แจ้งในเรื่องบาป-บุญ คุณ-โทษ ในกฎแห่งกรรม และในเหตุแห่งความเจริญ รวมทั้งวิชาการความรู้ในการประกอบสัมมาอาชีวะ และความรู้แจ้งในเหตุแห่งความเสื่อมแห่งชีวิตตามที่เป็นจริงนี้กล่าวเฉพาะปัญญาในระดับโลกิยะชื่อว่า โลกิยปัญญา อันให้โลกิยสุข    ส่วนปัญญาที่สูงขึ้นไปที่จะช่วยให้พ้นทุกข์ได้ชื่อว่า “โลกุตตรปัญญา” นั้น ได้แก่ ปัญญา คือ ความเห็นแจ้ง รู้แจ้ง สภาวะของธรรมชาติและสัจจธรรมตามที่เป็นจริง กล่าวคือ ความเห็นแจ้งรู้แจ้งในกองสังขารตามที่เป็นจริง ว่าประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่งอย่างไร มีสภาวะที่เป็นเองตามธรรมชาติที่เป็นจริงว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา คือ มิใช่ตัวตน บุคคล เรา เขา ของเรา ของเขาอย่างไร และความเห็นแจ้งแทงตลอดความจริงอย่างประเสริฐ โดยความกำหนดรู้ เรื่องของทุกข์ ว่ามีแท้จริงอย่างไร ควรกำจัดอย่างไร เหตุแห่งทุกข์ ว่ามีอย่างไร ควรละอย่างไร สภาวะที่ทุกข์ดับเพราะเหตุดับ คือ พระนิพพานธาตุ ว่ามีจริงอย่างไร ควรทำให้แจ้งอย่างไร

และหนทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์อย่างถาวร ว่า มีจริงอย่างไร ทุกข์นั้นกำจัดได้แล้วเพียงไร เหตุแห่งทุกข์ละได้แล้วเพียงไร สภาวะที่ทุกข์ดับเพราะเหตุดับ คือพระนิพพานนั้น ได้ทำให้แจ้งแล้วเพียงไร และหนทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ ได้กระทำให้เกิดและเจริญขึ้นแล้วเพียงไร ดังนี้เป็นต้น

การอบรมปัญญาทั้งในระดับโลกิยปัญญาและโลกุตตรปัญญาให้เกิดและเจริญขึ้นได้นั้น ย่อมกระทำได้ 3 วิธี หรือจะจัดว่าเป็นสามระดับก็ได้ คือ

สุตมยปัญญา เป็นปัญญารู้รอบรู้ที่เกิดและเจริญขึ้นได้ จากการศึกษาเล่าเรียน การอ่านและการฟังคำบรรยายหรือคำแนะนำสั่งสอน

จินตมยปัญญา เป็นปัญญารอบรู้ที่เกิดและเจริญขึ้น ได้โดยการคิด พิจารณาดูที่เหตุ และสังเกตที่ผลสำหรับวิชาการทางโลกอันอาศัยการวิจัยคือการศึกษาหาข้อมูลที่เชื่อถือได้ที่ถูกต้องตรงประเด็น และที่สมบูรณ์ดีพอ มาประกอบการพิจารณาวิเคราะห์ เพื่อให้ทราบเหตุและผลของปัญญาหรือเรื่องที่ประสงค์จะทราบ

ภาวนามยปัญญา เป็นปัญญารู้แจ้งแทงตลอดในสภาวะของธรรมชาติ และอริยสัจจธรรมตามที่เป็นจริง ที่สามารถให้เกิดและเจริญขึ้นได้ ด้วยการปฏิบัติธรรม ไตรสิกขาคือศีลสิกขา จิตตสิกขา และปัญญาสิกขา คือการเจริญภาวนาธรรม หรือสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน โดยมีศีลเป็นบาทฐาน เพื่ออบรมกายวาจาและใจ ให้ถึงอธิศีล คือศีลอันยิ่ง อธิจิต คือจิตอันยิ่ง หรือสมาธิยิ่ง และอธิปัญญา คือปัญญาอันยิ่ง อันมีนัยอยู่ในอริยมรรคมีองค์ 8 ได้แก่ ความเห็นชอบในอริยสัจ 4 ชื่อว่า สัมมาทิฏฐิ และความดำริชอบ คือการดำริออกจากกิเลส ตัณหา อุปาทาน อันเป็นเหตุแห่งทุกข์ ชื่อว่า สัมมาสังกัปปะ 2 ประการ นี้สงเคราะห์เข้าใน “ปัญญาสิกขา”  การกล่าววาจาชอบ ชื่อว่า สัมมาวาจา การกระทำการงานชอบ ชื่อว่า สัมมาสังกัปปะ และการประกอบอาชีพชอบ ชื่อว่า สัมมาอาชีวะ  3 ประการนี้ สงเคราะห์เข้าใน “ศีลสิกขา” ความเพียรพยายามชอบ ชื่อว่า สัมมาวายามะ การมีสติชอบ ชื่อว่า สัมมาสติ และสมาธิชอบ ชื่อว่า สัมมาสมาธิ  3 ประการนี้ สงเคราะห์เข้าใน “จิตตสิกขา” นี้กล่าวโดยการเจริญปัญญาชั้นสูง เป็นทางให้หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ได้ถึงอมตมหานฤพานอันเป็นบรมสุข ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด ไม่มีความแก่ ความเจ็บ และความตายอีกต่อไป

ส่วนปัญญารอบรู้ในทางโลก ย่อมเกิดและเจริญจากการที่ได้เรียนรู้ และได้ผ่านการนำวิชาการไปปฏิบัติหรือได้ปฏิบัติงานจนมีประสบการณ์มามาก จึงมีปัญญารอบรู้มาก

กล่าวโดยสรุป ปัญญารอบรู้ ทางเจริญทางเสื่อมแห่งชีวิต ถึงปัญญารู้แจ้งแทงตลอดในสภาวะของธรรมชาติและอริยสัจจธรรมตามที่เป็นจริง ดังที่กล่าวนี้แหละ ที่เป็นอริยทรัพย์ คือ ทรัพย์อันประเสริฐ ที่คอยติดตามให้ผล แก่ผู้มีทั้งวิชาการทางโลก เพื่อการประกอบสัมมาอาชีวะ และทั้งผู้ทรงคุณธรรม คืออธิศีล อธิจิต และอธิปัญญา ให้ดำเนินชีวิตไปด้วยสติสัมปชัญญะ และปัญญาอันเห็นชอบ ให้ถึงความสำเร็จเป็นความเจริญสันติสุขในชีวิต ยิ่งๆ ขึ้นไปอย่างมั่นคง ไม่มีเสื่อม และให้ถึงมรรคผลนิพพาน ที่สิ้นสุดแห่งทุกข์และที่เป็นบรมสุขได้อย่างแน่นอน ผู้ทรงคุณธรรมนี้ คือปัญญาอันเห็นชอบดังที่กล่าวนี้ จึงย่อมไม่เป็นผู้ยากจนด้วยประการฉะนี้

ก่อนยุติรายการนี้ อาตมภาพขอเชิญสาธุชนทุกท่านผู้สนใจในธรรม เข้าศึกษาและปฏิบัติธรรมที่ วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก  จ.ราชบุรี ได้ทุกวัน หลังทำวัตรเช้า-เย็น และทุกวันอาทิตย์ ตั้งแต่ 09.00 – 14.00 น.

ขอประกาศข่าวการอบรมพระกัมมัฏฐานรุ่นที่ 34 ณ วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก  จ.ราชบุรี  ระหว่างวันที่ 1-14 ธันวาคม นี้ พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกาและสาธุชนขอสมัครเข้ารับการอบรมได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ พระภิกษุ สามเณร จะได้รับการถวายหนังสือคู่มือปฏิบัติภาวนาธรรมประกอบการศึกษาสัมมาปฏิบัติอีกด้วย  เฉพาะพระสังฆาธิการหรือพระภิกษุที่พระสังฆาธิการ เจ้าคณะปกครอง ส่งไปเข้ารับการอบรม จะได้รับการอบรมและได้รับหนังสือ การบริหารวัด กับหนังสือ ทางมรรคผลนิพพาน (ธรรมปฏิบัติถึงธรรมกายและพระนิพพาน) จากผู้มีจิตศรัทธาด้วยทุกท่าน   พระภิกษุ สามเณร ขอได้โปรดเตรียมสมณบริขาร ได้แก่ บาตร และกลดไปด้วย และขออาราธนาไปขึ้นรถรับ-ส่ง ไปวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม ที่จอดรอรับอยู่หน้าปากทางเข้าวัดสระเกศ (วัดภูเขาทอง) กรุงเทพฯ ในวันที่ 30 พฤศจิกายน ภายในเวลา 13.30 น. ด้วย

ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ท่านผู้ฟังทุกท่าน    เจริญพร.


พระมหาเสริมชัย ชยมงฺคโล ป.ธ.6 เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วันอาทิตย์ ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2540

แชร์เลย

Comments

comments

Share: