ความอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้า

เจริญสุข/เจริญพร ญาติโยมสาธุชนผู้ฟังทุกท่าน

วันนี้อาตมภาพก็ได้มาพบกับท่านผู้ฟังอีกเช่นเคย ในรายการปาฐกถาธรรม ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ทุกวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนเว้นเดือน วันนี้อาตมภาพจะได้บรรยายธรรม เรื่อง “ความอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้า” ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้มีปรากฏอยู่ใน พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย เล่มที่ 25 ข้อ 24 หน้า 39  ว่า

“กิจฺโฉ  พุทฺธานมุปฺปาโท”
ความอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้า เป็นการยาก

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมานี้ เป็นวันวิสาขบูชา เป็นวันที่สำนักงานองค์การสหประชาชาติได้ประกาศว่า เป็นวันสำคัญของโลก ซึ่งชาวพุทธศาสนิกชนนิยมทำการบูชาพิเศษ  ก็เพราะเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน อาตมภาพจึงใคร่จะบรรยายขยายความเรื่องความอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้านี้ว่าคืออย่างไร  และมีความสำคัญต่อชีวิตของชาวโลกอย่างไร  เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ตามสมควรแก่เวลาสืบต่อไป

ก่อนอื่น ขอท่านผู้ฟังมาทำความรู้จักกับพระพุทธเจ้าให้ถ่องแท้เสียก่อนว่า หมายเอาใครผู้ใด ? 

คำว่า “พระ” หมายถึง ผู้ประเสริฐ
คำว่า “พุทธ” หมายถึง ผู้ตรัสรู้ ผู้ตื่นแล้ว ผู้เบิกบานแล้ว
คำว่า “เจ้า” หมายถึง ผู้เป็นใหญ่

เมื่อร่วมกันเป็นคำว่า “พระพุทธเจ้า” ณ ที่นี้หมายถึง “สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ผู้ตรัสรู้ คือ ผู้ทรงเห็นแจ้ง ทรงรู้แจ้งพระอริยสัจจธรรมด้วยพระองค์เอง พระพุทธองค์จึงทรงเป็นผู้ทรงคุณอันประเสริฐ และทรงเป็นผู้มีพระคุณอันยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์และเทวดาทั้งหลาย กว่าพรหม-อรูปพรหมทั้งหลาย กว่าพญามาร และเสนามารทั้งหลาย ตลอดทั่วทั้งจักรวาล  ตลอดแสนโกฏิจักรวาล อนันตจักรวาล ไม่มีประมาณ

เพราะฉะนั้น คำว่า “พระพุทธเจ้า” จึงเป็น “เนมิตกนาม” ที่ใช้เรียกเฉพาะพระผู้ตรัสรู้พระอริยสัจจธรรมด้วยพระองค์เอง  ผู้ตื่น  ผู้เบิกบานแล้ว  เท่านั้น  และพระผู้ตรัสรู้แล้วทรงสั่งสอนผู้อื่นนั้น  ชื่อว่า “พระสัมมาสัมพุทธเจ้า”  ส่วนพระผู้ตรัสรู้แล้วมิได้สั่งสอนผู้ใด ชื่อว่า “พระปัจเจกพุทธเจ้า”  และพระอรหันตสาวกของพระพุทธเจ้า  ผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า ชื่อว่า “พระอนุพุทธะ

ความอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้า นั้นเป็น 2  คือ รูปกายอุบัติ 1 และธรรมกายอุบัติ 1 ดังที่สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทวะ) ได้นิพนธ์ไว้ในหนังสือ “ปฐมสมโพธิ” ชำระโดย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 22/2533 โดยมหามกุฏราชวิทยาลัย  หน้า 10 มีความว่า

“แม้องค์พระตถาคตอังคีรสศากยมุนีโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ ซึ่งมีความปรากฏในโลกอันสัตว์ได้ด้วยยาก ดังนี้ พระองค์ก็ได้อุบัติบังเกิดขึ้นแล้วในโลก ด้วยรูปกายอุบัติและธรรมกายอุบัติ ทั้ง 2 ประการ พร้อมด้วยอัจฉริยอัพภูตธรรมตามธรรมดานิยมโดยพุทธธรรมดา

ความบังเกิดขึ้นด้วยรูปกายนั้น จัดเป็น 2 คือ โอกกันติกสมัย เมื่อหยั่งลงสู่พระครรภ์  และนิกขมนสมัย เมื่อประสูติจากพระครรภ์ (เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ)

ส่วนความบังเกิดด้วยธรรมกายนั้น คือ (อภิสัมโพธิสมัย) เมื่อตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณฯ”

และในหน้า 51-52 นั้นมีว่า

“…ครั้งนั้น หมื่นโลกธาตุนี้ก็หวั่นไหวสะเทือน สะท้าน ทั้งแสงสว่างยิ่งไม่มีประมาณ ก็ได้ปรากฏเกิดมีในโลก ล่วงเทวานุภาพของเทพยดาทั้งหลาย ก็แลอัศจรรย์ทั้งหลายซึ่งสำเร็จโดยธรรมดานิยมเห็นปานใด ได้ปรากฏเกิดมีแล้วในโลก เมื่อครั้งพระองค์ประสูติเป็นการเกิดด้วยรูปกาย อันบริบูรณ์นั้น ฉันใด แม้ถึงเมื่ออภิสัมโพธิสมัย ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นการเกิดด้วยธรรมกายนั้นเล่า  สรรพอัศจรรย์ทั้งปวงเห็นปานนั้นก็ได้ปรากฏเกิดมีแล้วฉันนั้น.”

จากพระนิพนธ์ในหนังสือปฐมโพธิ ของสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทวะ) นี้แสดงว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จอุบัติขึ้น 2 ลักษณะ คือ ด้วยรูปกายอุบัติ และ ด้วยธรรมกายอุบัติ

กล่าวคือ เมื่อยังทรงเป็นพระมหาโพธิสัตว์ และได้จุติ คือ เสด็จเคลื่อนจากชั้นดุสิตเทวโลกด้วยพระวรกายอันเป็นทิพย์ หยั่งลงสู่พระครรภ์ คือ มาตั้งปฏิสนธิวิญญาณในพระครรภ์พระนางสิริมหามายา พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ พระราชาผู้ครองนครกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ (คือที่ประเทศเนปาลในปัจจุบันนี้) เมื่อวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ ตรงกับวันพฤหัสบดีขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ปีระกานี้นับเป็นการมาเกิดครั้งแรกด้วย “รูปกายอุบัติ” เรียกว่า โอกกันติกสมัย เมื่อหยั่งลงสู่พระครรภ์พระมารดา ครั้นทรงเจริญวัยอยู่ในพระครรภ์เป็นระยะเวลา 10 เดือน จึงประสูติจากพระครรภ์ด้วยพระวรกายมนุษย์ เป็นพระกุมาร ในเวลาสายใกล้เที่ยง ในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ คือในวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศก 80 ปี คือ เมื่อ 2626 ปี ที่ผ่านมานี้ ทรงพระนามว่า “สิทธัตถกุมาร” หรือ เจ้าชายสิทธัตถะนั่นเอง และนี้นับเป็นการเกิดด้วย “รูปกายอุบัติ”  เป็นครั้งที่ 2 ของพระมหาโพธิสัตว์ ในพระชาติสุดท้ายก่อนที่จะได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เมื่อทรงเจริญวัยขึ้นแล้ว เจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงอภิเษกสมรสกับพระนางพิมพายโสธรา เมื่อพระชนมายุได้ 16พรรษา ครั้นเมื่อพระชนมายุได้ 29 พรรษา ทรงได้พระโอรส คือ พระราหุลแล้ว จึงได้เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ คือการออกบวชเพื่อแสวงคุณอันยิ่งใหญ่ ภายหลังจากที่ได้บำเพ็ญสมณธรรมต่อมาเป็นเวลา 6 ปี  ขณะนั้นทรงมีพระชนมายุได้ 35 พรรษา ถึงคืนวันเพ็ญเดือนวิสาขะ คือ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 พระมหาโพธิสัตว์เจ้าได้ทรงรับหญ้าคาจากโสตถิยพราหมณ์ แล้วจึงทรงนำไปปูลาดเป็นที่ประทับ ณ ควงต้นพระศรีมหาโพธิ์ ด้านทิศตะวันออก ประทับนั่งคู้บัลลังก์ คือ นั่งในท่าขัดสมาธิ ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ทางฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา แล้วทรงตั้งสัตยาธิษฐาน ว่า แม้เลือดเนื้อจะเหือดแห้งไปเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก หากไม่ได้บรรลุโมกขธรรม ก็จะไม่ทำลายบัลลังก์ คือ จะไม่เสด็จลุกจากที่ประทับ  แล้วจึงทรงเริ่มเจริญภาวนา ปรากฎพระพุทธดำรัสตรัส อาการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในมัชฌิม-นิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ โพธิราชกุมารสูตร ราชวรรค ข้อ 336  มีเนื้อความย่อ ว่า

ในยามต้นแห่งราตรีนั้น พระมหาโพธิสัตว์เจ้าได้ทรงเจริญฌานสมาบัติถึงจตุตถฌาน ทรงมีพระทัยตั้งมั่น และบริสุทธิ์ผ่องใสจากกิเลสนิวรณ์เครื่องกั้นปัญญา อ่อนโยนควรแก่งานดีแล้ว ทรงน้อมพระทัยไปเพื่อ “ปุพเพนิวาสานุสติญาณ” เป็นการบรรลุวิชชาที่ 1 คือ ปรีชาญาณหยั่งรู้-เห็น ขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในปางก่อน กล่าวคือ ทรงมีญาณระลึกชาติได้นั่นเอง ได้ทรงเห็นแจ้งรู้แจ้งชีวิตอัตภาพของสัตว์โลกทั้งหลาย รวมทั้งของพระองค์เองด้วย ในอดีตชาติ ที่ต่างเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ นับภพนับชาติไม่ถ้วน คือ เมื่อตายแล้วก็ไปเกิดใหม่ในสุคติภพ คือ ภพภูมิที่ดี เช่น ไปเกิดเป็นมนุษย์บ้าง เป็นเทพยดาบ้าง มีสุขบ้าง ทุกข์บ้าง หรือไปเกิดในทุคติภพ คือ ภพภูมิที่ไม่ดี เช่น ไปเกิดเป็นเปรต สัตว์นรก อสุรกาย หรือสัตว์เดรัจฉานบ้าง  เวียนว่ายตายเกิดต่อๆ ไปอย่างนี้ นับภพนับชาติไม่ถ้วน อันเป็นทุกข์ไม่มีที่สิ้นสุด จึงทรงสังเวชสลดพระทัย และทรงดำริว่า อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัตว์โลกต้องเวียนว่ายตายเกิด เป็นทุกข์ไม่มีที่สิ้นสุดอยู่อย่างนี้

ครั้นยามกลางแห่งราตรี พระมหาโพธิสัตว์เจ้าได้ทรงเจริญฌานสมาบัติถึงจตุตถฌานอีก ให้พระทัยตั้งมั่นและบริสุทธิ์ผ่องใสจากกิเลสนิวรณ์เครื่องกั้นปัญญา อ่อนโยนควรแก่งานดีแล้ว  ได้ทรงน้อมพระทัยไปเพื่อ “จุตูปปาตญาณ” เป็นการบรรลุวิชชาที่ 2 คือ ปรีชาญาณหยั่งรู้-เห็นจุติและปฏิสนธิ ความอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย ได้ทรงเห็นสัตว์ทั้งหลายตายแล้วก็เกิด ในภพภูมิที่ดีบ้าง ที่เลวบ้าง มีชีวิตที่เป็นสุขบ้าง และเป็นทุกข์บ้าง อันเป็นผลจากกรรมดีหรือ กรรมชั่วของตน จึงทรงดำริว่า อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัตว์กระทำกรรมดีบ้าง กรรมชั่วบ้าง แล้วได้รับผลเป็นความสุขบ้างแต่ไม่ยั่งยืน และได้รับผลเป็นความทุกข์บ้าง อย่างนั้น

ครั้นยามปลายแห่งราตรี จึงทรงเจริญฌานสมาบัติถึงจตุตถฌาน ให้พระทัยตั้งมั่นและบริสุทธิ์ผ่องใส อ่อนโยนควรแก่งานอีก แล้วทรงน้อมพระทัยไปเพื่อ “อาสวักขยญาณ” เป็นการบรรลุวิชชาที่ 3  คือ ปรีชาญาณหยั่งรู้วิธีทำอาสวกิเลส กิเลสเครื่องหมักดองอยู่ในจิตสันดาน ให้สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ เป็นพระอรหันตขีณาสพ โดยเป็นผลจากการพิจารณาปฏิจจสมุปบาทธรรม คือ พิจารณาสภาพปัจจัยอันอาศัยกันเกิดขึ้น ได้ทรงพิจารณาสาวหาเหตุในเหตุ ไปถึงต้นๆ เหตุให้เกิดทุกข์ และได้ทรงค้นพบว่า เพราะ “อวิชชา” คือ ความมืด ไม่รู้-ไม่เห็นอดีต ไม่รู้อนาคต ไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท และความไม่รู้อริยสัจธรรม เป็นต้น เป็นเหตุให้เกิดกิเลส ตัณหา อุปาทานและกรรม อันเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดภพ เกิดชาติ ชรา มรณะ และความทุกข์ต่างๆ ได้ทรงพิจารณาเห็นแจ้งแทงตลอด คือ ได้ตรัสรู้พระอริยสัจ 4 กล่าวคือ ความจริงอย่างประเสริฐ 4 ประการ ด้วยญาณ 3 ได้แก่ กำหนดรู้ความทุกข์   เหตุแห่งทุกข์  สภาวะที่ทุกข์ดับเพราะเหตุดับ กล่าวคือ นิพพาน และกำหนดรู้ทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์อันถาวรว่ามีจริงอย่างไร นี้ชื่อว่า “สัจจญาณ” ประการหนึ่ง  กำหนดรู้ว่า ทุกข์ ควรกำจัด สมุทัย เหตุแห่งทุกข์ ควรละ นิโรธ คือ สภาวะที่ทุกข์ดับ เพราะเหตุดับ กล่าวคือ พระนิพพาน ควรทำให้แจ้ง และ มรรค ควรทำให้เจริญ ชื่อว่า “กิจจญาณ” นี้ประการหนึ่ง  และกำหนดรู้ว่า ทุกข์ กำจัดได้แล้ว สมุทัย ละได้แล้ว นิโรธ ได้ทำให้แจ้งแล้ว และ มรรค ได้ทำให้เจริญแล้ว ชื่อว่า “กตญาณ” อีกประการหนึ่ง

และได้ทรงบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ คือ พระญาณเครื่องตรัสรู้โดยชอบอันยอดเยี่ยม  เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ในตอนรุ่งอรุณคืนวันเพ็ญเดือนวิสาขะ เมื่อ 2591 ปีที่ล่วงมาแล้วนี้เอง

ความบรรลุมรรคผลนิพพาน กล่าวคือ มรรค 4 ผล 4 และนิพพานธาตุ 1 เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่ออภิสัมโพธิสมัย ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ นี้เอง ชื่อว่า เป็นความอุบัติขึ้นด้วย “ธรรมกายอุบัติ”

ดังที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสกับสามเณรวาเสฏฐะ และภารทวาชะ (ที.ปา. 11/55/92/พ.ศ.2525)  มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“ตถาคตสฺส  เหตํ วาเสฏฺฐา  อธิวจนํ  ธมฺมกาโย  อิติปิ
 พฺรหฺมกาโย  อิติปิ  ธมฺมภูโต  อิติปิ  พฺรหฺมภูโต  อิติปิฯ”
“ดูกรวาเสฏฐะ และภารทวาชะ เพราะคำว่า ธรรมกายก็ดี ว่า พรหมกายก็ดี
ว่าธรรมภูตก็ดี ว่าพรหมภูตก็ดี เป็นชื่อของตถาคตฯ

ตามพระพุทธดำรัสนี้ แสดงว่า “พระตถาคตเจ้า” หรือสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่แท้จริงนั้นก็คือ “ธรรมกาย” นั่นเอง

ดังที่พระอรรถกถาจารย์ได้อรรถาธิบายความหมายของ “ธรรมกาย” มีปรากฏอยู่ในสุมังคลวิลาสินี อรรถกถาทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค อรรถกถา อัคคัญญสูตร แปลความว่า

“…ในบาลีประเทศนั้น คำว่า ธรรมกาโย อิติปิ ความว่า เพราะเหตุไร พระตถาคตจึงได้รับขนานนามว่า ธรรมกาย เพราะพระตถาคตทรงคิดพระพุทธพจน์ คือ พระไตรปิฎกด้วยพระหทัยแล้ว ทรงนำออกแสดงด้วยพระวาจา ด้วยเหตุนั้น  พระวรกายของพระผู้มีพระภาค จึงจัดเป็นธรรมแท้  เพราะสำเร็จด้วยธรรม  พระธรรมเป็นกายของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น  ดังพรรณนามานี้ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงชื่อว่า ธรรมกาย.

ชื่อว่า พรหมกาย เพราะมีธรรมเป็นกายนั่นเอง แท้จริง พระธรรม ท่านเรียกว่า พรหม เพราะเป็นของประเสริฐ.

บทว่า ธมฺมภูโต ได้แก่ สภาวธรรม.

ชื่อว่า พรหมภูต เพราะเป็นผู้เกิดจากพระธรรมนั่นเองฯ”

ตามพระพุทธดำรัสที่ตรัสกับสามเณรวาเสฏฐะ และภารทวาชะ ในอัคคัญญสูตร และตามอรรถาธิบายของพระอรรถกถาจารย์นี้  จึงสรุปได้ว่า

ธรรมกาย” นี้เอง เป็นพระวรกายของพระพุทธเจ้าอันสำเร็จด้วยพระธรรม เป็นผู้ทรงคุณธรรม คือ มรรค 4 ผล 4 และนิพพาน 1  จึงชื่อว่า ธรรมภูต  เป็นกายประเสริฐ เพราะเป็นธรรมแท้ คือ ไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง  จึงชื่อว่า พรหมกาย และ เพราะเกิดจากพระธรรม จึงชื่อว่า พรหมภูต  และธรรมกายนี้เองที่เป็นสภาวธรรมอันอุบัติขึ้น คือ ปรากฏขึ้น ณ ภายในพระทัยของพระมหาโพธิสัตว์ ชื่อว่า “ธรรมกายอุบัติ เมื่ออภิสัมโพธิสมัยตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในคืนวันเพ็ญเดือนวิสาขะ เมื่อ 2591 ปีที่ผ่านมานี้

ส่วนความอุบัติ คือ บังเกิดขึ้น ของพระมหาโพธิสัตว์เจ้า  ด้วยพระวรกายทิพย์เมื่อโอกกันติกสมัย หยั่งลงสู่พระครรภ์  เมื่อทรงเจริญวัยในพระครรภ์เป็นเวลา 10 เดือนแล้ว จึงได้บังเกิดขึ้นด้วยพระวรกายเนื้อมนุษย์ เป็นพระกุมาร  เมื่อนิกขมนสมัย ประสูติจากพระครรภ์พระมารดา คือ พระนางสิริมหามายา ในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ เมื่อ 2626 ปีที่ล่วงมาแล้วนั้น ความบังเกิดขึ้น  2  ประการนี้  ชื่อว่า  เป็นการเกิดด้วย “รูปกายอุบัติ

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระผู้ทรงคุณประเสริฐกว่ามนุษย์ เทวดา มาร พรหม อรูปพรหมใดในโลก ในจักรวาล ตลอดทั่วแสนโกฏิจักรวาล อนันตจักรวาลไม่มีประมาณ ด้วยพระพุทธคุณยิ่งใหญ่ 9 ประการ กล่าวโดยย่อ ทรงประกอบด้วยพระคุณใหญ่ 3 ประการ คือ พระปัญญาคุณ 1  พระวิสุทธิคุณ 1  และพระมหากรุณาคุณ 1

พระปัญญาคุณ นั้น คือ ความที่พระองค์ได้ตรัสรู้อริยสัจ 4 คือความจริงอย่างประเสริฐ คือ ความจริงแท้ 4 ประการ ด้วยพระองค์เอง กล่าวคือ พระองค์ทรงเห็นแจ้ง ทรงรู้แจ้ง เรื่องทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ สภาวะที่ทุกข์ดับเพราะเหตุดับ คือ มรรคผลนิพพาน และวิธีปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์อันถาวรอย่างถูกต้องแท้จริง กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ทรงเห็นแจ้ง ทรงรู้แจ้ง เหตุปัจจัยแห่งความเจริญและสันติสุข 1   เหตุปัจจัยแห่งความเสื่อม และความทุกข์เดือดร้อน 1  และทรงเห็นแจ้ง ทรงรู้แจ้ง วิธีปฏิบัติเพื่อสลัดตนออกจากทุกข์ทั้งปวง ได้ถึงมรรคผลนิพพานอันเป็นบรมสุขอย่างถาวร อย่างถูกต้องแท้จริงด้วยพระองค์เอง 1 นอกจากนี้ยังทรงถึงพร้อมด้วยวิชชา 3 วิชชา 8 อภิญญา 6 จตุปฏิสัมภิทา และจรณะ 15  และ ทรงรู้แจ้งโลกอย่างสมบูรณ์ ยิ่งกว่าใครๆ ในโลก ในจักรวาลทั้งสิ้น  นี้คือ พระปัญญาคุณ ของพระพุทธเจ้า

พระวิสุทธิคุณ นั้น คือ ทรงมีความบริสุทธิ์กาย วาจา และใจ กล่าวคือ ทรงเป็นผู้ปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง และไม่ทรงกระทำความชั่วหรือบาปอกุศล ทั้งในที่ลับ และที่แจ้ง ทรงเป็นผู้ตื่นแล้ว ทรงเป็นผู้เบิกบานแล้ว คือ ไม่ทรงหลงงมงาย  และยังทรงเป็นผู้ปลุกผู้อื่นให้ตื่น คือ ให้ไม่หลงงมงายด้วย และทรงเป็นผู้จำแนกธรรม คือ ทรงแสดงพระอริยสัจธรรมอย่างงดงามในเบื้องต้น ในท่ามกลาง และในเบื้องปลาย อย่างแจ่มแจ้งชัดเจนและบริบูรณ์สิ้นเชิงด้วย  นี้คือ พระวิสุทธิคุณ ของพระพุทธเจ้า

พระมหากรุณาคุณ นั้น คือ ทรงมีความรักเอ็นดูในสัตว์โลกทั้งหลาย ดุจพระโอรสของพระองค์  ปรารถนาให้สัตว์โลกทั้งหลายได้อยู่ดีมีสุขโดยทั่วหน้า  และทรงมีความสงสารสัตว์โลกทั้งหลาย  ปรารถนาให้ได้พ้นจากความทุกข์ทั้งปวง  เมื่อได้ตรัสรู้พระธรรมวิเศษ คือ พระอริยสัจ 4 แล้ว  ก็มิได้เก็บงำไว้เสวยสุขอยู่เฉพาะพระองค์เอง แต่ด้วยพระมหากรุณาคุณ  จึงได้เสด็จออกโปรดสัตว์  แนะนำสั่งสอนชาวโลกทั้งหลาย  ให้รู้จักทางเจริญอันพึงดำเนิน  และให้รู้จักทางเสื่อมแห่งชีวิตอันพึงงดเว้น  ให้รู้จักทางปฏิบัติเพื่อสลัดตนออกจากทุกข์ทั้งปวง  และให้ถึงมรรคผลนิพพานอันเป็นบรมสุขอย่างถาวร  ตามรอยบาทพระพุทธองค์  โดยไม่ทรงคำนึงถึงความยากลำบากพระวรกาย ตราบเท่าเสด็จดับขันธ์เข้าปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ  นับเป็นระยะเวลาถึง 45 ปี  นี้คือ พระมหากรุณาคุณ ของพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย

สำนักงานองค์การสหประชาชาติ จึงได้ประกาศว่า วันวิสาขบูชา ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ของทุกปี อันเป็นวันคล้ายวันประสูติ  วันตรัสรู้  และวันปรินิพพาน  ของสมเด็จพระสัมมาสัม-พุทธเจ้า  เป็นวันสำคัญของโลก

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีพระคุณอันยิ่งใหญ่แก่สัตว์โลกทั้งหลายอย่างนี้ แต่ความอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าทั้งด้วยรูปกายอุบัติ และด้วยธรรมกายอุบัติ นั้น เป็นการยากที่จะมีขึ้นได้ในโลกสักองค์หนึ่ง พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “กิจฺโฉ พุทฺธานมุปฺปาโทฯ”  ความเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าเป็นการยาก

เพราะเหตุไร ?  เพราะกว่าจะมีพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นได้สักองค์หนึ่งนั้น จักต้องประกอบคุณความดีอย่างยิ่งยวด เป็นบารมี ได้แก่ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมม์บารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี และอุเบกขาบารมี จนแก่กล้าถึงอุปบารมี และปรมัตถบารมี เต็มส่วนทั้ง 10 ประการแล้ว จึงเป็นพลวะปัจจัยให้สามารถบำเพ็ญสมณธรรมเป็นพระพุทธเจ้าได้สำเร็จ  ดังตัวอย่างสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าโคดมพระองค์นี้ ก่อนแต่จะตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ได้บรรลุความเป็นพระพุทธเจ้านั้น ทรงเป็น “พระปัญญาธิกโพธิสัตว์” ผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้าด้วยพระปัญญาอันกล้าแข็ง ปรากฏตามคัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์ รจนาโดยท่านพระรัตนปัญญาเถระ แปลโดย ศ.ร.ต.ท.แสง  มนวิทูร (เปรียญ) จัดพิมพ์โดยกรมการศาสนา พ.ศ.2517 หน้า 8 มีใจความว่า

พระโพธิสัตว์เจ้าของเรานี้ ได้ทรงทำความปรารถนาเป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยพระทัย มีระยะกาลตั้งแต่ ศาสนาพระพรหมเทวะ จนถึงศาสนาพระตถาคตศากยมุนีองค์ก่อน แล้ว 7 อสงไขย ได้ทรงกระทำความปรารถนาด้วยพระวาจา ตั้งแต่พระตถาคตศากยมุนีองค์ก่อน ถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทีปังกรอีก 9 อสงไขย แล้วจึงได้ทรงกระทำความปรารถนาทั้งด้วยพระวรกายและพระวาจา อีก 4 อสงไขยแสนกัป ตั้งแต่พระพุทธเจ้าทีปังกร จนถึงพระพุทธเจ้ากัสสปะ ได้ผ่านพบและได้รับพุทธพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ถึง 24 พระองค์ จึงได้สำเร็จเป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อ 2591 ปีที่ล่วงมานี้”

ความบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าแต่ละองค์ๆ เป็นการยากอย่างนี้ และนี้ว่าแต่เฉพาะการบำเพ็ญบารมีของพระปัญญาธิกโพธิสัตว์ ซึ่งมีระยะเวลาการบำเพ็ญบารมีในช่วงสุดท้าย 4 อสงไขย แสนกัป ส่วนการบำเพ็ญบารมีของพระสัทธาธิกโพธิสัตว์ ผู้ปรารถนาบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้าด้วยศรัทธากล้าแข็ง และด้วยปัญญาปานกลาง มีระยะเวลาของการบำเพ็ญบารมีทั้งกายและใจ ในช่วงสุดท้ายนี้ ถึง 8 อสงไขย แสนกัป พระวิริยาธิกโพธิสัตว์ ผู้ปรารถนาบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้าด้วยความเพียรกล้าแข็ง ด้วยศรัทธาและปัญญาปานกลาง มีระยะเวลาของการบำเพ็ญบารมีทั้งกายและใจ ในช่วงสุดท้ายนี้ถึง 16 อสงไขย แสนกัป อย่างเช่นพระเมตไตรยโพธิสัตว์ ก็เป็นพระวิริยาธิกโพธิสัตว์ ซึ่งมีระยะเวลาของการบำเพ็ญบารมีช่วงสุดท้ายนี้ 16 อสงไขย แสนกัป จึงจะได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า ต่อจากพุทธกาลของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโคดมนี้ ในช่วงสุดท้ายแห่งภัทรกัป คือ กัปอันเจริญนี้

จะเห็นได้ว่า กว่าจะมีพระพุทธเจ้าสักองค์หนึ่งเสด็จอุบัติขึ้นในโลกทั้งด้วยรูปกายอุบัติ และธรรมกายอุบัติ ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ แล้วจึงได้เสด็จออกแนะนำสั่งสอนโปรดสัตว์โลก ชี้ทางเจริญ ทางเสื่อมแห่งชีวิต ชี้ทางพ้นทุกข์และถึงมรรคผลนิพพานอันเป็นบรมสุขได้อย่างแท้จริง ด้วยพระมหากรุณาคุณอย่างนี้ เป็นการยากนัก  ส่วนในระยะเวลาระหว่างอันตรกัป หรือสุญญกัป คือ กัปที่ว่างจากพระพุทธศาสนานั้น ก็ยาวนานนักหนา สัตว์โลกที่เกิดมาในระหว่างสุญญกัปเช่นนั้นต่างไม่รู้บาปบุญคุณโทษตามที่เป็นจริง ย่อมจะมีแต่ความโกลาหลของบุคคลและสัตว์ผู้ใจบาปหยาบช้า ให้ท่านนึกเปรียบเทียบดูว่า แม้ในระยะเวลาพุทธกาลนี้ ที่ยังมีพระสัทธรรมและพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ คอยให้คำแนะนำสั่งสอนให้รู้ทางเจริญแห่งชีวิตอันควรดำเนิน ให้รู้ทางเสื่อมแห่งชีวิตอันควรงดเว้น ให้รู้บาปบุญ คุณและโทษ สิ่งที่เป็นสาระประโยชน์และที่มิใช่สาระประโยชน์แห่งชีวิต อยู่ทุกวัน อย่างนี้ แม้กระนั้น ก็มีคนสนใจเอาใจใส่ศึกษาประพฤติปฏิบัติตามน้อย เพราะความหลงมัวเมาด้วยอำนาจของกิเลส อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กันมาก ชาวโลกจึงมีแต่ความทุกข์เดือดร้อน เพราะหลงผิดและกระทำกรรมชั่ว ประพฤติผิดศีลผิดธรรมกันมากอย่างนี้ แล้วสัตว์โลกที่เกิดขึ้นในระยะเวลาที่ว่างจากพระพุทธศาสนา ที่ชาวโลกไม่รู้บาปบุญคุณโทษเลย จะโกลาหลสักเพียงไหน ท่านผู้ฟังทั้งหลายลองคาดคะเนนึกวาดภาพเอาเองก็แล้วกัน   แม้อย่างเช่นในยุคปัจจุบันนี้  ก็ยังมีตัวอย่างของคนใจบาป ประพฤติชั่วร้ายให้เห็นเพิ่มมากขึ้น จึงปรากฏข่าวความทุกข์เดือดร้อนของชาวโลก เพิ่มมากขึ้นทุกวัน

เพราะเหตุนั้น บัณฑิตผู้รู้ เมื่อมีโอกาสได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนาแล้ว จึงรีบขวนขวายศึกษาและปฏิบัติพระสัทธรรม ให้รู้แจ้งบาปบุญ คุณโทษ และทางเจริญทางเสื่อมแห่งชีวิตตามที่เป็นจริง แล้วเพียรกำจัดกิเลสเหตุแห่งทุกข์ที่เคยมีอยู่ในจิตสันดาน ให้เบาบางและหมดสิ้นไป เพียรระวังมิให้กิเลสเกิดขึ้นใหม่ เพียรประกอบการบุญกุศลคุณความดีให้เกิดขึ้นในจิตสันดาน และเพียรระวังบุญกุศลที่มีอยู่แล้วมิให้เสื่อม ดำรงตน ปฏิบัติตนอยู่ในศีล ในธรรม อันเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตที่จะให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข เป็นผู้ไม่ประมาทหลงมัวเมาในชีวิต มุ่งปฏิบัติตนไปตามทางอริยมรรคมีองค์ 8 เต็มกำลังสติปัญญา สู่มรรคผลนิพพานที่สิ้นสุดแห่งทุกข์และที่เป็นบรมสุขอย่างถาวร ตามรอยบาทพระพุทธองค์

บัณฑิตผู้มีปัญญาที่ดำรงตน ประพฤติปฏิบัติตนอยู่แต่ในคุณความดี มีศีลมีธรรม ตามพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้า ย่อมจะประสบแต่ความเจริญและสันติสุขในชีวิต และเมื่อเพิ่มพูนบุญกุศลคุณความดีให้ยิ่งยวด เป็นบารมี อุปบารมี ถึงปรมัตถบารมี เพียงใด ก็จะเป็นพลวปัจจัยให้ถึงมรรคผลนิพพาน ที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวงและที่เป็นบรมสุขได้มากเพียงนั้น บัณฑิตผู้มีปัญญา ไม่ประมาทหลงมัวเมาในชีวิต ปฏิบัติตนดำรงตนอยู่แต่ในคุณความดีอย่างนี้ จึงไม่ต้องรอหวังใครผู้ใดอื่น ที่มิใช่ที่พึ่งได้อย่างถาวรแท้จริง ผู้มีปัญญาย่อมรู้แจ้งชัดว่า ตราบใดที่ทำดีตามพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว ย่อมได้รับผลดี เป็นความเจริญและสันติสุข ถ้าทำชั่วหรือบาปอกุศลแล้ว ย่อมได้รับผลเป็นความทุกข์เดือดร้อน เป็นความเสื่อมแห่งชีวิต กล่าวโดยย่อ คือรู้ “กฎแห่งกรรม” ว่าสัตว์โลกเป็นไปตามกรรมและย่อมมั่นใจได้ว่า “ธมฺโม  หเว  รกฺขติ  ธมฺมจารึ”  “ธรรมแล  ย่อมคุ้มครองรักษาผู้ประพฤติธรรม” (ขุ. ชา. ทสก. 27/1421/290) และว่า  “ธมฺมจารี  สุขํ  เสติ”  “ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข” (ขุ. ธ. 25/23/37)  จึงมีศรัทธามั่นคงในคุณพระพุทธ  คุณพระธรรม  และคุณพระสงฆ์   และจึงศึกษาปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่ธรรม ไม่ต้องเชื่อใครอื่น  สำหรับวันนี้ขอยุติการบรรยายธรรมไว้เพียงนี้ก่อน  ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ท่านผู้ฟังทุกท่าน เจริญพร


พระภาวนาวิสุทธิคุณ (เสริมชัย ชยมงฺคโล) ป.ธ.6 เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วันที่ 18 พฤษภาคม 2546

แชร์เลย

Comments

comments

Share: