หลวงปู่ชัยยะ วงศาพัฒนา

หลวงปู่ชัยยะ วงศาพัฒนา (๑)

(พระครูพัฒนากิจจานุรักษ์)

วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ต.นาทราย อ.ลี้ จ.ลำพูน

คัดลอกมาจาก http://www.konmeungbua.com/saha/chaiwangsa.html

ชาติภูมิ

นามเดิม วงศ์ หรือ ชัยวงศ์ นามสกุล ต๊ะแหนม เกิดที่ ตำบลหันก้อ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เกิดเมื่อ วันอังคาร เดือน ๗ (เหนือ) แรม ๒ ค่ำ ปีฉลู ตรงกับวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๔๕๖ เวลา ๒๔.๑๕ นาฬิกา โยมบิดาชื่อ น้อย จันต๊ะ (ถึงแก่กรรม เมื่ออายุ ๔๔ ปี) โยมมารดาชื่อ บัวแก้ว (ถึงแก่กรรม เมื่ออายุ ๗๘ ปี) จำนวนพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๘ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๓ มีน้องต่างบิดาอีก ๑ คน รวมเป็น ๙ คน ดังนี้

๑. เด็กหญิงคำเอื้อย ปัจจุบัน ถึงแก่กรรม

๒. เด็กชายก่องคำ ปัจจุบัน ถึงแก่กรรม

๓. เด็กชายวงศ์ ปัจจุบัน หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา (ถึงแก่มรณภาพ)

๔. เด็กชายคำตั๋ว ปัจจุบัน นายคำตั๋ว

๕. เด็กหญิงบัวผัน ปัจจุบัน ถึงแก่กรรม

๖. เด็กหญิงบัวใย ปัจจุบัน ถึงแก่กรรม

๗. เด็กหญิงเฮือนมูล ปัจจุบัน ถึงแก่กรรม

๘. เด็กชายอินปั๋น ปัจจุบัน ถึงแก่กรรม

๙. เด็กชายหมอก ปัจจุบัน นายหมอก (เคยอุปสมบทกับหลวงปู่)

ชีวิตในวัยเด็ก

 หลวงปู่เกิดในตระกูลชาวไร่ชาวนาที่ยากจน พ่อแม่ของท่านมีสมบัติติดตัวมาแค่นา ๓-๔ ไร่ ควาย ๒-๓ ตัว ทำนาได้ข้าวปีละ ๒๐-๓๐ หาบ ไม่พอกินเพราะต้องแบ่งไว้ทำพันธุ์ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเอาไว้ใส่บาตรทำบุญบูชาพระ ส่วนที่เหลือจึงจะเก็บไว้กินเอง ต้องอาศัยขุยไผ่ขุยหลวกมาตำเอาเม็ดมาหุงแทนข้าวและอาศัยของในป่า รวมทั้งมันและกลอยเพื่อประทั้งชีวิต บางครั้งต้องอดมื้อกินมื้อก็มี แม่ต้องไปขอญาติพี่น้องๆ เขาก็ไม่มีจะกินเหมือนกัน แม่ต้องกลับมามือเปล่าพร้อมน้ำตาบนใบหน้า มาถึงเรือน ลูกๆ ก็ร้องไห้เพราะหิวข้าว แม้ว่าครอบครัวของท่านต้องดิ้นรนต่อสู้กับความอดทนอยาก แต่ก็ไม่ได้ละทิ้งเรื่องการทำบุญให้ทาน ข้าวที่แบ่งไว้ทำบุญ แม่จะแบ่งให้ลูกทุกคนๆ ละปั้นไปใส่บาตร บูชาพระพุทธทุกวันพระ

ชีวิตของ  หลวงปู่ในสมัยเด็กมีความลำบากยากแค้นมาตลอด    หลวงปู่มีนิสัยชอบพึ่งตนเองสิ่งใดที่ทำได้โดยไม่เกินกำลังแล้วจะทำเองทุกอย่าง  ท่านเป็นนักพัฒนา  นักก่อสร้าง  และสนใจในพระพุทธศาสนามาตั้งแต่เล็กๆ  ท่านเล่าให้ฟังว่า  เมื่ออายุประมาณ  ๓  ปี  ท่านชอบเอาดินมาปั้นแต่งเป็นบ้าน  ปั้นวัว  ปั้นควาย  อายุ  ๔-๕  ปี  ชอบปั้นพระพุทธรูป  เอาข้าวเปลือกมาตบแต่งทำพระเนตรแล้วก็กราบไหว้เอง  

อายุ  ๕-๖  ปี  พอที่จะช่วยโยมพ่อโยมแม่ทำงานได้  ในขณะนั้นโยมพ่อโยมแม่ไปทำนาซึ่งอยู่ห่างไกลจากบ้าน  ระหว่างที่ข้าวออกรวง  หลวงปู่ต้องไปไล่นกไม่ให้มากินข้าวที่ทำไว้ เวลาไปต้องไปแต่เช้า  กว่าจะกลับก็มืดค่ำ  ข้าวบางวันก็ได้กินบางวันก็ไม่ได้กิน  เที่ยวเสาะหาอาหารตามป่าเขากินพอประทังชีวิตไปวันหนึ่งๆ  

อายุ  ๗-๑๒  ปี  ท่านได้ไปหาบดินซึ่งเป็นขี้ค้างคาวในถ้ำกับโยมพ่อ  นำมาทำเป็นดินปืนสำหรับทำบ้องไฟ  (ทางเหนือเรียกดินไฟ)  วิธีทำโดยการนำดินเหล่านี้ผสมกับขี้เถ้าแล้วเคี่ยวให้เข้ากัน เงินที่ได้เอามาซื้อแลกข้าวซึ่งในขณะนั้นราคาประมาณถังละ  ๘๐  สตางค์  นับว่ามีราคาแพงมาก สมัยนั้น  ๗ -๘  วัน  ได้กินข้าวเท่ากำมือหนึ่งก็ดีมากแล้ว

มีอยู่ครั้งหนึ่งโยมพ่อพาลูกๆ  ออกไปทำไร่  โยมแม่ได้นำอาหารกลางวันมาส่งให้ซึ่งประกอบด้วยขนุนที่ยังดิบอยู่นำมาต้มให้สุก  พริกตำห่อด้วยใบตองห่อใหญ่และข้าวห่อเล็กๆ  ห่อหนึ่ง  โยมพ่อเรียกลูกๆ ทุกคนมานั่งรวมกันแล้วแบ่งปันอาหารให้กิน  หลังจากกินอาหารเรียบร้อยแล้วโยมพ่อจึงอบรมสั่งสอนลูกๆ ว่า

“ตอนนี้พ่อแม่อด ลูกทุกคนก็อด แต่ลูกๆ ทุกคนอย่าท้อแท้ใจ ค่อยทำบุญ ไปเรื่อยๆ บุญมี ภายหน้าก็จะสบาย”

แล้วท่านชี้มือมาที่ หลวงปู่  และกล่าวว่า

“ลูกเอ๋ยเราทุกข์ขนาดนี้เชียวหนอ ข้าวจะกินก็ไม่มี ต้องกินไปอย่างนี้ ค่อยอดค่อยกลั้นไปบุญมีก็ไม่ถึงกับอดตายหรอก ทรมานมานานแล้วถึงวันนี้ก็ยังไม่ตาย มันจะตายก็ตายไม่ตายก็แล้วไป ให้ลูกอดทนไปนะ ภายหน้าถ้าพ่อยังไม่ตายเสียก่อนก็ดีตายไปแล้วก็ดี บางทีลูกจะได้ ‘นั่งขดถวาย หงายองค์ตีน (บวช)’ กินข้าวดีๆ อร่อยๆ พ่อนี่จะอยู่ทันเห็นหรือไม่ทันก็ยังไม่รู้”

หลังจากโยมพ่อได้อบรมสั่งสอนลูกๆ  ได้สักพักหนึ่งต่างก็แยกทางกันไปทำงาน

เป็นผู้มีความขยันและอดทน

ในสมัยที่ท่านยังเล็กๆ อายุ ๓-๔ ขวบ ท่านมีโรคประจำตัวคือโรคลมสันนิบาต ลมเปี่ยวลมกัง ต้องนั่งทุกข์อยู่เป็นวันเป็นคืน เดินไปไกลก็ไม่ได้ วิ่งก็ไม่ได้เพราะลมเปี่ยว ตะคริวกินขากินน่อง เดินเร็วๆ ก็ไม่ได้ ต้องค่อยไปค่อยยั้ง เวลาอยู่บ้านต้องคอยเลี้ยงน้อง ตักน้ำติดไฟไว้คอยพ่อแม่ที่เข้าไปในป่าหาอาหาร

ในช่วงที่ท่านมีอายุได้ ๕-๑๐ ขวบ ท่านต้องเป็นหลักในบรรดาพี่น้องทั้งหมดที่ต้องช่วยงานพ่อแม่มากที่สุด เวลาพ่อแม่ไปไร่ไปนาก็ไปด้วย เวลาพ่อแม่ไปหากลอบขุดมัน หาลูกไม้ในป่า ท่านก็ไปช่วยขุดช่วยหาบกลับบ้าน บางครั้งพ่อแม่หลงทางเพราะไปหากลอยตามเนินดอยเนินเขา กว่าจะหากลอยได้เต็มหาบก็ดึก ขากลับพ่อแม่จำทางไม่ได้ ท่านก็ช่วยพาพ่อแม่กลับบ้านจนได้

ครั้นถึงหน้าฝน พ่อแม่ออกไปทำนา ท่านก็ติดตามไปช่วยทุกอย่าง พ่อปั้นคันนาท่านก็ช่วยพ่อ พ่อไถนาท่านก็คอยจูงควายให้พ่อ เวลาแม่ปลูกข้าวก็ช่วยแม่ปลูกจนเสร็จ

เสร็จจากหน้าทำนา ท่านก็จะเผาไม้ในไร่เอาขี้เถ้า ไปขุดดินในถ้ำมาผสมทำดินปืนไปขาย ได้เงินซื้อข้าวและเกลือ บางครั้งก็ไปอยู่กับลุงน้อยเดชะรับจ้างเลี้ยงควาย บางปีก็ได้ค่าแรงเป็นข้าว ๒-๓ หาบ บางปีก็เพียงแต่ขอกินข้าวกับลุงพอตุนท้องตุนไส้ไปวันๆ

พอถึงเวลาข้าวออกรวง นกเขาจะลงกินข้าวในนา ท่านก็จะขอพ่อแม่ไปเฝ้าข้าวในนาตั้งแต่ เช้ามืด กว่าจะกลับก็ตะวันลับฟ้าไปแล้ว

เป็นผู้มีความกตัญญู

 หลวงปู่มีความกตัญญูมาตั้งแต่เด็ก ท่านช่วยพ่อแม่ทำงานต่างๆ ทุกอย่างเท่าที่ทำได้ ตั้งแต่อายุได้ประมาณ ๕ ขวบ ท่านก็ช่วยพ่อแม่เฝ้านาเลี้ยงน้อง ตลอดจนช่วยงานทุกอย่างของพ่อแม่ เมื่อเวลาที่พ่อแม่หาอาหารไม่ได้ ท่านก็จะไปรับจ้างชาวบ้าน แถบบ้านก้อ ทำความสะอาด หรือช่วยเฝ้าไร่นา เพื่อแลกกับข้าวปลาอาหารมาให้พ่อแม่และน้องๆ กิน

ในบางครั้ง อาหารที่ได้มา หรือที่พ่อแม่จัดหาให้ ไม่เพียงพอกับคนในครอบครัว ด้วยความที่ท่านมีนิสัยเสียสละ และไม่ต้องการให้พ่อแม่ต้องเจียดอาหารของท่านทั้งสอง ซึ่งมีน้อยอยู่แล้ว ออกมาให้ท่านอีก ท่านจึงได้บอกว่า “กินมาแล้ว” เพื่อให้พ่อแม่สบายใจ แต่พอลับตาผู้อื่น หรือเมื่อผู้อื่นในบ้านหลับกันหมดแล้ว ท่านก็จะหลบไปดื่มน้ำ หรือบางครั้งจะหลบไปหาใบไม้ที่พอจะกินได้มาเคี้ยวกิน เพื่อประทังความหิวที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้เขียนได้รับฟังมาจากน้องของท่านว่า

“หลวงพ่อเติบโตขึ้นมาโดยพ่อแม่เลี้ยงข้าวท่านไม่ถึง ๑๐ ถัง แต่ท่านในสมัยเป็นเด็ก กลับหาเลี้ยงพ่อแม่ มากกว่าที่พ่อแม่หาเลี้ยงท่าน”

ชอบลองใจ

ปกติท่านมักจะหาเวลาว่างไปทำบุญ ช่วยเหลือการงานที่วัดก้อจอก ซึ่งอยู่ใกล้บ้านเสมอ ครั้งหนึ่ง ท่านได้ชวนผู้เฒ่าคนหนึ่ง ซึ่งโดยปกติไม่ชอบไปวัดทำบุญ แต่ชอบยิงนกตกปลาเป็นประจำ และมักจะมีข้ออ้างเสมอ เมื่อถูกชวนไปวัด คราวนี้แกก็ปฏิเสธเช่นเคย โดยอ้างว่า เท้าเจ็บไปไหนไม่ได้ ท่านอยากจะลองดูซิว่าเท้าแกเจ็บจริงหรือไม่ เมื่อท่านเดินออกไปได้สักระยะหนึ่ง ก็ทำเสียงอีเก้งร้อง เมื่อร้องครั้งแรก ผู้เฒ่าคนนั้นก็ยกหัวขึ้นมาดู (ขณะนั้นนอนทำเป็นป่วยอยู่) หันซ้ายหันขวามองตามเสียงอีเก้งร้อง

เมื่อแกได้ยินเสียงร้องครั้งที่สอง ก็ลุกนั่งมีอาการอยากจะออกไปยิงอีเก้ง พอได้ยินเสียงร้องครั้งที่สาม ผู้เฒ่าทนไม่ไหวลุกขึ้นไปหยิบเอาปืนจะออกไปยิงอีเก้งตัวนี้เสียทันทีทันใด จนท่านเห็นแล้วต้องรีบวิ่งหนี เพราะกลัวจะโดนลูกหลง

มีนิสัยกล้าหาญ

เมื่อท่านอายุได้ประมาณ ๑๐ ขวบ ท่านต้องออกไปเฝ้านาข้าว เพื่อคอยไล่นกที่จะมากินข้าวในนา ท่านต้องออกจากบ้านตั้งแต่ตี ๔ ยังไม่สว่าง นกยังไม่ตื่นออกหากิน การที่ท่านต้องออกไปไร่นาแต่เพียงลำพังคนเดียวเป็นประจำ ทำให้ลุงตาลซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของท่าน อดสงสัยไม่ได้ จนต้องเข้ามาถามท่าน

ลุงตาล : มึงนี้เป็นผีเสือหรือไร แจ้งมา กูก็เห็นมึงที่นี่ มึงไม่ได้นอนบ้านหรือ

ด.ช.วงศ์ : เมื่อนกหนูนอนแล้ว ข้าจึงกลับไปบ้าน เช้ามืดไก่ขันหัวที ยังบ่แจ้ง นกยังบ่ลงบ่ตื่น ข้าก็มาคนเดียว

ลุงตาล : ไม่กลัวเสือ ไม่กลัวผีป่าหรือ?

ด.ช.วงศ์ : ผีเสือมันก็รู้จักเรา มันไม่ทำอะไรเรา เราเทียวไปเทียวมา มันคงรู้ และเอ็นดูเรา บางวันตอนเช้าเราเห็นคนเดินไปข้างหน้าเราก็เดินตามก็ไม่ทัน จนถึงไร่มันก็หายไปเราก็เข้าใจว่ามันไปส่งเรา เราก็ไม่กลัว บางเช้าก็ได้ยินเสียงเสือร้องไปก่อนหน้า

ลุงตาล : ไม่กลัวเสือหรือ ?

ด.ช.วงศ์ : เราไม่กลัว มันเป็นสัตว์เราเป็นคน มันไม่รังแกเรา มันคงสงสารเรา ที่เป็นทุกข์ยาก มันคงจะมาอยู่เป็นเพื่อน เราจะไปจะมาก็ขอเทวดา ที่รักษาป่า ช่วยรักษาเรา เราจึงไม่กลัว

ลุงตาล : มึงเก่งมาก กูจักทำตามมึง

ด.ช.วงศ์ : เราไม่ได้ทำอะไรมัน มันก็ไม่ทำอะไรเรา มันไม่รังแกเรา เราคิดว่าคนที่ใจบาปไปเสาะหาเนื้อในป่า กินกวางกินเก้งกินปลา เสือก็ยังไม่กัดใครตายในป่าสักคน เวลาเราจะลงเรือน เราก็ขอให้บุญช่วยเรา

ลุงตาล : มึงยังเด็ก อายุไม่ถึง ๑๐ ขวบ มืด ๆ ดึก ๆ ก็ไม่กลัวป่า ไม่กลัวเถื่อน ไม่กลัวผีป่า ผีพง ไม่กลัวช้าง กูยอมมึงแล้ว

มีปัญญาพิจารณาเห็นทุกข์

ขณะที่ท่านนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ในป่าคนเดียวตามลำพัง ท่านได้เปรียบเทียบชีวิตท่านกับสัตว์ป่า ทั้งหลายว่า

“นกทั้งหลายต่างก็หากินไปไม่มีที่หยุดต่างก็เลี้ยงตัวเองไปตามประสามันก็ยังทนทานไปได้ ตัวเราค่อยอดค่อนทนไปก็ดีเหมือนกัน สัตว์ทั้งหลายก็ทุกข์ยากอย่างเรา เราก็ทุกข์ยากอย่างเรา สัตว์ในโลกก็ทุกข์เหมือนกันทุกอย่าง เราไม่ควรจะเหนื่อยคร้าน ค่อยอดค่อยทนตามพ่อแม่นำพาไป”

เป็นผู้มีพรหมวิหารสี่

 หลวงปู่มีความเมตตากรุณาและพรหมวิหารสี่มาแต่เยาว์วัยอย่างหาที่เปรียบมิได้ เพื่อนของ หลวงปู่ตั้งแต่สมัยนั้นเล่าว่า เมื่อสมัยที่ท่านเป็นเด็กระหว่างทางไปหาของหรืออาหารป่า ทุกครั้งที่เห็นสัตว์ถูกกับดักของนายพราน ท่านจะปล่อยสัตว์เหล่านั้นให้มีอิสรภาพเสมอ แล้วจะหาสิ่งของมาทดแทนให้กับนายพราน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับชีวิตของมัน

ครั้งหนึ่งท่านเห็นตัวตุ่นถูกกับดักนายพรานติดอยู่ในโพรงไม้ไผ่ ด้วยความสงสารท่านจึงปล่อยตัวตุ่นนั้นไป แล้วหยิบหัวมันที่หามาได้จากในป่า ซึ่งตั้งใจไว้ว่าจะนำไปให้พ่อแม่และน้อง ๆ กิน ใส่เข้าไปในโพรงไม้นั้นแทน เพื่อเป็นการชดใช้แลกเปลี่ยนกับชีวิตของตัวตุ่นนั้น

ต่อมามีอยู่วันหนึ่ง ท่านไปพบปลาดุกติดเบ็ดของชาวบ้านที่นำมาปักไว้ที่ห้วย ท่านเห็นมันดิ้นทุรนทุรายแล้วเกิดความสงสาร เวทนาปลาดุกตัวนั้นมาก จึงปลดมันออกจากเบ็ด แล้วเอาหัวผักกาดที่ท่านทำงานแลกมา ซึ่งตั้งใจไว้ว่าจะนำไปให้พ่อแม่และน้อง ๆ กิน มาเกี่ยวไว้แทนเป็นการแลกเปลี่ยนชีวิตปลาดุกนั้น  หลวงปู่ได้เมตตาบอกถึงเหตุผลที่กระทำเช่นนั้นว่า ในเวลานั้นท่านมีความเวทนาสงสาร สัตว์เหล่านั้นจึงได้ช่วยชีวิตของมันไว้ ท่านมักจะสั่งสอนลูกศิษย์อยู่เสมอว่า “ชีวิตของใคร ๆ ก็รักทั้งนั้น เราทุกคนควรจะเมตตาตนเอง และเมตตาผู้อื่นอยู่เสมอโลกนี้จะได้มีความสุข”

ด้วยความที่ท่านเป็นผู้ที่ไม่ชอบการผิดศีลมาตั้งแต่สมัยเด็ก เมื่อท่านเห็นว่าคนอื่นจะผิดศีล ข้อปาณาติบาต (การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต) ก็รู้สึกสงสารทั้งผู้ทำปาณาติบาตและผู้ถูกปาณาติบาต ซึ่งท่านไม่อยากเห็นพวกเขามีเวรมีกรรมกันต่อไป แต่ในขณะเดียวกันท่านก็ไม่ต้องการให้ตัวเองต้องผิดศีลโดยไปลักขโมยของผู้อื่น ซึ่งในเวลานั้นท่านไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี ท่านจึงต้องหาสิ่งของมาตอบแทนให้กับเขา แต่ในบางครั้งก็ไม่มีสิ่งของมาแลกกับชีวิตของสัตว์เหล่านั้นเหมือนกัน แต่ท่านก็สามารถจะช่วยมันได้โดยปล่อยมันให้เป็นอิสระ แล้วท่านจะนั่งรอนายพราน จนกว่าเขาจะมา และก็ขอเอาตัวเอง ชดใช้แทน ซึ่งท่านได้เล่าว่า บางคนก็ไม่ถือสาเอาความ แต่บางคนก็ให้ไปทำงานหรือทำความสะอาด ทดแทนกับที่ท่านไปปล่อยสัตว์ที่เขาดักไว้ แต่ไม่เคยมีใครทำร้ายทุบตีท่าน อาจจะมีบ้างก็เพียงแต่ว่ากล่าวตักเตือน

ในปัจจุบันนี้ก็เช่นกัน    หลวงปู่ชอบปล่อยสัตว์  ปล่อยปลามาก  มีอยู่หลายแห่งที่ท่านไปโปรดญาติโยม  แล้วญาติโยมซื้อสัตว์มาให้ท่านปล่อย  สัตว์พวกนี้ดีใจมากเมื่อปล่อยให้มันเป็นอิสรภาพ  ขณะที่ท่านปล่อยสัตว์โดยเฉพาะสัตว์น้ำ  เช่น  ปลาช่อน  ปลาดุก  ปลาหมอ  เหมือนหนึ่งว่ามันไม่อยากจากท่านไป เมื่อท่านให้ศีลให้พรจะดำผลุบดำโผล่อยู่ที่หน้าท่านเป็นเวลานาน  บางตัวก็ขึ้นมานอนสงบนิ่งเพื่อรับพรจากท่าน  บางตัวขึ้นมาเคล้าเคลียที่เท้าของท่านที่จุ่มลงในน้ำ แสดงถึงความรักและความเมตตาจิตที่ได้รับจากท่าน และสมัยเมื่อท่านจำพรรษาอยู่ป่าแม่ระได้  ๔  ปี  ช้างจะมาล้อมฟังเสียงสวดมนต์ทุกเช้า  เมื่อฟังจบแล้วต่างก็แยกย้ายกันไปหากิน  เมื่อ หลวงปู่ตีระฆัง ช้างก็จะมาขอกินข้าว  หลังจากได้กินข้าวแล้ว ก่อนจากไปช้างที่เป็นหัวหน้าจะครางฮือๆ  เพื่อแสดงความเคารพและขอบคุณ  แม้แต่เสือก็ยังมีความเกรงใจ  คือถ้าเสือเดินมาในระยะไกลๆ  มันจะร้องมาเรื่อย  เมื่อเดินเข้ามาใกล้ที่ หลวงปู่พักอยู่มันจะไม่ร้อง  จะร้องอีกต่อเมื่อออกห่างไปไกล

ท่านได้พูดกับผู้เขียนว่า “แม้ว่าบางครั้งจะต้องทำงานหนักเพื่อใช้ชีวิตของสัตว์ที่ท่านได้ปล่อยไป แต่ท่านก็รู้สึกยินดีและปิติใจเป็นอันมากที่ได้ทำในสิ่งที่ดีงามเหล่านี้ “

กินอาหารมังสวิรัติ

เมื่อท่านอายุได้ ๑๒ ปี ท่านได้พบเหตุการณ์สำคัญที่ทำไม่อยากจะกินเนื้อสัตว์นั้นเลยนับแต่นั้นมา กล่าวคือ มีครั้งหนึ่งท่านได้เห็นพญากวางใหญ่ถูกนายพรานยิง แทนที่พญากวางตัวนั้นจะร้องเป็นเสียงสัตว์ มันกลับร้องโอย โอย ๆ ๆ ๆ เหมือนเสียงคนร้อง แล้วสิ้นใจตายในที่สุด และเมื่อท่านไปอยู่กับครูบาชัยลังก๋าซึ่งไม่ฉันเนื้อสัตว์  หลวงปู่จึงงดเว้นอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ตั้งแต่นั้นมา อีกประการหนึ่ง

อาจเป็นด้วยบุญบารมีที่ท่านได้สร้างสมมาแต่อดีตชาติ ประกอบกับได้เห็นความทุกข์ยากของสัตว์ต่าง ๆ ที่ถูกทำร้าย จึงทำให้ท่านเกิดความสลดใจอยู่เสมอ ท่านจึงตั้งจิตอธิษฐานถึงคุณพระศรีรัตนตรัยตั้งแต่นั้นมาว่า

“จะไม่ขอเบียดเบียนชีวิตผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์และจะไม่ขอกินเนื้อสัตว์อีกต่อไป”

ท่านเมตตาสอนว่า

“สรรพสัตว์ทั้งหลายย่อมรักและหวงแหนชีวิตของมันเอง เราทุกคนไม่ควรจะเบียดเบียนมัน มันจะได้อยู่อย่างเป็นสุข”

และท่านยังพูดเสมอว่า

“ท่านต้องการให้ศีลของท่านบริสุทธิ์ขึ้นไปเรื่อย ๆ “

สัตว์ทุกตัวมันก็รักชีวิตของมันเหมือนกัน เมื่อเราฆ่ามันตายเพื่อกินเนื้อมัน จิตของมันไปที่สำนักพญายม ก็จะฟ้องร้องว่าคนนั้นฆ่ามันตาย คนนี้กินเนื้อของมัน ถึงแม้จะไม่ได้ฆ่า คนกินก็เป็นจำเลยด้วย ก็ย่อมต้องได้รับโทษ แต่จะออกมาในรูปของการเจ็บไข้ได้ป่วย และความไม่สบายต่าง ๆ ซึ่งเจ้าตัวไม่รู้สึก เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา

บรรพชาเป็นสามเณร

ครูบาชัยลังก๋า

เมื่อ  หลวงปู่อายุได้  ๑๒  ปี  ด้วยผลบุญที่ท่านได้บำเพ็ญมาตั้งแต่ปางก่อนในอดีตชาติ และได้รับการอบรมสั่งสอนจากพระสงฆ์ครูบาอาจารย์ในชาตินี้ จึงดลบันดาลให้ท่านมีความ เบื่อหน่ายต่อชีวิตทางโลก อันเป็นทุกขัง อนิจจัง อนัตตา แห่งนี้ ท่านจึงได้รบเร้าขอให้พ่อแม่พาท่านไปบวช เพื่อท่านจะได้บำเพ็ญธรรมะขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อบิดามารดาได้ฟัง ก็เกิดความปิติยินดีเป็นยิ่งนัก โยมพ่อจึงนำท่านไปฝากไว้ที่วัดกับหลวงอา และในปีนี้เองโยมพ่อก็เสียชีวิตลง  หลังจาก  หลวงปู่มาอยู่วัดได้เพียง ๑  เดือน  โยมพ่อของท่านจึงไม่มีโอกาสเห็นท่าน “นั่งขดถวายหงายองค์ตีนกินข้าว” จริงตามที่เคยพูดไว้   หลวงปู่ศึกษาเล่าเรียนอยู่  ๘  เดือน  เมื่อท่านอายุย่าง ๑๓ ปี (พ.ศ. ๒๔๖๘) จึงได้บวชเป็นสามเณรกับครูบาชัยลังก๋า  (ซึ่งเป็นพระธุดงค์กรรมฐานรุ่นพี่ของครูบาศรีชัย) ครูบาชัยลังก๋าได้ตั้งชื่อให้ท่านใหม่หลังจากเป็นสามเณรแล้วว่า “สามเณรชัย ลังก๋า” เช่นเดียวกับชื่อของครูบาชัยลังก๋า

มีความเคารพเชื่อฟัง

     ท่านเป็นผู้ที่มีความขยันหมั่นเพียรและเคารพเชื่อฟังครูบาอาจารย์ตลอดจนผู้สูงอายุ จึงทำให้ครูบาอาจารย์และผู้เฒ่าผู้แก่รักใคร่เอ็นดูมาก จนเป็นเหตุทำให้เพื่อนเณรบางคนพากันอิจฉาริษยา หาว่าท่านประจบครูบาอาจารย์ และถูกกลั่นแกล้งรังแกอยู่เสมอ  ระหว่างศึกษาเล่าเรียนภาษาล้านนา ท่านมักจะโดนครูที่สอนตีเป็นประจำ  อ่านหนังสือแทบทุกตัวอักขระไม่ว่าเล็กๆ น้อยๆ   เช่นอ่านไม่ออกก็โดนทุบโดนตีเหมือนอย่างวัว อย่างควาย  บางครั้งโดนตีด้วยแซ่จนเป็นรอยเต็มไปหมด  ไม่ว่าจะที่ต่ำที่สูง  บางทีก็โดนสันขวานทุบตีที่หัว  เช่น  อ่านหนังสือว่า  กะ  ขะ  ก๊ะ  เมื่ออ่านผิดก็โดนตี  ๑  ครั้ง

ท่านเล่าให้ฟังว่า ตาสองข้างลายพร่าไปหมด  มีอาการเหมือนคนมึนงง  ต้องถูกตีถอนพิษอีก ๑  ครั้งจึงจะหาย 

ถ้าสังเกตให้ดีแล้ว ศีรษะของ  หลวงปู่จะไม่สวยเนื่องจากมีร่องรอยการถูกตีนี่เอง   หลวงปู่คิดอยู่ในใจเสมอว่าครูพวกนี้ขาดความเมตตา  ถ้าท่านได้มีโอกาสเป็นครูเขาแล้วจะค่อยๆ สอน จะไม่ทุบไม่ตีใคร

เมื่อใดที่ท่านอยู่ห่างจากครูบาอาจารย์เป็นต้องถูกรังแกเสมอ ทำให้การอยู่ปรนนิบัติติดตามครูบาอาจารย์เป็นไปอย่างไม่มีความสุข เมื่อยามหลับนอนบางครั้งก็โดนเอาทรายมากรอกปากบ้าง เอาไฟเผามือเผาเท้าบ้าง (ไฟเย็น) ไปฟ้องก็ไม่ได้ ถูกรุมตี ไปทางครูครูตี  มาหาเพื่อนเพื่อนตี  เวลาฉันเข้าก็ฉันไม่ได้มากเพราะถูกรังแก  ระหว่างฉันอยู่ถูกพระเณรองค์โน้นบ้างองค์นี้บ้างหยิบเอาข้าวเอากับในสำรับไปกิน  ท่านถูกกลั่นแกล้งทุกอย่างแต่ก็ด้วยขันติบารมีอย่างยิ่งของท่าน  จึงสามารถฟันฝ่าอุปสรรคได้ตลอดมา  

ครั้งหนึ่งในขณะที่ท่านกำลังฉันข้าวอยู่  พวกที่เป็นศัตรูกับท่านได้นำเอากระโถนของครูบาก๋า ซึ่งท่านถ่มน้ำมูกน้ำลายเอาไว้มาวางรวมในสำรับกับข้าวที่ท่านฉัน  แล้วหัวเราะด้วยความภูมิใจ    หลวงปู่ท่านฉันโดยไม่รู้สึกรังเกียจและคิดจะให้พวกเหล่านี้เห็นถึงความจงรักภักดีที่ท่านมีต่อครูบาอาจารย์  ท่านได้นำอาหารบ้างข้าวบ้างจิ้มลงไปในกระโถน  แล้วหยิบขึ้นมาฉันอย่างปกติ  ผู้ที่แกล้งท่านต่างอาเจียนไปตามๆ กันด้วยความรังเกียจ  และโดยปกติแล้ว  หลวงปู่มักจะดื่มน้ำล้างกระโถนของครูบาก๋าเป็นประจำ  โดยการเทน้ำมูกน้ำลายทิ้งเสียก่อนครั้งหนึ่ง  จากนั้นเอาน้ำเปล่าเทผสมลงไปกับน้ำมูกน้ำลายที่ยังติดคราบกระโถนอยู่  ก่อนดื่มท่านอธิษฐานจิตขอให้เป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาดยิ่งๆ  ขึ้นไป

ด้วยความเคารพกตัญญูต่อครูบาอาจารย์ และต้องการที่จะปฏิบัติธรรมกรรมฐานเพื่อมรรคผลพระนิพพาน ท่านจึงได้ใช้ขันติและให้อภัยแก่พระเณรเหล่านั้น ที่ไม่รู้สัจธรรมในเรื่องกฎแห่งกรรม ที่องค์สมเด็จพระชินสีห์ได้กล่าวไว้ว่า “ทำความดี ได้ดี ทำความชั่ว ผลแห่งความชั่ว ย่อมตอบสนองผู้นั้น”

พบชายชราลึกลับ

เพื่อนพระสงฆ์ที่เคยอยู่ร่วมกันกับท่านในสมัยเป็นเณรได้เล่าว่า “หลวงพ่อวงศ์เป็นผู้มีขันติและอภัยทานสูงส่งจริงๆ ” ครั้งหนึ่งท่านเคยถูกเณรองค์อื่น (ซึ่งไม่ควรจะถือว่าเป็นพระหรือเณร) เอาน้ำรักทาไว้บนที่นอนของท่าน ในสมัยนั้นยังไม่มีไฟฟ้า และเทียนก็หาได้ยาก ท่านจึงมองไม่เห็น เมื่อท่านนอนลงไป น้ำรักก็ได้กัดผิวหนังของท่านจนแสบจนคัน ท่านจึงได้เกาจนเป็นแผลไปทั้งตัว ไม่นานแผลเหล่านั้นก็ได้เน่าเปื่อยขึ้นมา จนทำให้ท่านได้รับทุกขเวทนามาก แต่ด้วยความที่ท่านเป็นคนดีมีธรรมะเมตตา ให้อโหสิกรรมกับผู้อื่น ท่านจึงใช้ขันติข่มความเจ็บปวดเหล่านั้นโดยไม่ปริปากหรือกล่าวโทษผู้ใด

ทุกครั้งที่ครูบาอาจารย์ถาม ท่านก็ไม่ยอมที่จะกล่าวโทษใครเลย เพียงเรียนไปว่า ขออภัยให้กับพวกคนเหล่านั้นเท่านั้น และขอยึดเอาคำของครูบาอาจารย์มาปฏิบัติ เพื่อจะได้ไม่มีเวรกรรมกันต่อไปในอนาคต และเพื่อความหลุดพ้นจากวัฎสงสารแห่งนี้เข้าสู่นิพพาน ดังที่ครูบาอาจารย์ได้อบรมสั่งสอนมาด้วยความยากลำบาก ในการที่จะให้ลูกศิษย์ลูกหาเป็นคนดีและเป็นพระสงฆ์เนื้อนาบุญของ พุทธบริษัทต่อไป

ด้วยผลบุญที่ท่านได้สั่งสมมาแต่อดีตถึงปัจจุบัน จึงดลบันดาลให้มีชายชราชาวขมุ นำยามาให้ท่านกินให้ท่านทา เป็นเวลา ๓ คืน เมื่อท่านหายดีแล้ว ชายชราผู้นั้นก็ได้กลับมาหาท่าน และได้พูดกับท่านว่า

“เป็นผลบุญของเณรน้อยที่ได้สร้างสมมาแต่อดีตถึงปัจจุบันไว้ดีมากและมีความกตัญญูเคารพเชื่อฟังพ่อแม่ครูบาอาจารย์ดีมากจึงทำให้แผลหายเร็ว ขอให้เณรน้อยจงหมั่นทำความดีปฏิบัติธรรมและเคารพเชื่อฟังครูบาอาจารย์ต่อไป อย่าได้ท้อถอยไม่ว่าจะมีมารมาขัดขวางอย่างไรก็ดี ขอเณรน้อยใช้ความดีชนะความไม่ดีทั้งหลายต่อไปในภายภาคหน้า สามเณรน้อยจะได้เป็นพระสงฆ์เนื้อนาบุญของพุทธบริษัทต่อไป”

เมื่อชายชราผู้นั้นกล่าวจบแล้ว จึงได้เดินลงจากกุฏิที่ท่านพักอยู่ สามเณรชัยลังก๋านึกได้ ยังไม่ได้ถามชื่อแซ่ของชายชราผู้มีพระคุณ จึงวิ่งตามลงมา แต่เดินหาเท่าไรก็ไม่พบชายชราผู้นั้น ท่านจึงได้สอบถามผู้คนที่อยู่ในบริเวณนั้น ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่พบเห็นชายชราเช่นนี้มาก่อนเลย นอกจากเห็นท่านนอนอยู่องค์เดียวในกุฏิ จากคำพูดของคนเหล่านี้ ทำให้ท่านประหลาดใจมาก เพราะท่านได้พูดคุยกับชายชราผู้นั้นถึง ๓ คืน ทุกครั้งที่ชายชราผู้นี้มาทายา และทำยาให้ท่านกินเหตุการณ์นี้ ทำให้ท่านคิดว่าชายชราผู้นั้น ถ้าไม่เป็นเทพแปลงกายมา ก็อาจจะเป็นผู้ทรงศีลที่บำเพ็ญอยู่ในป่าจนได้อภิญญา

เรื่องการกลั่นแกล้งจากพระเณรต่าง ๆ เหล่านี้ เมื่อท่านได้มีโอกาสกราบเรียนให้ครูบาก๋าทราบ  ครูบาก็เมตตาสั่งสอนว่า

“เณรน้อยให้อดทนไว้ที่ถูกกลั่นแกล้งเช่นนี่  ก็เพราะเป็นเวรกรรมที่เคยทำไว้ในอดีต  ถ้าผูกเวรกันแล้วก็จะไม่มีวันพ้นทุกข์ไปได้  กรรมใดใครก่อกรรมนั้นย่อมตามสนอง เณรน้อยควรรู้จักการให้อภัยเสียแต่บัดนี้  ต่อไปภายหน้าเณรน้อยก็จะสบาย”

ครูบาชัยลังก๋ามักลูบหัวของท่านด้วยความรักเอ็นดู และสั่งสอนให้ด้วยความเมตตาอยู่เสมอว่า

“มันเป็นกรรมเก่าของเณรน้อย ตุ๊ลุงขอให้เณรน้อยใช้ขันติและความเพียรต่อไป เพื่อโลกุตตรธรรมอันยิ่งใหญ่ในภายหน้า เมื่อถึงเวลานั้นแล้วทุกคนที่เคยล่วงเกินเณรน้อย เขาจะรู้กรรมที่ได้ล่วงเกินเณรน้อยมา”

ครูบาชัยลังก๋า

(ปฐมอาจารย์ของหลวงปู่องค์แรก) 

ครูบาชัยลังก๋า

ครูบาชัยลังก๋าเป็นพระอาจารย์องค์แรกของหลวงปู่  ท่านเป็นผู้มีศีลาจารวัตรงดงาม อบรมสั่งสอนทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ให้ประพฤติอยู่ในศีลในธรรม  แต่ท่านจะเลือกสั่งสอนเฉพาะผู้ที่ควรจะเมตตาได้เท่านั้น  ดังมีเรื่องอยู่หลายครั้งตามที่ได้รับฟังมาว่า  ท่านสามารถหยั่งรู้ถึงเหตุการณ์ในภายหน้าได้ว่า ใครบ้างจะมาหาท่าน มาดีมาร้ายอย่างไร  ถ้าผู้ใดมีจิตปรารถนาที่ดีต้องการมาเพื่อทำบุญทำทานรักษาศีลฟังธรรม  ท่านจะต้อนรับด้วยความยินดีและเมตตาสั่งสอนให้สำเร็จสมความมุ่งหมายที่ได้ตั้งใจ  แต่ถ้าต้องการมาพบในทางที่ไม่ชอบแล้ว  ท่านจะหลบเข้าป่าไม่ให้พบตัว จนกว่าพวกนี้กลับไป ท่านจึงจะออกมา  ท่านไม่มีกำหนดเวลาว่าจะเข้าป่าเมื่อไหร่  บางครั้ง  ๕  ทุ่ม  เที่ยงคืน  ตี  ๑  ตี  ๒  ถ้าท่านต้องการจะไปแล้ว  หลวงปู่ต้องเตรียมตัวให้ทันตามที่ท่านปรารถนา  บางครั้งก็ไม่ได้ฉันอาหารเพราะไปอดอยู่ในป่า

 ครูบาชัยลังก๋า  มักจะพาหลวงปู่ออกเดินธุดงค์ไปตามป่าเขาเสมอ  การเดินป่าต้องมีความเคารพต่อสถานที่และเจ้าป่าเจ้าเขา  เช่นการตัดไม้ผ่าฟืนจะทำเหมือนอยู่ตามบ้านไม่ได้  เมื่อตัดไม้แล้วต้องเดินไปวางกองรวมกันให้เรียบร้อย จะโยนไปรวมกันไม่ได้  ไม้มีขนาดใหญ่ไม่สามารถแบกมาได้ ต้องตัดแบ่งเป็นท่อนเล็ก ๆ แล้วแบกมา  จะถือลากมาตามพื้นก็ไม่ได้

มีอยู่ครั้งหนึ่งหลวงพ่อได้เข้าไปตัดไม้ในป่าแล้วนำออกมาโดยลากมาตามพื้น  ซึ่งการทำเช่นนี้ถือว่าเป็นการไม่เคารพสถานที่เจ้าป่าเจ้าเขา  และในคืนนั้นเองเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็บังเกิดขึ้นคือ  หลวงปู่มีอาการเริ่มป่วยครึ่งหลับครึ่งตื่น  ในขณะนั้นมีนกตัวเล็กซึ่งทางเหนือเรียกว่า ผีปะโก้โล้งปงตง ทางภาคกลางเรียกว่าผีกองกอย  นกชนิดนี้โดยปกติจะร้องออกมาเป็นเสียงธรรมชาติที่ได้ยินทั่วไปคือ  คอกๆ  คอยๆ  แต่ถ้าได้ยินเสียงร้องผิดปกติว่า  คอกๆ  คอขาด  ต้องระวังให้ดี  และในคืนนี้ก็เช่นกันเสียงมันร้องว่า  คอกๆ  คอขาด  ใกล้เข้ามาที่หลวงปู่ทุกที

เมื่อเป็นดังนั้นครูบาก๋าท่านได้สวดมนต์ให้พรเพื่อเป็นการปัดเป่าภยันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้  หลวงปู่มีการเหมือนจะเคลิ้มหลับ  ได้ยินเสียงสวดมนต์และเสียงนกร้องทุกอย่าง แต่ไม่สามารถบังคับตัวเองได้  บางครั้งใจเหมือนจะหลุดออกจากร่าง  ครูบาก๋าท่านสวดมนต์อยู่เป็นเวลานาน  แต่เสียงนกที่ร้องก็ยังไม่ยอมหยุด  ประหนึ่งว่าจะเอาชีวิตของหลวงปู่ให้จงได้  เสียงร้องถี่และชัดเข้ามาทุกที

ครูบาก๋าท่านสุดวิสัยที่จะแก้ไขเหตุการณ์เช่นนี้ได้ เพราะสวดมนต์ให้พรหมดทุกบทแล้วยังไม่ยอมไป  สัตว์พวกนี้ฟังเสียงธรรมไม่ยอมรู้ซึ้ง  ท่านจึงเปลี่ยนมาใช้วิธีใหม่เป็นวิธีที่หยาบคาย  โดนท่านพูดด่าออกไปว่า  “โคตรพ่อโคตรแม่มึง  สวดมนต์สวดพรให้รับก็ไม่อยากจะได้บุญ  มึงจะเอาอะไรหรือ  โคตรพ่อโคตรแม่มึง”  และด่าคำหยาบคายอีกหลายอย่าง  ซึ่งการทำเช่นนี้ปรากฏว่าได้ผล นกผีกองกอยค่อย ๆ ร้องห่างออกไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็หายไป ในไม่ช้า หลวงปู่ท่านก็มีสติขึ้นมาตามเดิม

ไปวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม

ในระยะที่อยู่กับครูบาชัยลังก๋าๆ ได้เมตตาอบรมสั่งสอนวิชาการต่างๆ ให้แก่ท่านเช่น ภาษาลานนา ธรรมะ การปฏิบัติกรรมฐาน รวมทั้งธุดงควัตร ตลอดถึงการดำรงชีวิตในป่าขณะธุดงค์ ครูบาชัยลังก๋ามักพาท่านไปแสวงบุญและธุดงค์ไปในที่ต่างๆ เสมอ เพื่อให้ท่านมีประสบการณ์ ทั้งยังเคยพาท่านไปนมัสการรอบพระพุทธบาทห้วยต้มหลายครั้ง (วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ในสมัยก่อนนั้นชื่อว่า วัดพระพุทธบาทห้วยข้าวต้ม) สมัยนั้นวัดนี้เป็นวัดร้าง ยังเป็นเขาอยู่

ครั้งหนึ่งสามเณรชัยลังก๋าเห็นวิหารทรุดโทรมมาก จึงกราบเรียนถามครูบาชัยลังก๋า

“ทำไมตุ๊ลุงถึงไม่มาสร้างวัดนี้มันทรุดโทรมมาก”

ครูบาชัยลังก๋าตอบด้วยความเมตตาว่า

“มันไม่ใช่หน้าที่ของตุ๊ลุง แต่จะมีพระน้อยเมืองตื๋นมาสร้าง”

ขณะที่ครูบาชัยลังก๋ากล่าวอยู่นั้น ท่านก็ได้ชี้มือมาที่สามเณรน้อยชัยลังก๋าพร้อมกับกล่าวว่า

“อาจจะเป็นเณรน้อยนี้กะบ่ฮู้ที่จะมาบูรณะวัดนี้”

ท่านจึงได้เรียนไปว่า

“เฮายังเป็นเณร จะสร้างได้อย่างใด”

ครูบาชัยลังก๋าจึงกล่าวตอบไปด้วยความเมตตาว่า

“ถึงเวลาจะมาสร้าง ก็จะมาสร้างเอง”

วัดพระธาตุแก่งสร้อย

คำพูดของครูบาชัยลังก๋านี้ไปพ้องกับคำพูดของครูบาศรีวิชัย ที่เคยกล่าวกับหม่องย่นชาวพม่า เมื่อตอนที่หลวงพ่ออายุได้ ๕ ขวบ ในครั้งนั้นครูบาศรีวิชัยได้รับนิมนต์จากหม่องย่นให้มารับถวายศาลาที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม หม่องย่นให้ขอนิมนต์ครูบาศรีวิชัยมาบูรณะวัดพระพุทธบาทห้วยต้มให้เจริญรุ่งเรือง แต่ครูบาศรีวิชัยได้ตอบปฏิเสธไปว่า

“ไม่ใช่หน้าที่กู จะมีพระน้อยเมืองตื๋นมาสร้างในภายภาคหน้า”

ท่านอยู่กับครูบาชัยลังก๋าที่วัดพระธาตุแก่งสร้อยเป็นเวลา ๑ ปี หลังจากนั้นครูบาชัยลังก๋าได้ออกจาริกธุดงค์ไปโปรดชาวบ้านที่จังหวัดเชียงราย ครูบาชัยลังก๋าได้ให้ท่านอยู่เฝ้าวัดกับพระเณรองค์อื่น  และเมื่ออายุของหลวงพ่อได้  ๑๙  ปี  ครูบาชัยลังก๋าก็ล้มป่วยและมรณภาพ  รวมอายุของท่านได้ ๗๐ กว่าปี

ในช่วงที่ท่านอยู่วัดนี้ ท่านก็ได้พบกันครูบาศรีวิชัยเป็นครั้งแรก ซึ่งท่านเคารพนับถือครูบาศรีวิชัยมาก่อนหน้านี้แล้ว ในครั้งนั้นครูบาศรีวิชัยได้มาเป็นประธานในการฉลองพระธาตุที่วัดพระธาตุแก่งสร้อย ในโอกาสนี้ท่านจึงได้อยู่ใกล้ชิดปรนนิบัติรับใช้ครูบาศรีวิชัยเป็นเวลา ๗ วัน การพบกันครั้งแรกนี้ ครูบาศรีวิชัยก็ได้รับท่านไว้เป็นศิษย์ตั้งแต่นั้นมา หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ผ่านพ้นไปแล้ว ท่านก็ยังประจำอยู่ที่วัดพระธาตุแก่งสร้อยได้ไม่นาน เพราะทนต่อการกลั่นแกล้งจากพระเณรอื่นไม่ไหว จึงได้เดินทางกลับมาอยู่กับหลวงน้าของท่าน เพื่อช่วยสร้างพระวิหารที่วัดก้อท่าซึ่งเป็นวัดร้างประจำหมู่บ้านก้อท่า ตำบลก้อทุ่ง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

ในระหว่างอายุ ๑๕-๒๐ ปีนั้น ท่านได้ติดตามครูบาอาจารย์หลายองค์ และได้จาริกออกธุดงค์ ปฏิบัติธรรมตามที่ต่างๆ ตลอดจนได้ไปอบรมสั่งสอนชาวบ้านชาวเขาในที่ต่างๆ ด้วยเช่นกันในบางครั้งก็ไปกับครูบาอาจารย์ ในบางครั้งก็ไปองค์เดียวเพียงลำพัง เมื่อมีโอกาสท่านก็จะกลับมารับการ ฝึกอบรมจากครูบาอาจารย์ทุกองค์ของท่านเสมอๆ

ครูบาพรหมจักร (พระอุปัชฌาย์)

ครูบาพรหมจักร

ก่อนที่หลวงปู่จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุ  ท่านได้มาอยู่กับครูพรหมจักรที่วัดจอมหมอก  ต.แม่ตืน  และมีเหตุการณ์ที่เกือบจะทำให้หลวงปู่กระทำในสิ่งที่ร้ายแรงลงไป  ถ้าไม่ได้รับคำเตือนให้มีสติกลับคืนมาจากครูบาพรหมจักร  โดยมีพระเฒ่าองค์หนึ่งอายุ  ๗๐  กว่าปีซึ่งติดตามครูบาพรหมจักรเช่นเดียวกัน ชอบพูดว่าหลวงปู่อยู่เสมอโดยเรียกหลวงปู่ว่า  “ไอ้ก้อ”  (หลวงปู่เกิดที่บ้านก้อ)  หลวงปู่ท่านอดทนมาตลอดไม่เคยโต้ตอบ  แต่ที่ทนไม่ไหวเนื่องจากดูถูกดูหมิ่นกันมากเกินไป  โดยพระเฒ่าได้จัดที่นอนไว้ให้ลูกศิษย์ที่คอยรับใช้ตนนอน  หลวงปู่ท่านเวลานอนก็นอนใกล้ครูบาพรหมจักร

ในเช้าวันหนึ่งหลังจากที่ครูบาพรหมจักรฉันอาหารแล้ว  หลวงปู่ท่านก็นำอาหารไปฉันยังที่พระเฒ่าจัดให้ลูกศิษย์นอน  พระเฒ่าเกิดไม่พอใจหลวงปู่ที่ไปใช้สถานที่ของลูกศิษย์ตน จึงด่าออกไปว่า 

“ไอ้ก้อกูไม่ได้จัดที่ให้มึงใช้  มึงมาใช้ทำไม  ออกไปเดี๋ยวนี้นะ  กลับบ้านก้อมึงไปซะ”

ขณะนั้นหลวงปู่โมโหมาก  จึงตอบโต้ไปว่า  “ไอ้ปากเมือง  (พระเฒ่าองค์นี้อยู่ปากเมือง)  มาอยู่แม่ตืนทำไมก็กลับไปปากเมืองซิ”

พระเฒ่าก็ว่า “ไอ้ก้อ”  หลวงปู่ก็ตอบว่า “ไอ้ปากเมือง”

โต้กันไปโต้กันมา พระเฒ่าลุกขึ้นหยิบเอาชะแลงจะมาตีหลวงปู่  หลวงปู่ก็หยิบเอามีดจะไปฟันพระเฒ่า

ครูบาพรหมจักรซึ่งนั่งอยู่ที่ฉันอาหารเห็นเข้าจึงร้องห้ามขึ้นว่า

“เดี๋ยวก่อนๆ  นี่เราเณรนะอย่าไปตอบโต้เขา  มานี่ก่อนซิ”

หลวงปู่เข้าไปหาครูบาพรหมจักรน้ำตาไหลพรากนั้นสองข้างและเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ครูบาพรหมจักรฟัง ท่านก็ตักเตือนให้อดทนไว้  ถ้าครูบาพรหมจักรไม่อยู่ในที่นั้นคงจะมีเหตุการณ์ที่ไม่ดีเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

อุปสมบทเป็นพระภิกษุ

หลวงปู่กับครูบาเจ้าพรหมจักโก

เมื่ออายุ ๒๐ ปี ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ โดยมีครูบาพรหมจักร วัดพระบาทตากผ้าเป็นอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “ชัยยะวงศา” และออกเดินธุดงค์ไปบำเพ็ญสมณธรรมกับท่านเป็นเวลา  ๒  ปี  ในบางโอกาสท่านก็จะเดินธุดงค์ปฏิบัติธรรมไปในที่ต่างๆ ทั้งลาวและพม่า ท่านได้อยู่กับครูบาพรหมจักรระยะหนึ่งแล้ว จึงได้กราบลาครูบาพรหมจักรออกจาริกธุดงค์ไปแสวงหาสัจจธรรม ความหลุดพ้นจากวัฏสงสารแห่งนี้เพียงลำพังองค์เดียวต่อ เพื่อเผยแพร่สั่งสอนธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้กับพวกชาวเขาในที่ต่างๆ

หลวงพ่อท่านมีความเคารพในครูบาพรหมจักรเป็นอย่างมาก  ท่านกล่าวเสมอว่าครูบาพรหมจักรเป็นผู้ที่มีความบริสุทธิ์ด้วยกาย  วาจา  ใจ  อันจะหาผู้เสมอเหมือนได้ยากนัก

สอนธรรมะแก่ชาวเขา

ขณะที่ท่านธุดงค์ไปในที่ต่างๆ ท่านได้พบและอบรมสั่งสอนธรรมะของพระพุทธองค์ให้กับชาวบ้านและชาวเขาในที่ต่างๆ ท่านเล่าว่า ตอนที่ท่านพบชาวเขาใหม่ๆ นั้น ในสมัยนั้นชาวเขาส่วนใหญ่ยังไม่ได้นับถือพุทธศาสนา ในขณะที่ท่านจาริกธุดงค์ไปตามหมู่บ้านของพวกชาวเขา พวกชาวเขาเหล่านี้ก็จะรีบอุ้มลูกจูงหลานหลบเข้าบ้านเงียบหายกันหมดพร้อมกับตะโกนบอกต่อๆ กันว่า “ผีตาวอดมาแล้วๆ ๆ …”

ในบางแห่ง พวกผู้ชายบางคนที่ใจกล้าหน่อยก็เข้ามาสอบถามและพูดคุยกับท่าน บางคนเห็นหัวของท่านแล้วอดรนทนไม่ไหวที่เห็นหัวของท่านเหน่งใส จึงเอามือลูบหัวของท่านและทักทายท่านว่า “เสี่ยว” (แปลว่า เพื่อน) หลวงพ่อว่าในตอนนั้นท่านไม่รู้สึกเคืองหรือตำหนิเขาเหล่านั้นเลย นอกจากขบขันในความซื่อของพวกเขา เพราะพวกเขายังไม่รู้จักพุทธศาสนา ในสมัยนั้นพวกชาวเขายังนับถือลัทธิบูชาผีบูชาเจ้า ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้ถือธุดงค์ปฏิบัติกรรมฐานในสถานที่แห่งนั้น เพื่อจะหาโอกาสสอนธรรมะของพระพุทธองค์ให้กับพวกชาวเขา การสอนของท่านนั้น ท่านได้เมตตาบอกว่า ท่านต้องทำและสอนให้พวกเขารู้อย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป โดยไม่ทำให้พวกเขามีความรู้สึกแปลกประหลาดและขัดต่อจิตใจความเป็นอยู่ที่เขามีอยู่

ท่านได้ใช้ตัวของท่านเองเป็นตัวอย่างให้เขาดู ในการที่จะทำให้พวกเขาหันมาปฏิบัติธรรมะของพระพุทธองค์ เมื่อพวกเขาถามท่านว่า

“ทำไมท่านจึงโกนผมจนหัวเหน่ง และนุ่งห่มสีเหลืองทั้งชุด ดูแล้วแปลกดี”

ท่านก็จะถือเอาเรื่องที่เขาถามมาเป็นเหตุในการเทศน์ เพื่อเผยแพร่ธรรมะให้พวกเขาได้ปฏิบัติและรับรู้กัน

หลวงพ่อได้เล่าว่า การสอนให้เขารู้ธรรมะนั้น ท่านต้องสอนไปทีละขั้น เพื่อให้เขารู้จัก พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์เสียก่อน จากนั้นท่านจึงสอนพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้กับพวกเขา โดยเฉพาะการทำงาน การถือศีลและการนั่งภาวนา ให้พวกเขาได้ปฏิบัติยึดถือกัน โดยเฉพาะเรื่องของศีล ๕ ท่านจะสอนเน้นให้พวกเขาไม่เบียดเบียนผู้อื่น และไม่ทำร้ายผู้อื่น เพื่อจะได้ไม่เป็นเวรกรรมกันต่อไปในภายภาคหน้า ซึ่งการสอนของท่านทำให้พวกชาวเขาได้รับความสงบสุขภายในหมู่บ้านของเขา อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน พวกเขาจึงยิ่งเคารพนับถือและเชื่อฟังในคำสั่งสอนของท่านมากยิ่งขึ้น

สอนกินมังสวิรัติ

หลวงพ่อได้เมตตาเล่าให้ผู้เขียนฟังว่าในสมัยนั้น พวกชาวเขาได้นำอาหารที่มีเนื้อสัตว์มาถวาย แต่ท่านหยิบฉันเฉพาะที่เป็นผักเป็นพืชเท่านั้น ทำให้เขาเกิดความสงสัย ท่านจึงได้ยกเอาเรื่องในพุทธชาดกมาเทศน์ให้พวกเขาฟัง เพื่อเป็นการเน้นให้เห็นถึงกฎแห่งกรรมและผลดีของการรักษาศีล

ท่านได้อยู่อบรมสั่งสอนให้พวกเขารับรู้ถึงธรรมะและการรักษาศีลอยู่เสมอๆ ทำให้พวกเขาเลื่อมใสและหันกลับมานับถือพระพุทธศาสนาโดยละทิ้งประเพณีเก่าๆ ที่เคยปฏิบัติกันมา

ต่อมาพวกชาวเขาเหล่านี้ก็ได้เจริญรอยตามท่าน โดยเลิกกินเนื้อสัตว์หันมากินมังสวิรัติแทน (ดังที่เราจะเห็นได้จากกะเหรี่ยงที่อพยพมาอยู่ที่หมู่บ้านห้วยต้มในปัจจุบันนี้) เมื่อท่านได้สอนพวกเขาให้นับถือศาสนาพุทธแล้ว ท่านก็จะจาริกธุดงค์แสวงหาสัจธรรมต่อไป และถ้ามีโอกาสท่านก็จะกลับไปโปรดพวกเขาเหล่านั้นอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้ชาวเขาและชาวบ้านในที่ต่างๆ ที่ท่านเคยไปสั่งสอนมาจึงเคารพนับถือท่านมาก

ครูบาศรีวิชัย ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกร่วมกับศิษยานุศิษย์มี ครูบาขาวปี, ครูบาชัยวงศา เป็นต้น ที่ร่วมกันก่อสร้างทางขึ้นพระธาตุดอยสุเทพจนเป็นผลสำเร็จ โดยถ่าย ณ เชิงบันไดขึ้นองค์พระธาตุ ในวันเปิดใช้ทางเป็นวันแรก

ช่วยสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ

โค้งขุนกันฯ เป็นโค้งหักศอก ช่วงก่อนถึงพระธาตุดอยสุเทพ

เมื่ออายุได้ ๒๒ ปี ท่านจึงเดินทางกลับมาหาครูบาศรีวิชัยพร้อมกับชาวกะเหรี่ยงที่เป็นศิษย์ของท่าน เพื่อช่วยครูบาศรีวิชัยสร้างทางขึ้นดอยสุเทพในครั้งนี้ ครูบาศรีวิชัยได้เมตตาให้ท่านเป็นกำลังสำคัญทำงาน ร่วมกับครูบาขาวปี ในการควบคุมชาวเขาช่วยสร้างทางอยู่เสมอ โดยเฉพาะในช่วงที่ยากลำบาก เช่น การสร้างถนนในช่วงหักศอกก่อนที่จะถึงดอยสุเทพ (ช่วงที่คนวิพากษ์วิจารณ์ครูบาศรีวิชัยกันมากที่สร้างถนนหักศอกมากเกินไป)

ในระหว่างกำลังสร้างทางช่วงนี้ ได้มีหินก้อนใหญ่มากติดอยู่ใกล้หน้าผา จะใช้กำลังคนหรือช้างลากเช่นไร ก็ไม่ทำให้หินนั้นเคลื่อนไหวได้ ชาวกะเหรี่ยงที่ทำงานอยู่นั้นจึงไปกราบเรียนให้ ครูบาศรีวิชัยทราบ ท่านจึงให้คนไปตามหลวงพ่อซึ่งกำลังสร้างทางช่วงอื่นอยู่ เมื่อหลวงพ่อวงศ์มาถึงท่านได้ยืนพิจารณาอยู่ครู่หนึ่ง จึงได้เดินทางไปผลักหินก้อนนั้นลงสู่หน้าผานั้นไป เหตุการณ์นี้ทำให้ ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์แปลกใจไปตามๆ กันที่เห็นท่านใช้มือผลักหินนั้นโดยไม่อาศัยเครื่องมือใด ๆ ครูบาศรีวิชัยได้ยืนยิ้มอยู่ข้างๆ ท่านด้วยความพอใจ (เรื่องนี้ข้าพเจ้าได้ฟังจากพระและกะเหรี่ยงที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น)

ในเรื่องการสร้างทางนี้ ครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนาได้บันทึกไว้ว่า

“…แล้วอยู่ถึงเดือนยี่ออก ๓ ค่ำ วันพฤหัสบดี มีครูบาเจ้าศรีวิชัยและพระชัยยะวงศา และพระยาพหลพลยุหเสนา และหลวงศรีประกาศ ภายนอกมีพ่อเจ้าแก้วนวรัตน์ เป็นประธาน พากันไปที่ตีนดอยสุเทพ ลุ่มโรงสีหลวงประกาศ” มีครูบาเจ้าศรีวิชัยลงมือเริ่มแรกขุดทางขึ้นดอยสุเทพ และพ่อเจ้าแก้วนวรัฐลงขุดตาม พระยาพหลพลพยุหเสนาขุดตาม หลวงศรีประกาศก็ขุดตาม พระชัยยะวงศาก็ขุดตามทีละรูปทีละคน ท่านละ ๓ ครั้ง ครั้นแล้ว ก็กลับมาวัดสวนดอก ส่วนพระชัยยะวงศากับศรัทธาที่ไปด้วยกัน ก็พากันกลับเมืองตืน แล้วไปวัดจอมหมอกที่เดิม อยู่ไปถึงเดือนยี่แรม ๔ ค่ำ พระชัยยะวงศาก็พาศรัทธายางโฮ้ง ยางดอย มากมายขึ้นไปค้ำสมภารครูบาเจ้าศรีวิชัยทำทางขึ้นดอยสุเทพ ครั้นไปถึงวัดใหม่ศรีโสดาแล้วเข้าไปนมัสการครูบาเจ้าศรีวิชัยทำทางขึ้นดอยสุเทพ ครูบาเจ้าก็บอกให้พระชัยยะวงศาว่า “ให้ธุหาหมู่ยางขึ้นไปขุดทางตรงทัดที่ทางโค้ง ขึ้นไปหาห้วยแก้วพู้นเทอะ” พระชัยยะวงศาก็พายางและไตย แปลงตูบอยู่เป็นที่แล้ว ก็ขุดทางขึ้นไปได้เป็นช่วงๆ ไปเลยจนถึงน้ำบ่อเต่า ครั้งแล้วก็ลงมาช่วยครูบาอภิชัยขาวปีตัดหัวหิน เอากระเทียมกรีดชักแนว แล้วเอาน้ำมันไขวัวเจียดทาตามรอยกระเทียม แล้วหาฟืนมาถมมากๆ แล้วก็เอาไฟเผาจนไฟจะวอด แล้วให้หมู่ยางหาน้ำมารดไฟและหินร้อนนั้นพร้อมกัน หินผานั้นก็แตกออกเป็นเสี่ยงๆ ส่วนหินแตกนั้นให้หมู่ยางขนออกก่อสร้างสะพานหินต่อ ส่วนหินผาที่ใหญ่กว้างหนามาก ครูบาเจ้าอภิชัยขาวปี กับพระชัยยะวงศาก็พาศรัทธายางและไตยพยายามเผาหินผานั้นจนหมด จนได้เป็นถนน รถเดินขึ้นไปได้ ถนนเส้นนี้ทางราชการตั้งโครงการไว้เป็นเงินงบประมาณการก่อสร้างไว้ ๕๐๐,๐๐๐ บาท ถ้าจะทำต้องใช้เวลา ๕ ปี จึงจะทำได้ตลอดไปจนถึงตีนบันไดนาคที่รถจะขึ้นลง ครูบาเจ้าศรีวิชัยและครูบาอภิชัยขาวปี พระชัยยะวงศาพาศรัทธาทั้งยางและไตยทั่วสารทิศช่วยกันสร้างถนนเส้นนี้ ตั้งแต่ลุ่มโรงสี หลวงศรีประกาศได้ ๕ เดือน ๒๒ วัน ถึงตีนบันไดนาคดอยสุเทพ ๕ เดือนเต็มกับ ๒๒ วัน เจ๊กโหงวเอารถให้ครูบาขี่ขึ้นไปถึงลานสนามตีนดอยบันไดนาค แล้วพวกพระและเณรลูกศิษย์ครูบากับหลวงอนุสารสุนทรและขุนยุหว่า และขุนกัน อยู่ร่วมกันเป็นขบวนและครูบาอภิชัยขาวปีอีกองค์หนึ่งอยู่เป็นขบวนเดียวกัน ให้ช่างถ่ายรูปหมู่วันนี้แล แล้วครูบาเจ้าศรีวิชัยขี่รถเจ๊กโหงวลงมาวัดศรีโสดาวันนี้แล แล้วพระชัยยะวงศา กับแม่บ่อแก้ว ป้าลัวเต็ม พี่ขันคำ และหมู่ยาง ๓-๔ คนพากันย้ายจากที่พักน้ำบ่อเต่าลงมาพักอยู่ที่ดอยม่อนพระยาหงษ์แล้วมีธุเจ้าและพระชัยยะวงศา พากันขุดอุโมงค์ก่อเจดีย์ขึ้น ๑ ดวง กว้าง ๖ ศอก ครูบาเจ้าศรีวิชัย เรียกชื่อว่าวัดอนาคา หมู่เดียวกันพากันสร้างจนสำเร็จเอายอดฉัตรขึ้นต่างๆ เสร็จแล้วก็ซ่อมทางที่ไม่งามให้สวย แล้วอยู่ถึงวันเดือน ๘ เพ็ง คณะสงฆะ ๑๐๐ กว่ารูป สวดมนต์หลวง สวดเบิก ฟังธรรม อบรมวิหาร พุทธาภิเษกพระพุทธรูป ถนน วัดศรีโสดา เดือน ๘ แรม ๑ ค่ำ ครูบาเจ้าสุนทรเป็นอาจารย์เวนทาน เวนทานครั้งนี้ ๔ อาจารย์อยู่เวนทาน ๔ มุมวิหาร เวนทานพร้อมกัน เสร็จแล้วประเคนครัวทานต้นกัณฑ์ต่างๆ พระชัยยะวงศาก็ทำต้นกัณฑ์แห่ลงมาถวายทาน ด้วยกันต้นกัณฑ์ของครูบาเจ้าศรีวิชัย ต้นสูงใหญ่ต้นหนึ่งถวายทาน ด้วยกัน แล้วถวายสังฆทานแด่พระสังฆะเสร็จ เวลาเวนทานฝนก็ตกใหญ่ พวกพระเณรศรัทธาทั้งหลายก็เปียกชุ่มฝนทุกรูปทุกคน สนุกก็สนุก เปียกก็เปียก ส่วนบุญในวันนั้นก็เสร็จไปแล้ว อยู่ถึงเดือน ๘ เหนือ แรม ๒ ค่ำ ครูบาเจ้าศรีวิชัย พาครูบาเจ้าอภิชัยขาวปี ลงไปวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เพื่อต่อนิสัยแล้วให้ครูบานุ่งห่มเหลืองต่อไปวันนี้แล ถึงเดือน ๘ แรม ๓ ค่ำ พระชัยยะวงศาก็พาศรัทธาที่มาด้วยกันกลับวัดจอมหมอก เมืองตืนที่เก่า อยู่ถึงเดือน ๘ เพ็ง พระชัยยะวงศาอายุได้ ๒๒ ปี จำพรรษาครั้งที่ ๓ ที่วัดจอมหมอกอยู่ไปถึงออกพรรษาแล้ว จนถึงเดือนยี่ออก ๑ ค่ำ พ.ศ.๒๔๗๘ จ.ศ.๑๑๙๘ ปีดับใค๊ พระชัยยะวงศา อายุได้ ๒๓ ปี ก็พาโยมติดตาม ๒ คน ขึ้นไปทำบุญฟังธรรมมหาชาติ เท่าอายุครูบาศรีวิชัย ครบ ๕๘ ปี ที่วัดพระสิงห์หลวงเชียงใหม่”

ประทับรอยเท้าเป็นอนุสรณ์

ขณะที่ท่านช่วยครูบาศรีวิชัยสร้างทางขึ้นดอยสุเทพท่านได้ประทับรอยเท้าลึกลงไปในหินประมาณ ๑ ช.ม. ข้างน้ำตกห้วยแก้ว (ช่วงตอนกลางๆ ของทางขึ้นดอยสุเทพ เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่ท่านได้มาช่วย ครูบาศรีวิชัยสร้างทาง

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ผู้เขียนและคณะได้มีโอกาสติดตามหลวงพ่อขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ ขากลับท่านได้พาไปนมัสการวัดอนาคามี (ซึ่งเป็นวัดที่ครูบาศรีวิชัยได้มอบให้ท่านเป็นผู้ควบคุมการสร้าง ปัจจุบันทรุดโทรมหมดแล้ว) ระหว่างทางท่านได้พาพวกเราไปดูรอยเท้าที่ท่านประทับไว้ รอยเท้านั้นลึกลงไปในหินประมาณครึ่งเซนติเมตรมีรอยถูกน้ำกัดเซาะ พวกเราแปลกใจมากที่เห็นรอยเท้านั้น พอดีกับเท้าของท่านเมื่อท่านเหยียบลงไป (การประทับรอยเท้าเช่นนี้ท่านเคยไปประทับรอยเท้าและรอยมือไว้บนแผ่นหิน ณ ประเทศศรีลังกา เพื่อเป็นอนุสรณ์เช่นกันเป็นที่ประจักษ์สายตาของคณะศิษย์ที่ร่วมเดินทางไปทุกครั้ง)

อุปสรรค

ท่านเป็นผู้ที่ครูบาศรีวิชัยไว้ใจมากองค์หนึ่งเพราะเมื่อครูบาศรีวิชัยมีปัญหาเรื่องขาดกำลังคน ครูบาศรีวิชัยก็จะมอบหน้าที่ให้ท่านไปนำกะเหรี่ยงอยู่บนดอยต่างๆ มาช่วยสร้างทาง

วัดอนาคามีในปัจจุบัน ซึ่งเหลือแต่ซาก

หลวงพ่อเล่าว่า การสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ และการสร้างบารมีของครูบาศรีวิชัยนั้นทุกข์ยากลำบากมาก เพราะถูกกลั่นแกล้งจากบุคคลอื่นที่ไม่เข้าใจและอิจฉาริษยาอยู่เสมอ ทุกครั้งที่ครูบาศรีวิชัยให้ท่านไปนำกะเหรี่ยงมาช่วยสร้างทาง ระหว่างการเดินทางต้องคอยหลบเลี่ยงจากการตรวจจับของพวกตำรวจหลวง และคณะสงฆ์ที่ไม่เข้าใจ ครูบาศรีวิชัยท่านได้เล่าว่าในเวลากลางวันต้องหลบซ่อนกันในป่าหรือเดินทางให้ห่างไกลจากเส้นทางสัญจร เพื่อหลบให้ห่างจากผู้ขัดขวาง ส่วนในเวลากลางคืนต้องรีบเดินทางกันอย่างฉุกละหุก เพราะเส้นทางต่างๆ มืดมากต้องอาศัยโคมไฟตามบ้านเป็นการดูทิศทาง เพื่อให้ถึงจุดหมายปลายทางเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

ด้วยบารมีและความตั้งมั่นในการทำความดีของครูบาศรีวิชัยที่มีต่อพระพุทธศาสนาทำให้พุทธบริษัททั้งชาวบ้านและชาวเขาจากในที่ต่างๆ จำนวนมาก มาช่วยสร้างทางขึ้นดอยสุเทพได้สำเร็จดังความตั้งใจของครูบาศรีวิชัย โดยใช้เวลาสร้างเพียง ๗ เดือนเท่านั้น

เมื่อครูบาศรีวิชัยสร้างทางขึ้นดอยสุเทพสำเร็จแล้ว หลวงพ่อจึงได้ไปกราบลาครูบาศรีวิชัย กลับไปอยู่ที่เมืองตื๋น วัดจอมหมอก ตำบลแม่ตื๋น กิ่งอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

ถูกจับห่มขาว

ครูบาขาวปี

เมื่ออายุได้ ๒๓ ปี (พ.ศ. ๒๔๗๙) ขณะที่ท่านอยู่ที่วัดจอมหมอก เจ้าคณะตำบลได้มาจับท่านสึก ในข้อหาที่ท่านเป็นศิษย์และเป็นกำลังสำคัญที่ปฏิบัติเชื่อฟังครูบาศรีวิชัยอย่างเคร่งครัด (ซึ่งในขณะนั้นครูบาศรีวิชัยได้ถูกจับมาสอบสวนอธิกรณ์ที่กรุงเทพฯ ครั้งสุดท้าย) แต่ตัวท่านเองไม่ปรารถนาที่จะสึก จะหนีไม่ได้ เมื่อทางคณะสงฆ์จะจับท่านสึกและให้นุ่งห่มดำหรือแต่งแบบฆราวาส ท่านไม่ยอมเพราะท่านไม่ได้ผิดข้อปฏิบัติของสงฆ์ แต่เมื่อคณะสงฆ์ที่ไปจับท่านสึกไม่ให้ห่มเหลือง ท่านจึงหาผ้าขาวมาห่มแบบสงฆ์ เลียนเยี่ยงอย่างครูบาขาวปี วัดผาหนาม (ซึ่งเคยถูกจับสึกไม่ให้ห่มเหลืองในข้อหาเดียวกัน ในคราวที่ครูบาศรีวิชัยถูกอธิกรณ์ก่อนที่จะมีการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ และยึดถือข้อวัตรปฏิบัติเหมือนที่เป็นสงฆ์อย่างเดิม ผู้เขียนได้ทราบจากหลวงพ่อครูบาพรหมจักร วัดพระบาทตากผ้า , ครูบาบุญทืม และ เจ้าคุณราชฯ เจ้าคณะจังหวัดลำพูนองค์ก่อน วัดจามเทวี พูดให้ผู้เขียนฟังว่า

“ในหมู่พระสงฆ์และฆราวาสที่เป็นศิษย์ของครูบาศรีวิชัย ก็ยังนับถือหลวงพ่อเป็นพระสงฆ์เช่นเดิม เพราะการสึกในครั้งนั้นไม่สมบูรณ์ ครูบาวงศ์ไม่ได้ทำผิดพระวินัยของสงฆ์ และในขณะที่สึกนั้นจิตใจของท่านก็ไม่ยอมรับที่จะสึก ยังยึดมั่นว่าตัวเองเป็นพระสงฆ์เหมือนเดิม ดังจะเห็นได้จากการที่ท่านยังปฏิบัติข้อวัตร พระธรรมวินัยของสงฆ์ทุกประการ”

หลวงพ่อได้เล่าว่า ในคราวนั้นลูกศิษย์ลูกหาของครูบาศรีวิชัยระส่ำระสายกันมาก บางองค์ก็ถูกจับสึกเป็นฆราวาส บางองค์ก็หนีไปอยู่ที่อื่นบ้าง ในป่าในเขาบ้าง เพื่อไม่ให้ถูกจับสึก

รวมตัวที่บ้านปาง

ครูบาศรีนวล วัดเจริญเมือง จังหวัดเชียงราย

หลังจากที่ครูบาศรีวิชัยพ้นจากอธิกรณ์ ครูบาศรีวิชัยได้เดินทางกลับไปจังหวัดลำพูน เพื่อไปบูรณะและสร้างวัดบ้างปาง อันเป็นวัดบ้านเกิดของท่าน หลวงพ่อและครูบาขาวปี (ซึ่งขณะนั้นนุ่งขาวห่มขาวทั้งคู่) ตลอดจนลูกศิษย์ทั้งที่ถูกจับสึกเป็นฆราวาส และที่หนีไปในที่ต่างๆ ต่างก็ได้เดินทางกลับมาช่วยกันสร้างและบูรณะวัดบ้านปางเพื่อให้เป็นที่อยู่ที่ถาวรของครูบาศรีวิชัย

พระสงฆ์ที่เคยช่วยครูบาศรีวิชัยสร้างวัดบ้านปาง ปัจจุบันที่ยังมีชีวิตอยู่ที่หลวงพ่อพอจำได้ คือ ครูบาศรีนวล วัดเจริญเมือง จังหวัดเชียงราย , ครูบาก้อน ปัจจุบันย้ายจากวัดสวนดอกไปอยู่ที่จังหวัดลำปาง (ครูบาก้อนนี้เป็นผู้นำเถ้าอังคารของครูบาศรีวิชัยมาทำพระเครื่องรูปเหมือนครูบาศรีวิชัย ซึ่งปัจจุบันพระเครื่องชุดนี้ได้รับความนิยมจากคนทั่วไป)

หลวงพ่อได้ช่วยครูบาศรีวิชัยสร้างวิหารที่วัดบ้านปางได้ระยะหนึ่ง ท่านจึงลาไปบำเพ็ญภาวนาธุดงค์ แสวงหาสัจธรรมต่อไปในป่าในเขา และเผยแพร่ธรรมะให้กับชาวบ้านและชาวเขาในที่ต่างๆ ต่อไป

ชีวิตเดินธุดงค์

ในสมัยนั้น ท่านได้ธุดงค์บำเพ็ญเพียรไปในที่ต่างๆ องค์เดียวเสมอ ท่านชอบธุดงค์ไปอยู่ในป่า ในถ้ำที่ห่างไกลผู้คน หลวงพ่อเล่าว่า ในสมัยนั้นการเดินธุดงค์ไม่สะดวกสบายเช่นสมัยนี้เพราะเครื่องอัฏฐบริขารและกลดก็หาได้ยากมาก ตามป่าตามเขาก็มีสัตว์ป่าที่ดุร้ายอาศัยกันอย่างมากมาย ในขณะถือธุดงค์ในป่าในเขาก็ต้องอาศัยถ้ำหรือใต้ต้นไม้เป็นที่พักที่ภาวนา เมื่อเจอพายุฝนก็ต้องนั่งแช่อยู่ใน น้ำที่ไหลท่วมมาอย่างรวดเร็วเช่นนั้นจนกว่าฝนจะหยุดตก การภาวนาในถ้ำในสมัยก่อนนั้นก็มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมาย เช่น เสือ, ช้าง, งู, เม่น ฯลฯ เป็นต้น แต่มันไม่เคยมารบกวน หรือสร้างความกังวลใจให้ท่านเลย ต่างคนต่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

ท่านเล่าว่า ครั้งหนึ่งท่านได้ไปบำเพ็ญภาวนาในถ้ำแห่งหนึ่งที่ตำบลบ้านก้อ สมัยนั้นยังเป็นป่าทึบ ต้นสักแต่ละต้นขนาด ๓ คนโอบไม่รอบ ในถ้ำนั้นมีเม่นและช้างอาศัยอยู่ บางครั้งก็มีเสือเข้ามาหลบฝน บ่อยครั้งที่ท่านกำลังภาวนาทำสมาธิอยู่นั้น พวกมันจะมาจ้องมองท่านด้วยความแปลกใจ ทำให้ท่านรู้สึกถึงความบริสุทธิ์และความไร้เดียงสาของสัตว์ที่มองดูท่านด้วยท่าทางฉงนสนเท่ห์ ทำให้ท่านนึกถึงคำสั่งสอนของ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ความไม่เบียดเบียนกันเป็นความสงบสุขอย่างยิ่ง”

หลวงพ่อบอกว่าพระธุดงค์ในสมัยก่อนต้องผจญอุปสรรคและปัญหาต่างๆ มากมาย จึงต้องเคี่ยวจิตใจและกำลังใจให้เข้มแข็งและแกร่งอยู่เสมอ ดังนั้น พระธุดงค์รุ่นเก่าจึงเก่งและได้เปรียบ กว่าพระสงฆ์ในปัจจุบัน ทั้งในด้านจิตใจและการปฏิบัติบำเพ็ญภาวนา แต่เสียเปรียบกว่า พระสงฆ์ในยุคนี้ในด้านการใฝ่หาความรู้ทางด้านปริยัติ เพราะในสมัยนี้ความเจริญทำให้ไปไหนมาไหนได้สะดวกและเร็วขึ้น พระสงฆ์ในรุ่นเก่าที่อยู่ห่างไกลตัวเมืองจึงต้องบังคับจิตใจ บำเพ็ญเพียร ปฏิบัติภาวนาให้เกิดปัญญาและธรรมะขึ้นในจิตในใจ เพื่อนำมาพิจารณาและปฏิบัติให้ถึงพระนิพพาน

ธุดงค์น้ำแข็ง

บ่อยครั้งท่านได้ธุดงค์จาริกผ่านไปที่กิ่งอำเภออมก๋อย ในฤดูหนาวบริเวณภูเขาของกิ่งอำเภออมก๋อยจะมีเหมยค้างปกคลุมไปทั่ว (เหมยค้างนี้ภาษาภาคเหนือ หมายถึง น้ำค้างที่กลายเป็น น้ำแข็ง) ในบริเวณนี้มีต้นสนขนาดต่างๆ ขึ้นเต็มไปหมด ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่เลย เวลาย่ำเดินไปบนพื้น น้ำแข็ง ขาจะจมลึกลงไปในน้ำแข็งนั้น ทำให้เกิดความหนาวเย็นเป็นอันมาก เพราะท่านมีแต่ผ้าที่ครองอยู่เพียงชั้นเดียวเท่านั้น โดยเฉพาะเมื่อมีลมพัดผ่านมา ท่านต้องสั่นสะท้านทุกครั้ง

ท่านได้เล่าว่า ความแห้งแล้งของอากาศและความหนาวเย็นของน้ำแข็ง ทำให้ผิวหนังของท่านแตกปริเป็นแผลไปทั้งตัว ต้องได้รับทุกขเวทนามาก สมัยนั้นในภาคเหนือจะหากลดมาสักอันหนึ่งก็ยากมาก การธุดงค์ของท่านก็มีแต่อัฐบริขารเท่านั้น ที่ติดตัวไปทุกหนทุกแห่ง ช้อนก็ทำจากกะลามะพร้าว ถ้วยน้ำก็ทำจากกระบอกไม้ไผ่ ผ้าจีวรที่ครองอยู่ก็ต้องปะแล้วปะอีก

ท่านได้เมตตาเล่าให้ผู้เขียนว่า แต่การปฏิบัติภาวนาบนภูเขาที่มีน้ำแข็งปกคลุมมากเช่นนี้ ทำให้การปฏิบัติสมถะและวิปัสสนากรรมฐานนั้นกลับแจ่มชัดและรวดเร็วดียิ่งกว่าในเวลาปกติธรรมดา เพราะทำให้ได้เห็นเรื่องของไตรลักษณ์ได้ชัดเจนดี และการพิจารณาขันธ์ ๕ อันเป็นทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ก็สามารถเห็นอย่างแจ่มชัด ทำให้ในขณะภาวนาทำสมาธิอยู่นั้น จิตสงบดีมาก ไม่พะวงกับ สิ่งภายนอกเลย

ในบางครั้ง ขณะที่นั่งสมาธิอยู่นั้น ไฟที่ก่อไว้ได้ลุกไหม้จีวรของท่านไปตั้งครึ่งค่อนตัวท่านยังไม่รู้สึกตัวเลย เมื่อจิตออกจากสมาธิแล้ว ท่านต้องรีบดับไฟที่ลุกไหม้อยู่นั้นอย่างรีบด่วน ทำให้ต้องครองผ้าจีวรขาดนั้นไปจนกว่าจะเดินทางไปพบหมู่บ้าน ท่านก็จะนำผ้าที่ชาวบ้านถวายให้มาต่อกับจีวรผืนเก่าที่เหลืออยู่นั้น ในบางครั้งท่านจะนำผ้าบังสุกุลที่พบในระหว่างทาง มาเย็บต่อจีวรที่ขาดอยู่นั้น ตามแบบอย่างที่ครูบาอาจารย์ในยุคก่อนๆ ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งสมัยพุทธกาล

หลวงพ่อ เป็นพระสงฆ์ผู้ถ่อมตนและไม่เคยโออวดเป็นนิสัย เมื่อมีผู้สงสัยว่าท่านคงเข้าสมาธิจนสูงถึงขึ้นจิตไม่จับกับ กาย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้วจึงไม่รู้ว่าไฟไหม้ ตัวท่านมักตอบเลี่ยงไปด้วยใบหน้าเมตตาว่า

“คงจะอากาศหนาวมาก หลวงพ่อจึงไม่รู้ว่าไฟไหม้จีวร”

ครูบาศรีวิชัยมรณภาพ

เมื่อท่านได้ ๒๘ ปี ขณะนั้นท่านได้จาริกธุดงค์สั่งสอนชาวป่าชาวเขาตามดอยต่างๆ ท่านได้ทราบข่าวการมรณภาพของครูบาศรีวิชัย จึงได้เดินทางลงจากเขาเพื่อไปนมัสการพระศพ และช่วยจัดทำพิธีศพของครูบาศรีวิชัย ร่วมกับครูบาขาวปีและคณะศิษย์ของครูบาศรีวิชัยที่วัดบ้านปาง เมื่อเสร็จจากพิธีบรรจุศพครูบาศรีวิชัยแล้ว กรมทางได้นิมนต์ให้ท่านไปช่วยสร้างเส้นทางบ้านห้วยกาน – บ้านห้วยหละ ซึ่งในตอนนั้นท่านก็ยังห่มผ้าสีขาวอยู่ เมื่อการสร้างทางได้สำเร็จลงแล้ว ชาวบ้านห้วยหละ จึงได้มานิมนต์ท่านไปจำพรรษา และอบรมสั่งสอนพุทธบริษัทที่สำนักสงฆ์ห้วยหละ อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน

ห่มเหลืองอีกครั้งหนึ่ง

ขณะนั้นหลวงพ่ออายุได้ ๒๘ ปี ครูบายศ (ซึ่งเป็นศิษย์คนหนึ่งของครูบาศรีวิชัย และเป็นเพื่อนสงฆ์กลุ่มเดียวกับหลวงพ่อ, ครูบาขาวปี วัดผาหนาม จังหวัดลำพูน, ครูบาบุญทืม วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน, ครูบาศรีนวล วัดเจริญเมือง จังหวัดเชียงราย, ครูบาก้อน จังหวัดลำปาง ฯลฯ เป็นต้น) และชาวบ้านป่าพลูได้มานิมนต์ให้ท่านไปอยู่ช่วยบูรณะวัดป่าพลู และในปีนี้ท่านได้มีโอกาสห่มเหลืองเช่นพระสงฆ์ทั่วไปอีกครั้งหนึ่ง โดยมีครูบาบุญมา วัดบ้านโฮ่ง เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้รับฉายาใหม่ว่า “จันทวังโส” (ในคราวนี้หลวงปู่แก้วอุบาลี วัดห้วยแทง จังหวัดลำพูนเป็นพระสงฆ์ที่อยู่ในพิธีด้วยองค์หนึ่ง)

ในการห่มเหลืองในครั้งนี้ คณะสงฆ์ได้ออกญัตติให้ท่านต้องจำพรรษาที่วัดป่าพลูเป็นเวลา ๕ พรรษา เมื่อออกพรรษาในแต่ละปีท่านจะเดินทางไปธุดงค์และจาริกสั่งสอนธรรมะให้กับชาวป่าชาวเขาในที่ต่างๆ เสมอเหมือนที่ท่านเคยปฏิบัติมาในอดีต และบ่อยครั้งท่านจะไปช่วยครูบาขาวปีบูรณะวัดพระพุทธบาทตะเมาะ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่

ตรงตามคำทำนาย

เมื่อท่านอยู่วัดป่าพลูครบ ๕ พรรษาตามบัญญัติของสงฆ์แล้ว ในขณะนั้นท่านมีอายุได้ ๓๔ ปี นายอำเภอลี้ และคณะสงฆ์ในอำเภอลี้ ได้ให้ศรัทธาญาติโยมวัดนาเลี่ยง มานิมนต์ครูบาขาวปีหรือท่านองค์ใดองค์หนึ่ง เพื่อไปอยู่เมตตาบูรณะวัดพระพุทธบาทห้วยข้าวต้ม แต่ครูบาขาวปีไม่ยอมไป และบอกว่า

“ไม่ใช่หน้าที่ของกู”

ครูบาศรีวิชัยเคยพูดไว้ว่า

“วัดพระพุทธบาทห้วยข้าวต้มนั้น มันเป็นหน้าที่ของครูบาวงศ์องค์เดียว”

ด้วยเหตุนี้ ครูบาขาวปีจึงขอให้ท่านไปอยู่โปรดเมตตาสร้างวัด พระพุทธบาทห้วยข้าวต้ม ซึ่งต่อมาในภายหลังจากที่ท่านได้ไปอยู่ที่วัดพระพุทธบาทห้วยข้าวต้มแล้ว ท่านได้เปลี่ยนชื่อให้สั้นลง เป็น “วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม”

ในขณะที่ท่านอยู่ที่เมืองตื๋นนั้น ชาวบ้านและชาวเขาต่างเรียกท่านว่า “น้อย” เมื่อท่านมาอยู่ที่วัดพระบาทห้วย (ข้าว) ต้ม ชาวบ้านทั้งหลายจึงเชื่อกันว่า ท่านคงเป็น “พระน้อยเมืองตื๋น” ตาม คำโบราณที่ได้จารึกไว้ ณ วัดพระพุทธบาทห้วย (ข้าว) ต้ม และเหตุการณ์นี้ก็ตรงตามคำพูดของครูบาชัยลังก๋า และครูบาศรีวิชัย ดังที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อท่านย้ายมาประจำที่วัดพระพุทธบาทห้วย (ข้าว) ต้มและท่านก็ยังออกจาริกไปสั่งสอนธรรมะแก่ชาวบ้านและชาวเขาในที่ต่างๆ อยู่เสมอๆ เหมือนที่ท่านเคยปฏิบัติมา

ผู้เฒ่าผู้รู้เหตุการณ์

ในระยะแรกที่หลวงพ่อมาที่วัดพระพุทธบาทห้วย (ข้าว) ต้ม ผู้เฒ่าคนหนึ่งในหมู่บ้านนาเลี่ยงได้พูดกับชาวบ้านในละแวกนั้นว่า

“ต่อไปบริเวณเด่นยางมูล (คือหมู่บ้านห้วยต้มในปัจจุบัน) จะมี ชาวกะเหรี่ยงอพยพติดตามครูบาวงศ์มาอยู่ที่นี่จนเป็นหมู่บ้านใหญ่ในอนาคต ในครั้งนี้จะใหญ่กว่า หมู่บ้านกะเหรี่ยง ๔ ยุคที่เคยอพยพมาอยู่ที่นี่ในสมัยก่อนหน้านี้”

คำพูดอันนี้ในสมัยนั้นชาวบ้านนาเลี่ยงฟังแล้ว ไม่ค่อยเชื่อถือกันนัก แต่ในเวลาต่อมาไม่นานคำพูดอันนี้ก็เป็นความจริงทุกประการ

หลวงพ่อได้เล่าให้คณะศิษย์ฟังเพิ่มเติมว่า คนเฒ่าผู้นี้เป็นผู้รู้เหตุการณ์ในอนาคต และมักจะพูดได้ถูกต้องเสมอ มีอยู่ครั้งหนึ่ง หลังจากที่ท่านได้สร้างวิหารที่วัดพระพุทธบาทห้วย (ข้าว) ต้ม เป็นรูปร่างขึ้นแล้ว ผู้เฒ่าคนนี้ในสมัยก่อน เคยเห็นคำทำนายโบราณของวัดพระพุทธบาทห้วย (ข้าว) ต้มมาก่อน ได้มาพูดกับท่านว่า

“ท่านครูบา จะสร้างให้ใหญ่เท่าไหร่ก็สร้างได้ แต่จะสร้างใหญ่จริงอย่างไรก็ไม่สำเร็จ ต่อไปจะมีคนๆ หนึ่งมาช่วย ถ้าคนนี้มาแล้วจะสำเร็จได้”

ชาวเขาอพยพตามมา

เมื่อท่านอยู่ที่วัดห้วย (ข้าว) ต้ม ได้ไม่นาน คำพูดของผู้เฒ่าคนนี้ก็เป็นความจริง เพราะชาวเขาจากที่ต่างๆ ที่ท่านได้อบรมสั่งสอนมาก็ได้อพยพย้ายถิ่นฐานติดตามมาอยู่กับท่านเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันเพื่อมาขอพึ่งใบบุญและปฏิบัติธรรมะกับท่าน

ในระยะแรกๆ นั้นท่านได้ตั้งกฎให้กับพวกกะเหรี่ยงที่มาอยู่กับท่านว่า พวกเขาจะต้องนำมีดไม้ที่เคยฆ่าสัตว์มาถวายวัด และให้สาบานกับท่านว่าจะไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตและจะกินมังสวิรัติตลอดไป ท่านได้เมตตาให้เหตุผลว่า ท่านต้องการให้เขาเป็นคนดี ลดการเบียดเบียน มีศีลธรรม หมู่บ้านห้วยต้มจะได้มีแต่ความสงบสุขทั้งทางโลกและทางธรรม และจะได้ไม่เป็นปัญหาของประเทศชาติต่อไป ดังที่เราจะเห็นได้จากการที่ชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านห้วย (ข้าว) ต้มนี้ มีความเป็นอยู่ที่เป็นระเบียบและมีความสงบสุข ตามที่ท่านได้เมตตาอบรมสั่งสอนมา ทั้งที่ในหมู่บ้านนี้มีกะเหรี่ยงอยู่หลายพันคน

แต่ในสมัยนี้ กฎและระเบียบที่ชาวกะเหรี่ยงที่จะย้ายมาอยู่ที่หมู่บ้านห้วยต้ม ที่จะต้องนำมีดไม้ ที่เคยฆ่าสัตว์มาสาบานกับหลวงพ่อนั้นได้ยกเลิกไปโดยปริยาย เพราะหลวงพ่อเห็นว่าทางราชการ ได้ส่งหน่วยงานต่างๆ เข้ามาจัดการดูแลช่วยเหลือและให้การศึกษาแก่พวกเขา คงจะช่วยพวกเขาให้มีการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น และมีความสงบสุขเป็นระเบียบเหมือนที่ท่านเคยอบรมสั่งสอนมา

บูรณะวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม

เมื่อหลวงปู่ได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม  ท่านได้บุกเบิกปฏิสังขรณ์และก่อสร้างถาวรวัตถุหลายอย่าง  เช่น  วิหารครอบรอยพระพุทธบาท  พระเจดีย์สำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ  และพระพุทธรูปจำนวน  ๘๔,๐๐๐  องค์  ภายในทำเป็นชั้นสูง  ๑๖  ชั้น  พระบาทกบ  โดยเฉพาะวิหารครอบรอยพระพุทธบาท  ท่านก่อสร้างมาเป็นเวลา  ๓๔ ปี ทั้งนี้เนื่องจากท่านมีภารกิจในการก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์วัดอื่นๆ  ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย  ไม่ได้ทำเฉพาะวัดของท่านเท่านั้น  ระหว่างปี  พ.ศ. ๒๕๒๖-๒๕๒๙  ท่านได้สร้างประธานถวายวัดต่าง ๆ ที่ขอมา  เมื่อท่านพิจารณาเห็นสมควรจะให้ประมาณ  ๒๐  องค์  ขนาดองค์หน้าตักตั้งแต่  ๘๙  นิ้ว  ถึง  ๓๐  นิ้ว

เมื่อประมาณปี  พ.ศ.๒๕๑๔  พวกกะเหรี่ยงได้อพยพจากป่าเขามาพึ่งใบบุญอยู่กับหลวงปู่เป็นจำนวนมาก  ก่อนที่พวกเหล่านี้จะมาอยู่หมู่บ้านห้วยต้ม  หลวงปู่เคยไปโปรดเมตตาสงเคราะห์เป็นครั้งคราว  สาเหตุที่โยกย้ายกันมาเนื่องจากการไปมาติดต่อลำบาก  จะทำบุญกับหลวงปู่ต่อสักครั้งหนึ่งก็สิ้นเปลืองเงินทองและเสียเวลามาก  บางพวกทางราชการได้มาสร้างเขื่อนภูมิพล  ที่จังหวัดตากขึ้นทำให้มีที่ทำกิน  การอพยพมาอยู่ในระยะแรกมีความลำบากมากเพราะพื้นที่บางส่วนเป็นหินศิลาแลงและแห้งแล้ง

อีกประการหนึ่งกะเหรี่ยงเหล่านี้ส่วนใหญ่เคยสูบฝิ่นกินเนื้อสัตว์มาก่อน  ผู้ที่จะมาอยู่หลวงปู่ท่านให้ตั้งสัตย์ว่าต้องเลิกสูบฝิ่นและเลิกกินเนื้อสัตว์ทุกคน  เพราะสถานที่แห่งนี่ตามตำนานในอดีต พระพุทธเจ้าเคยเสร็จมาโปรด  พระพุทธองค์ไม่ทรงเสวยเนื้อสัตว์  และทรงโปรดประทับรอยพระพุทธบาทไว้ด้วย  จึงถือเป็นประเพณีตั้งแต่นั้นสืบมา  ผู้ที่ไม่เชื่อฟังมักอยู่อย่างไม่มีความสุข มีเรื่องทุกข์ร้อนใจและเจ็บป่วยอยู่เสมอ

กะเหรี่ยงบางคนไม่สามารถทนได้อยู่ได้ต้องอพยพกลับไปอยู่ถิ่นเดิม  พวกที่ทนอยู่ได้ก็ตั้งหน้าทำความดี  ทำบุญให้ทานรักษาศีลภาวนา  มีความขยันขันแข็งต่อสู่อุปสรรคอันแห้งแล้งของธรรมชาติ  มีชีวิตอยู่อย่างง่ายๆ  ไปวันหนึ่งๆ  หลวงปู่เล่าให้ฟังว่าก่อนที่พวกกะเหรี่ยงจะมาอยู่  พวกอื่นจะเข้ามาอยู่ทำไร่ทำไถนาไม่ได้ต้องมีอันเป็นไปเกือบทุกราย  น้ำที่เคยแห้งแล้งก็มีเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ  ทั้งนี้อาจเป็นเพราะคุณธรรมความดีที่พวกเขาได้พยายามสร้างสรรค์นั่นเอง

ถึงแม้กะเหรี่ยงพวกนี้ทำไร่นาได้น้อยจนแทบจะไม่พอกินก็ตาม  เมื่อเขาได้ผลิตผลซึ่งหามาได้  ผู้ที่พวกเขานำมาถวายให้เป็นอันดับแรกก็คือหลวงปู่ เพื่อให้ได้รับผลบุญกุศลไว้กินไว้ใช้ภายภาคหน้าและประโยชน์สุขในปัจจุบันเสียก่อน  แล้วจึงนำส่วนที่เหลือมากินเพื่อเลี้ยงตนครอบครัว และขายต่อไป  อาชีพอย่างหนึ่งก็คือการขุดศิลาแลงขาย นับว่าต้องให้ความอุตสาหะพยายามมาก  เพราะเครื่องมือที่ใช้มีแต่เพียงมีดสำหรับขุดเพียงอย่างเดียว  และต้องตบแต่งศิลาแลงที่เป็นแผ่นใหญ่ให้ได้ตามขนาดต้องการ  ผู้ที่มีความขยันจริง ๆ  จะขุดหินศิลาแลงได้โดยเฉลี่ยวันละประมาณ  ๓๐  บาทต่อวัน  (๑๐ ก้อน)  คือต้องทำงานตั้งแต่เช้าจนกระทั่งค่ำ  สำหรับศิลาแลงที่จะขายให้วัดก็ลดให้อีกราคาหนึ่ง  โดยแบ่งเป็น  ๓  ส่วน  คือกินส่วนหนึ่ง  ทำบุญส่วนหนึ่ง  และเป็นค่าภาษีอีกหนึ่งส่วน

ทุกเช้ากะเหรี่ยงเกือบทุกหลังคาเรือนจะนำอาหารมาถวายที่วัดเป็นประจำ  การใส่บาตรที่นี่ไม่เหมือนที่อื่น  เนื่องจากพระภิกษุจะออกรับบิณฑบาตในวัด  โดยนั่งเป็นแถวเรียงยาวนับตั้งแต่ผู้อาวุโสสูงสุดคือหลวงปู่และไล่ลงมาตามลำดับ  การใส่บาตรจะให้ผู้ชายใส่ก่อนแล้วตามด้วยผู้หญิง  อาหารที่จะใส่บาตรมีเพียงข้าวเหนียวอย่างเดียว  สำหรับเข้าเจ้าและกับข้าวจะใส่แยกไว้ถวายต่างหากภายหลัง  นอกจากนั้นยังมีการถวายน้ำซึ่งนำมาจากบ้านใส่ลงคนโทที่ตั้งเรียงไว้  แล้วนำน้ำนี้ไปถวายเพื่อให้พระภิกษุที่ออกบิณฑบาตกรวดน้ำอีกครั้งหนึ่ง 

ทุกวันในตอนเย็นพวกกะเหรี่ยงบางส่วนจะมาฟังพระสวดมนต์ทำวัตรเย็น  และกราบไหว้บูชาพระธาตุเจดีย์เสมอ  การถือศีลนั้นพวกเขาถือเป็นชีวิตจิตใจอยู่แล้ว  ส่วนการภาวนาจะกระทำทุกเช้าก่อนออกไปทำงานและตอนเย็นก่อนนอน  โดยใช้วิธีตกลูกประคำ  นึกถึงคุณของพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  โดยภาวนา  พุทโธ  ธัมโม  สังโฆ  และพิจารณายอดของวิปัสสนา  คือ  อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา

ก่อนวันพระ  ๑  วัน  ก่อนสวดมนต์ทำวัตรเย็น  พวกกะเหรี่ยงจะพากันมารับศีล ๕  ที่วัดกับพระภิกษุแล้วพากันไปสวดมนต์ที่วิหารครอบรอยพระพุทธบาท  สำหรับในวันพระจะมีคนมาทำบุญกันมากเป็นพิเศษ  เพราะวันนี้พวกกะเหรี่ยงถือว่าเป็นวันสำคัญ  ต้องหยุดทำงานมาช่วยบำเพ็ญประโยชน์ให้กับวัด  เช่น  กวาดถูลานวัดพื้นวัด  ขนหินดินทรายถมที่ให้วัด  หลังจากฉันเพลจะมีการทำบุญอีกครั้งหนึ่ง แล้วพวกกะเหรี่ยงจะนำขันน้ำส้มป่อยไปประพรมสถานที่สำคัญเช่น  รอยพระพุทธบาท  พระธาตุเจดีย์  พระบาทกบ  แม้แต่ห้องน้ำของหลวงพ่อปู่  เพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่ตน  ส่วนในตอนกลางคืนจะมีการฟังเทศน์ตั้งแต่เวลาประมาณสองทุ่มครึ่งถึงประมาณ ๕  ทุ่ม  สำหรับการเทศน์เป็นภาษาลานนา  ผู้ฟังส่วนใหญ่ฟังกันไม่รู้เรื่อง  แต่ถือว่าเป็นการฟังเพื่อเอาบุญพวกเขาก็ยินดีกระทำกัน

พวกกะเหรี่ยงบางคนมาช่วยทางวัดก่อสร้างเกือบทุกวัน  กระทำเพื่อหวังส่วนบุญแต่เพียงอย่างเดียว  นอกจากจะไม่มีกินจริงๆ  จะขอแต่เพียงข้าวสาร  เกลือ  นำไปหุงกินเท่านั้น  และเป็นที่น่าสังเกตว่า การก่อสร้างที่ใช้ฝีมือจะเป็นกะเหรี่ยงชายทั้งหมด  ส่วนการทำงานหนัก  เช่น  ขนหิน  ดิน  ทราย  น้ำ  ส่วนมากจะเป็นผู้หญิง  ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ หลวงปู่ท่านไม่ให้ผู้หญิงขึ้นไปเหยียบย่ำนั่นเอง

การก่อสร้างทุกอย่างที่ทำเสร็จไปบ้างแล้ว  และกำลังกระทำอยู่หลวงปู่ท่านเป็นผู้ออกแบบ  และควบคุมงานเองหมด  นอกจากนั้นท่านยังสามารถทำให้ดูเป็นตัวอย่างได้ด้วย  กำลังที่ได้ส่วนใหญ่คือ  กะเหรี่ยงซึ่งหลวงปู่ได้ฝึกฝนแทนองค์ท่าน  ถึงแม้ว่าสภาพสังขารของท่านจะร่วงโรยไปมากแล้วแต่คำว่าย่อท้อของท่านนั้นไม่มี  เห็นท่านทำงานแล้วบางครั้งน้ำตาแทบจะไหล  เพราะขณะนั้นท่านเดินเกือบจะไม่ได้ ต้องใช้รถเข็นแทน  ท่านก็ยังอุตส่าห์ทำงานจนเสร็จตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้าจนกระทั่ง  ๕  ทุ่ม  เที่ยงคืน  ท่านต้องทำงานทุกอย่างทั้งด้านวัตถุและจิตใจไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้าง  ความทุกข์ร้อนของผู้คนจากทั่วสารทิศ  การทำมาหากินและปัญหาอื่นๆ  อีกมากมาย

กะเหรี่ยงผู้ชายนอนเรียงแถว ให้หลวงปู่เดินไปที่สวดมนต์

วันสำคัญๆ  ในพระพุทธศาสนา  เช่น  วันเข้าพรรษา  ออกพรรษา  วันสงกรานต์  นอกจากจะมีการทำบุญตามปกติแล้ว  ยังมีการสรงน้ำหลวงปู่ โดยท่านเข้าไปนั่งอยู่ในกุฏิเล็กๆ  ที่สร้างไว้แล้วทำรางน้ำยื่นออกมา  ผู้ที่จะสรงน้ำก็เทน้ำลงตามรางไหลไปรดที่องค์ท่าน  มีกะเหรี่ยงหลายคนนำถุงพลาสติกบ้าง  กระป๋องบ้าง  ไปรองน้ำที่ใต้ถุนซึ่งตกจากองค์ท่านมาดื่มกิน  บางคนก็เอาตัวไปอาบ  แม้กระทั้งผ้าที่ท่านสรงแล้ว  กะเหรี่ยงบางคนก็บิดเอาน้ำที่ยังค้างอยู่มาดื่มกินด้วยความเคารพศรัทธาในหลวงปู่เป็นอย่างยิ่ง  และหลังจากที่หลวงปู่สรงน้ำเปลี่ยนผ้าเรียบร้อยแล้ว กะเหรี่ยงผู้ชายจะนอนเรียงกันเป็นแถวยาวให้ท่านเหยียบเดินจนกระทั่งไปถึงที่ท่านสวดมนต์  

มิใช่ว่าพวกเขาจะพึ่งเริ่มกระทำประเพณีเช่นนี้แต่ได้ทำกันมาตั้งแต่อยู่ตามป่าเขาแล้ว การทำไร่ทำนาในปีใดมีฝนตกน้อยกว่าปกติ  พวกกะเหรี่ยงจะทำพิธีขอฝนโดยหลวงปู่เป็นประธาน  วิธีการตามที่ได้เห็นมานั้นอันดับแรกจะมีการรับศีลถวายของทานแก่พระภิกษุสงฆ์  แล้วหลวงปู่จะเทศนาธรรมในวิหารครอบรอยพระพุทธบาท  จากนั้นท่านจะออกไปทำพิธีอยู่สักพักใหญ่แล้วราดน้ำลงบนฆ้อง  เมื่อเสร็จพิธีแล้วจะนำฆ้องออกเดินตีไปโดยทั่วบริเวณ  ตามที่ได้ยินได้ฟังมาฝนตกทุกครั้ง แต่จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับศรัทธาของผู้ร่วมทำ  ถ้ามีศรัทธามากฝนก็ตกมาก ถ้ามีศรัทธาน้อยก็ตกน้อย

ในหมู่คนดีย่อมมีคนไม่ดีร่วมอยู่ด้วย  ที่หมู่บ้านห้วยต้มนี้ก็เช่นเดียวกัน  หมู่บ้านกะเหรี่ยงทั้งหมดเกือบ ๖๐๐  หลังคาเรือน  มีคนอาศัยอยู่  ๓,๐๐๐  กว่าคน  มีกะเหรี่ยงบางคนเที่ยวชักชวนกันเล่นไพ่  ไฮโล  ดื่มสุรา  ร้องรำทำเพลง  กินชิ้นกินเนื้อกันเป็นที่สนุกสนาน  หลวงพ่อท่านได้รับทราบข่าวเรื่องนี้มานานแล้ว  และพยายามบอกเล่าตักเตือนกันไป  แต่ก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควรเพราะพวกเหล่านี้ไปฟังคนพาล  มิจฉาทิฐิ  ไม่ยอมเข้าวัดฟังธรรมหลงอยู่ในอบายมุขตลอดมา

จนกระทั่งในวันที่  ๑๙  มกราคม  ๒๕๒๕  ที่ผ่านมา  นายปิเชอซึ่งเป็นกะเหรี่ยงผู้หนึ่งได้ล้มป่วยหนักมาก ในตอนเย็นหลวงปู่ได้รับทราบข่าวจึงไปเยี่ยมที่บ้าน เห็นนายปิเชอมีอาการป่วยปางตาย  ท่านจึงเป่ามนต์ให้สักพักหนึ่งนายปิเชอก็ฟื้นคืนสติขึ้นมา  ในระหว่างที่ป่วยมากนั้น ปิเชอเล่าให้หลวงปู่ฟังว่าฝันว่าได้ขึ้นไปพบครูบาเจ้าศรีวิชัยและครูบาเจ้าอภิชัยขาวปี  ท่านทั้งสองให้นายปิเชอลงมาบอกกล่าวตักเตือนพวกกะเหรี่ยงที่ทำไม่ดีให้กลับตัวเสียใหม่ เพราะในไม่ช้าจะมียักษ์ลงมากินคนบาปคาบร้าย  ซึ่ง รายละเอียดมีอยู่แล้วในเรื่องบันทึกการจัดพิธีชำระหนี้กรรม

หลวงปู่ท่านได้บันทึกรายละเอียดตามที่นายปิเชอบอกกล่าวไว้หมด  เมื่อถึงวันพระท่านได้นำเรื่องนี้ไปเทศนาให้กะเหรี่ยงฟัง  พร้อมทั้งบอกคาถากันยักษ์ให้ท่องจำสวดมนต์ทุกเช้าเย็นและให้เขียนติดไว้ที่บ้านทุกคน  หลวงปู่ท่านได้ปล่อยช่วงเวลาไว้สัก  ๒-๓  อาทิตย์  เพื่อให้สื่อข่าวให้ทราบทั่วกัน  และในวันที่  ๑๔  กุมภาพันธ์  ๒๕๒๕  หลวงปู่ท่านได้เรียกกะเหรี่ยงให้มาประชุมรวมกันทั้งหมด  แล้วเริ่มเทศน์เป็นภาษาไทยบ้าง  ภาษากะเหรี่ยงบ้างสลับกันไปพอจับใจความได้ว่า 

“เดี๋ยวนี้ครูบา (หมายถึงหลวงปู่)  ไม่มีความหมายแล้ว  จะเป็นครูบ้าอยู่แล้ว  ว่ากล่าวตักเตือนให้ทำดีไม่ยอมทำต่อไปไม่ต้องมาเชื่อฟังคำกัน  โน่นไปเชื่อไอ้โน่น  (แล้วท่านก็เอ่ยชื่อผู้ชักชวนกันทำผิด)  ยกให้มันเป็นครูบาจะได้กินชิ้นกินเนื้อ  เล่นไพ่  ไฮโลว์  ดื่มเหล้า  ครูบาตนนี้ไม่ต้องมาเชื่อ  จับเอาไอ้โน่น  มาเป็นครูบาแทน”  

กะเหรี่ยงทุกคนนั่งฟังด้วยความสงบเงียบและหลังจากที่ท่านว่ากล่าวได้สักพักหนึ่งท่านจึงสั่งสอนให้ละทิ้งการเห็นผิดนั้นเสีย  ให้หันกลับมาประพฤติอยู่ในศีลในธรรมเหมือนกับครั้งแรกที่เคยมาอยู่

อยู่ต่อมาไม่นานได้รับทราบข่าวจากผู้ใหญ่บ้านชื่อนายลาซอว่า  กะเหรี่ยงหมู่ยางทุกคนร่วมมือกันให้ดินแดนแห่งนี้เป็นดินแดนแห่งความบริสุทธิ์เหมือนเดิม  ใครที่กระทำผิดศีลธรรมจะอยู่ในหมู่บ้านนี้ไม่ได้  และเมื่อประมาณสัก ๒ – ๓  ปีที่ผ่านมา  เคยมีเทวดาที่รักษาน้ำตกที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม  ไปเข้าร่างทรงและกล่าวว่าในดินแดนหมู่บ้านห้วยต้มแห่งหนี้  นับตั้งแต่รอยพระพุทธบาทที่วัดออกไปเป็นระยะทางโดยรอบ  ๑๐๐  เส้น  (๔กิโลเมตร)  ผู้ใดที่มาอาศัยอยู่จะกินเนื้อสัตว์ไม่ได้  ถ้าใครกินจะถูกลงโทษแม้ผู้อื่นที่เข้ามาในบริเวณนี้ต้องงดกินเนื้อสัตว์  สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในรัศมี  ๑๐๐  เส้น จะออกไปกินเนื้อสัตว์ที่ไหนก็ไม่ได้ นอกจากไม่มีอะไรกินจริง ๆ มีแต่เนื้อสัตว์ไม่มีข้าว ไม่มีผักกินเพื่อประทังชีวิตเท่านั้นจึงอนุญาตให้กินได้  ได้เห็นศรัทธาหมู่ยางพวกนี้แล้วก็ปลื้มปิติแทน  ในไม่ช้าพวกเขาคงจะได้รับความสุขกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

หลวงปู่ท่านเมตตาสั่งสอนให้ลูกศิษย์ทุกๆ คน  ยึดมั่นอยู่ในความดีมีความรักใคร่สามัคคีซึ่งกันและกัน  ยึดมั่นในอมตนิพพานเป็นแดนสุดท้าย  และเมื่อท่านได้อ่านประวัติและปฏิปทาบางอย่างของหลวงพ่อแล้ว  สิ่งใดดีก็นำไปปฏิบัติเพื่อเป็นคุณประโยชน์สำหรับตนเถิด  ขอยกคำสุภาษิตโบราณ  ซึ่งหลวงปู่ท่านเมตตาสั่งสอนให้ถือเป็นคติเตือนใจเสมอว่า

“คุณอันใดดีให้หมั่นสร้าง  อย่าได้อ้างแดนภายหลัง

 ความทุกข์เที่ยงมาทันไม่ร้าง ใครช่างสร้างจักเป็นบุญแล”

สมณศักดิ์

๔ เมษายน ๒๕๑๔ เป็นพระครูใบฎีกาชัยยะวงศาพัฒนา

๕ เมษายน ๒๕๓๐ เป็นพระครูพัฒนากิจจานุรักษ์

๑๐ ธันวาคม ๒๕๓๓ เป็นเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม

๕ ธันวาคม ๒๕๔๐ เป็นพระครูพัฒนกิจจานุรักษ์ เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นโท

เกียรติคุณ

๑๕ มีนาคม ๒๕๑๐ ได้รับแต่งตั้งเป็น กรรมการพัฒนาท้องถิ่นในเขตอำเภอลี้ โดยเจ้าคณะจังหวัดลำพูน

๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๖ ได้รับรางวัล “ครูบาศรีวิชัย” ในฐานะที่ท่านเป็นบุคคลที่มีผลงานการส่งเสริม พัฒนาพระพุทธศาสนา กิจการสาธารณะ มีความวิริยะ เสียสละเพื่อสังคม และเป็นแบบอย่างที่ดี มีปฏิปทาเดินตามรอยเยี่ยง ครูบาเจ้าศรีวิชัยนักบุญนักพัฒนาแห่งล้านนาไทย

๓ เมษายน ๒๕๓๙ ได้รับโล่เชิดชูเกียรติคุณในฐานะ “คนดีศรีทุ่งหัวช้าง” จาก อ.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน

๔ พฤษภาคม ๒๕๔๒ ได้รับโล่เชิดชูเกียรติในฐานะเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านศิลปินดีเด่น จังหวัดลำพูน สาขาศิลปะ สถาปัตยกรรมจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๒ ได้รับ รางวัล เสมาธรรมจักร ในฐานะ “บุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา สาขาส่งเสริมการพัฒนาชุมชน”

ประวัติการจำพรรษา

ของ

หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา

ลำดับการจำพรรษาของหลวงปู่เมื่อเป็นสามเณร

พรรษาที่ ๑-๒ พ.ศ. ๒๔๖๘-๖๙ (อายุ ๑๓-๑๔ ปี) วัดบรมธาตุแก่งสร้อย ต.บ้านนา อ.สามเงา จ.ตาก

พรรษาที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๗๐ (อายุ ๑๕ ปี) วัดก้อท่า ต.บ้านก้อ อ.ลี้ จ.ลำพูน

พรรษาที่ ๔ พ.ศ. ๒๔๗๑ (อายุ ๑๖ ปี) วัดจอมหมอก ต.ม่อนจอง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

พรรษาที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๗๒ (อายุ ๑๗ ปี) วัดแม่อู่ฮู ต.แม่ต้าน อ.แม่ต้าน จ.ตาก

พรรษาที่ ๖-๗ พ.ศ.๒๔๗๓-๗๔ (อายุ ๑๘-๑๙ ปี) วัดจอมปลวก ต.ม่อนจอง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

ลำดับการจำพรรษาของหลวงปู่เมื่อเป็นพระภิกษุ

พรรษาที่ ๑ พ.ศ.๒๔๗๕ (อายุ ๒๐ ปี) วัดห้วยแม่บางแบ่ง เขตพม่า (อุปสมบทที่วัดป่าน้ำ เมื่อเดือน ๕ เหนือ โดยมีครูบาเจ้าพรหมจักร เป็นพระอุปัชฌาย์)

พรรษาที่ ๒-๔ พ.ศ.๒๔๗๖-๗๘ (อายุ ๒๑-๒๓ ปี) วัดจอมหมอก ต.ม่อนจอง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

พรรษาที่ ๕ พ.ศ.๒๔๗๙ (อายุ ๒๔ ปี) วัดห้วยเปียง อ.แม่ระมาด จ.ตาก

พรรษาที่ ๖ พ.ศ.๒๔๘๐ (อายุ ๒๕ ปี) วัดไม้ตะเคียน อ.แม่ระมาด จ.ตาก

พรรษาที่ ๗-๘ พ.ศ.๒๔๘๑-๘๒ (อายุ ๒๖-๒๗) วัดห้อยเปียง (นุ่งขาวห่มขาว)

พรรษาที่ ๙ พ.ศ.๒๔๘๓ (อายุ ๒๘ ปี) วัดห้วยหละ ต.ป่าพลู อ.บ้านโอ่ง จ.ลำพูน

พรรษาที่ ๑๐-๑๔ พ.ศ. ๒๔๘๔-๘๘ (อายุ ๒๙-๓๓ ปี) วัดป่าพลู ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน

พรรษาที่ ๑๕-๑๘ พ.ศ.๒๔๘๙-๙๒ (อายุ ๓๔-๓๗ ปี) วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ต.นาทราย อ.ลี้ จ.ลำพูน

พรรษาที่ ๑๙-๒๔ พ.ศ.๒๔๙๓-๙๘ (อายุ ๓๘-๔๓ ปี) วัดแม่ต๋ำ ต.เสริมซ้าย อ.เสริมงาม จ.ลำปาง

พรรษาที่ ๒๕-๒๗ พ.ศ.๒๔๙๙-๒๕๐๑ (อายุ ๔๔-๔๖ ปี) วัดน้ำอุ่น ต.แม่ตืน อ.ลี้ จ.ลำพูน

พรรษาที่ ๒๘ พ.ศ.๑๕๐๒ (อายุ ๔๗ ปี) วัดพระธาตุห้าดวง ต.ลี้ อ.ลี้ จ.ลำพูน

พรรษาที่ ๒๙-๖๙ พ.ศ.๒๕๐๓-๒๕๔๓ ( อายุ ๔๘-๘๘ ปี) วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ต.นาทราย อ.ลี้ จ.ลำพูน

กิจวัตรประจำวันในช่วงปัจฉิมวัยของหลวงปู่

๐๖.๐๐ น. สวดมนต์ไหว้พระ อธิษฐานบาตร

๐๖.๓๐ น. ลงบิณฑบาต

๐๗.๐๐ น. ฉันภัตตาหารเช้า

๐๘.๐๐ น. สวดมนต์หลังฉันเช้า

๐๘.๓๐ น. พักผ่อนอิริยาบถ

๐๙.๐๐ น. รับแขกญาติโยม ออกตรวจงานก่อสร้างทั้งในและนอกวัด

๑๑.๓๐ น. ฉันเพล

๑๓.๐๐ น. จำวัดพักผ่อน

๑๖.๐๐ น. ออกตรวจงานก่อสร้างภายในวัดหรือนอกวัด

๑๙.๐๐ น. สรงน้ำ

๒๐.๐๐ น. ทำวัตรสวดมนต์ และเจริญกัมมัฎฐาน ที่ห้องรับแขก

๒๒.๐๐ น. สวดมนต์ไหว้พระในห้องจำวัด ทำธุระส่วนตัว เช่น เขียนอักขระล้านนา, ออกแบบงานก่อสร้าง, เขียนบันทึกประวัติ หรือตรวจทานบทสวดมนต์

๐๐.๐๐-๐๑.๐๐ น. จำวัดพักผ่อน

หมายเหตุ หลังฉันภัตตาหารส่วนใหญ่ท่านจะชอบฉันหมากต่อเสมอ เวลาตรวจงานนั้นไม่แน่นอน บางวันบางครั้งท่านจะไปตั้งแต่เสร็จจากสวดมนต์หลังฉันเช้าเสร็จ ในกรณีที่สถานที่ก่อสร้างอยู่นอกวัดและอยู่ไกลวัด

สรุปอาการป่วยและการมรณภาพ

ของหลวงปู่พระครูบาชัยยะวงศาพัฒนา

วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ต.ลี้ อ.ลี้ จ.ลำพูน

วันที่ ๑๑ พ.ค. ๒๕๔๓ หลวงปู่พระครูบาชัยยะวงศาพัฒนา ได้เดินทางไปรักษาองค์ท่านที่ โรงพยาบาลลานนา จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่หลวงปู่ได้เข้าทำการรักษาองค์ท่านเป็นประจำ เนื่องจากมีอาการ อ่อนเพลียและมีอาการหลงๆ ลืมๆ ขณะแพทย์ได้ทำการเติมโปรตีนและเปลี่ยนยาให้ท่าน เพราะมียาบางตัวมีผลทางด้านระบบประสาท องค์หลวงปู่มีอาการดีขึ้นเป็นลำดับ และกำหนดจะกลับวัดในวันจันทร์ที่ ๑๕ พ.ค. ๒๕๔๓

ในคืนวันอาทิตย์ที่ ๑๔ พ.ค. ๒๕๔๓ เวลาประมาณ ๕ ทุ่มเศษ หลวงปู่ได้มีอาการท้องผูกและ ถ่ายไม่ออก ได้มีการสวนทวารเพื่อให้ท่านถ่ายเพราะหลวงปู่ปวดท้องมาก ช่วงนี้ จนถึงเวลา ๐๖.๐๐ น. เศษ ของวันจันทร์ที่ ๑๕ พ.ค. ๒๕๔๓ หลวงปู่ได้ถ่ายประมาณ ๔ ครั้ง และมีอาการอ่อนเพลีย หายใจไม่ออก หลวงปู่ปรารภว่า เจ็บที่ลิ้นปี่ เจ็บอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน วันนี้หลวงปู่ฉันไม่ได้ เวลา ๐๗.๐๐ น. เศษ แพทย์ได้ตรวจดูอาการ หลวงปู่และได้ทราบว่าหลวงปู่มีอาการโรคหัวใจกำเริบ แพทย์จึงกราบนิมนต์หลวงปู่เข้ารักษาที่ห้อง ICU

ครูบาพรรณ

หลวงปู่ได้อยู่รักษาที่ห้อง ICU โดยอยู่ในความดูแลของแพทย์ อาการ ของหลวงปู่เริ่มดีขึ้น เล็กน้อย ช่วงบ่ายความดันเริ่มต่ำลง ไตเริ่มไม่ทำงานทำให้ปัสสาวะไม่ออก แพทย์ได้เชิญแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านหัวใจและไตมาช่วยรักษาอาการหลวงปู่ ช่วงเย็นคณะแพทย์ได้พิจารณาสวนปัสสาวะให้หลวงปู่ แต่ปัสสาวะก็ไม่ออก คณะแพทย์จึงตัดสินใจเจาะช่องท้องเพื่อเอาปัสสาวะหลวงปู่ออก เมื่อปัสสาวะหลวงปู่ออกแล้ว ความดันหลวงปู่เริ่มดีขึ้นคุยได้ พูดได้ คณะแพทย์ต้องการให้ ท่านพักผ่อน จึงห้ามเยี่ยมหลวงปู่ ช่วงกลางคืนจนถึงเช้าของวันอังคารที่ ๑๖ พ.ค. ๒๕๔๓ หลวงปู่ ให้พระที่ดูแลท่านแปรงฟันให้ท่าน ท่านยังคุยพูดได้บ้าง แต่ยังมีอาการเหนื่อย เช้าวันนี้หลวงปู่ฉันน้ำข้าวได้ ๔-๕ ช้อน เมื่อฉันเสร็จท่านก็พัก ดูอาการหลวงปู่ดีขึ้น ช่วงเช้ามีหลวงพ่อพระครูบาพรรณ วัดนาเลี่ยงและท่านพระคำจันทร์ วัดพระบาทห้วยต้ม ไปกราบเยี่ยมอาการหลวงปู่ หลวงปู่ท่านก็คุยได้ ยังให้ศีลให้พรหลวงพ่อพระครูบาพรรณได้อย่างชัดเจน

หลังจากนั้นเวลาบ่ายโมง หลวงปู่เริ่มมีอาการกระวนกระวาย และหายใจไม่ออก ความดันต่ำลงเรื่อยๆ คณะแพทย์ได้ปรึกษากันและลงความเห็นว่า ให้ย้ายหลวงปู่เข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลมหาราช (สวนดอก) เพราะที่โรงพยาบาลลานนา ไม่มีเครื่องมือที่จะรักษาอาการของหลวงปู่ได้

เมื่อไปถึง โรงพยาบาลมหาราช ทางคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและไต ได้ทำการรักษาหลวงปู่ และได้พบว่าหลวงปู่มีเลือดไปอุดตันที่เส้นเลือดหัวใจข้างขวา ยาวประมาณ ๔-๕ นิ้ว ไตไม่ทำงาน ปอดอักเสบและมีไข้ คณะแพทย์จึงได้ทำการรักษาหลวงปู่ด้วยวิธีสุดท้าย คือ ใช้บอลลูนไปช่วยทำให้เลือดที่อุดตันเส้นเลือดใหญ่กระจาย

เวลาประมาณ ๑๗.๐๐ น. เศษ หลวงปู่ออกมาจากห้องทำบอลลูน ดูท่านดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ยกแขนและคุยได้ดี คณะแพทย์ได้พาหลวงปู่มาอยู่ที่ห้อง CCU ตึกศรีพัฒน์ ชั้น ๘ โรงพยาบาลมหาราช เวลาประมาณทุ่มเศษ หลวงปู่เริ่มมีอาการหายใจไม่ออก แน่นหน้าอก คณะแพทย์ได้จึงได้ช่วยกัน รักษาหลวงปู่อย่างสุดความสามารถ แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น ไตไม่ทำงาน ความดันต่ำลงเรื่อยๆ เพราะ เลือดที่อุดตันกระจายทำให้หลวงปู่ดีขึ้น แต่ไม่สามารถผ่านเส้นเลือดเล็กๆ ที่ไปเลี้ยงร่างกายได้เพราะเลือดแข็งตัวเป็นลิ่ม จึงอุดตันที่เส้นเลือดเล็ก ทำให้หลวงปู่ทรุดลงอีก หายใจไม่ออกแน่นหน้าอก จนท่านหมดสติ คณะแพทย์ได้พยายามให้ยาละลายเลือดที่อุดตัน แต่ก็ไม่ได้ผล ความดันเริ่มต่ำลงอีก

คณะแพทย์ช่วยหลวงปู่จนถึงเวลา ประมาณตีหนึ่ง ของวันที่ ๑๗ พ.ค. ๔๓ คณะแพทย์ได้แจ้งว่าไตของหลวงปู่ไม่ทำงานแล้ว สมองไม่สั่งงาน เวลา ๐๑.๑๐ น. คณะแพทย์แจ้งว่าหัวใจของหลวงปู่ได้หยุดเต้น ไม่มีระบบการตอบรับของร่างกายหลวงปู่แล้ว แต่ยังใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจอยู่ ถึงอย่างไรหลวงปู่ก็ไม่สามารถกลับมาหายใจได้อีก เพราะเส้นเลือดหัวใจอุดตัน ไตวาย สมองไม่ทำงาน ปอดอักเสบ ช่วงนั้นหลวงพ่อพระครูบาพรรณอยู่ในห้อง CCU พอดี ท่านจึงยังไม่ให้แพทย์เอา เครื่องกระตุ้นหัวใจออก

จนถึงเวลา ๐๗.๓๐ น. คณะศิษย์ นำโดยหลวงพ่อพระครูบาพรรณ วัดนาเลี่ยง อ.ลี้ จ.ลำพูน ได้ทำพิธีขอขมาพระศพหลวงปู่ และให้คณะแพทย์ถอดเครื่องกระตุ้นหัวใจหลวงปู่ออก หลวงปู่ จึงนอนพักอย่างสงบตั้งแต่นั้นมา

 พระอนันต์ วัดพระธาตุห้าดวง ผู้บันทึก

บันทึกท้ายประวัติพระครูพัฒนกิจจานุรักษ์

(หลวงปู่ครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา)

ด้วยความที่หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา มีวัตรปฏิปทาดำเนินรอยตามพระอริยเจ้าในฝ่ายอรัญญาวาสี ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร มีการปฏิบัติน้อมไปในทางวิปัสสนากรรมฐาน ดังนั้นในการบันทึกชีวประวัติของพระคุณท่านจึงพยายามเว้นเรื่องการได้รับยศถาบรรดาศักดิ์ แม้มีเหตุการณ์สำคัญต่างๆ เช่น การได้รับแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูใบฎีกาจากเจ้าคณะจังหวัดลำพูน หรือในคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช บรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม เป็นต้น ผู้เขียนจึงขอบันทึกเรื่องราว เหตุการณ์สำคัญเรียงตามลำดับปี พ.ศ. ไว้ดังนี้คือ

ที่วัน เดือน ปีเหตุการณ์สำคัญ
๔ เมษายน ๒๕๑๔พระราชสุตาจารย์ บริหารจามเทวี ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี  สังฆปาโมกข์ เจ้าคณะจังหวัด นครลำพูน แต่งตั้ง  สมณศักดิ์หลวงปู่ครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา  เป็นพระครูฐานานุกรมของพระเดชพระคุณท่าน ในตำแหน่งที่ “พระครู ใบฎีกา”
๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๒พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์  เสด็จเยี่ยมราษฎรชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ณ บ้านพระพุทธห้วยต้ม และ  ทรงนมัสการหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา ทรงฝากราษฎร กับหลวงปู่ครูบาฯ  ให้ช่วยเอาใจใส่ปกครองดูแลด้วย
๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมกุมารี  และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์เสด็จเยี่ยมราษฎรชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง  ณ บ้านพระพุทธบาทห้วยต้ม และทรงทอดพระเนตรโครงการหลวงบ้านผาลาด  อ่างเก็บน้ำแม่ลอง และทรงนมัสการหลวงปู่ครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา  เป็นครั้งที่ ๒
๕ ธันวาคม ๒๕๓๐พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตั้งสมณศักดิ์ถวายหลวงปู่ ครูบาชัยวงศาพัฒนา  เป็นพระครูสัญญาบัตรรองเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ในราชทินนามที่  “พระครูพัฒนกิจจานุรักษ์” เข้าเฝ้า เจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ  สมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถระ) รับพระราชทานสัญญาบัตรพัดยศและผ้าไตร ณ  หอประชุมพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๓๐
๑๐ กรกฎาคม ๒๕๓๓แต่งตั้งให้หลวงปู่ ครูบาชัยยะวงศาพัฒนาเป็น เจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม
๕ ธันวาคม ๒๕๔๐พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ถวายหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นโทในราชทินนามเดิม
๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๒สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ทรงประทานรางวัลเสาเสมาธรรมจักร ประกาศเกียรติคุณหลวงปู่ครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนาในฐานะบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อ พระพุทธศาสนา สาขาส่งเสริมการพัฒนาชุมชน
พ.ศ. ๒๕๔๓สมเด็จพระสังฆราช ประเทศศรีลังกา ประทานประกาศเกียรติคุณ

พระเทวานัมปิยเถระ

ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่หลวงปู่ไปรับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ “พระครูพัฒนกิจจานุรักษ์” ท่านได้แวะผักผ่อนที่วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูนและอาจารย์ปฐม พัวพันธ์สกุล ได้ถ่ายภาพขณะที่ท่านวัดรอยเท้าของท่านเองเมื่อครั้งท่านอายุได้ ๒๒ ปี ที่ท่านได้เคยประทับไว้บนก้อนหินก้อนนี้ ในขณะที่ท่านได้ไปทำธุระส่วนตัวในป่าข้างทาง หลังจากทำธุระเสร็จแล้ว เทวดาได้ขอให้หลวงปู่ประทับรอยเท้าลงบนหินก้อนใหญ่ ใต้ต้นไผ่หน้าประตูทางขึ้นวัดบ้านปาง เพื่อพวกเขาจะได้กราบไหว้บูชา

ปัจจุบันหินก้อนนี้เจ้าอาวาสวัดบ้านปางได้นำขึ้นไปประดิษฐานไว้บนวัด (ใกล้ประตูทางเข้าเขตอุโบสถ) และได้ให้หลวงปู่ประทับรอยมือไว้บนหินก้อนดังกล่าว พร้อมทั้งสร้างมณฑปครอบไว้อย่างสวยงาม

(จากหนังสือพระชัยวงศานุสสติ)

บุญฤทธิ์แห่งเมตตาธรรมของหลวงปู่

จาก “อัปปมาโณ สังโฆ” ในหนังสือพระชัยวงศานุสสติ

ประสบการณ์ดังต่อไปนี้ เป็นประสบการณ์เฉพาะกลุ่มบุคคลจำนวน ๔๐๐ คน ซึ่งเป็นผู้โดยสารของสายการบินแอร์อินเดีย ที่เดินทางจากอินเดียมายังประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ได้ประสบมาด้วยตัวเอง ทั้งนี้ผู้อ่านในยุคโลกาภิวัตน์ไม่จำเป็นจะต้องเห็นด้วยเสมอไป

ดร. พรนพ พุกกะพันธ์

เครื่องบินได้เริ่มออกเดินทางเมื่อเวลา ประมาณ 20.15 น. แอร์โฮสเตสได้นำเครื่องดื่มมาบริการท่ามกลางอากาศที่เย็นฉ่ำ พอเครื่องบินบินไปได้ประมาณ 45 นาที กัปตันก็ให้ปลดเข็มขัดรัดตัวออก เพราะบินสูงได้ระดับแล้ว มีการเริ่มแจกอาหารเย็นแก่ผู้โดยสาร สำหรับคณะของเราไม่ต้องเลือกว่าใครจะรับประทานอาหารประเภทปลา หรือไก่ เพราะผมสั่งไว้ให้เรียบร้อยแล้วว่าเป็นอาหารมังสวิรัติ สำหรับพระภิกษุสงฆ์ถวายน้ำผลไม้ ชอกโกแลต แล้วตามด้วยน้ำชาหรือกาแฟ

ในระหว่างที่รับประทานอาหาร บางคนก็รับประทานเสร็จแล้ว บางคนก็ยังไม่เสร็จ บางคนเดินไปเข้าห้องน้ำที่กลางลำบ้าง ท้ายลำเครื่องบินบ้าง ผมสังเกตว่า เครื่องบินมีอาการโคลงผิดปกติ เหวี่ยงไปเหวี่ยงมา สัญญาณดังขึ้น พร้อมทั้งอักษรภาษาอังกฤษปรากฏขึ้นว่า “FASTEN SEAT-BELT” หมายความว่า “โปรดรัดเข็มขัด” ผมได้ตะโกนบอกคณะของผมว่า กลับมานั่งที่ครับ…รัดเข็มขัดด้วย แต่มีน้อยคนนักที่เชื่อผม บางคนเดินเซไปเซมา

ผมนึกถึงเหตุการณ์ที่ผมนั่งดูรายการทีวีอยู่เมื่อคืนวานนี้ เขาประกาศว่า จะมีพายุโซนร้อนพัดผ่านอินเดียเข้าสู่บังคลาเทศ พายุโซนร้อนจะรุนแรงแค่ไหนไม่เคยพบ แต่ผมเคยเจอหางลมได้ฝุ่นที่สนามบินประเทศฟิลิปปินส์ ตั้งแต่ตอนเที่ยงจนถึง 18.00 น. ลมอะไรแรงถึงปานนั้น สังกะสีปลิวว่อนไปหมด ฝนตกหนักจนมองเห็นทัศนวิสัยไม่เกิน 100 เมตร เสียงลมโหยหวนหวีดหวิวน่ากลัว ไฟฟ้าดับทั้งสนามบิน วันนี้ผมกำลังเจอของจริงบนเครื่องบินที่ลอยอยู่บนอากาศด้วยความสูงคงไม่น้อยกว่า 30,000 ฟิต

ผมรู้สึกว่าเครื่องบินของผมถูกโยนลอยขึ้นเหมือนของเล่น ผู้โดยสารหวีดร้องด้วยความตกใจ คุณป้าคนหนึ่งที่นั่งอยู่ใกล้ผม เธอลอยขึ้นไปจรดหลังคาเครื่องบิน เพราะยังไม่ได้คาดเข็มขัด ผมพยายามดึงมือเธอไว้จนหล่นมาบนเก้าอี้ ชั้นเก็บสิ่งของสัมภาระของผู้โดยสารเหนือศีรษะถูกแรงกระแทกอย่างแรง เปิดออกเองเกือบหมดทุกตู้ สัมภาระหล่นออกมาโดยไม่มีใครสนใจ ต่างพยายามยึดเกาะสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเองมากที่สุด

แล้วเครื่องบินก็ถูกเหวี่ยงกลับมาอย่างแรงอีกครั้ง ผู้โดยสารก็หวีดร้องด้วยความตกใจ

ทันใดนั้นเครื่องบินทั้งลำก็ไฟดับ ผมมองเห็นประกายไฟปรากฏขึ้นเหนือช่องเก็บของและช่องหน้าต่าง เสียงดังโครมใหญ่ เครื่องบินของเราคงถูกฟ้าฝ่า ไม่มีเสียงเครื่องยนต์ดัง

ผมเริ่มรู้นึกเสมือนหนึ่งผมนั่งรถเหาะที่สวนสนุกดีสนีย์แลนด์ ที่ แอล.เอ. ตอนช่วงขาลง มันเสียวเข้าไปในท้องเหมือนเราตกจากที่สูง วาบหวิวแทบจะอาเจียน เครื่องบินของเรากำลังตก

ตั้งสมาธิจิต หลับตานึกถึงหลวงปู่ครูบาเจ้า ที่ท่านนั่งเหนือผมขึ้นไปสองแถว ผมได้แต่นั่งภาวนาว่า หลวงปู่ครับ……ผมขอเกาะชายจีวรไปกับหลวงปู่ด้วย ในตอนนั้น ผมไม่ยึดติดอะไรทั้งสิ้น ผมเห็นแต่เพียงหลวงปู่…. องค์เดียวเท่านั้น แล้วก็สบายใจอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน พร้อมทั้งนั่งชัดเข่าใช้มือกอดเข่าทั้งสองแน่น ศีรษะชนกับเบาะด้านหน้า เตรียมตัวพร้อมที่จะถึงผิวน้ำ…คงจะเย็นเฉียบทีเดียว

เครื่องบินเสียภาวะการทรงตัวอยู่นานทีเดียว มีเสียงดังปึงใหญ่ ไฟฟ้าบนเครื่องสว่างขึ้น สิ่งที่ปรากฏแก่สายตาของผมก็คือ พวกเราหลายคนสวดมนต์กันดังลั่นไปหมด บางคนมีพระเครื่องอมอยู่ในปาก แต่ละคนหน้าซีดไม่มีสีเลือด ผมมองไปที่หลวงปู่ เห็นท่านนิ่งเงียบสงบ และหันมาดูพวกเราทุกคนโดยท่านไม่พูดอะไรเลย

แขกคนหนึ่งถึงกับเสียสติ ตะโกนให้เครื่องบินจอด เขาจะลงแล้ว “Stop….stop.  I want to go out!” และมีผู้โดยสารหลายคนแขนหักเพราะกำลังอยู่ในห้องน้ำ กัปตันต้องประกาศหาว่า ผู้โดยสารท่านใดเป็นแพทย์… ขอความช่วยเหลือด่วนด้วย

สภาพบนเครื่องบินเลวร้ายที่สุด สัมภาระหล่นมากองที่พื้นเต็มไปหมด น้ำร้อน-น้ำเย็น กาแฟ เครื่องดื่มในห้องบริการผู้โดยสารหกเต็มทางเดิน เศษอาหารจากผู้โดยสารที่ยังเก็บไม่หมด หกรดใส่ศีรษะผู้โดยสารเหม็นคละคลุ้งกันไปทั้งลำ ไม่มีใครพูดกับใคร คงตั้งสติ ดีใจที่รอดพ้นความตายมาได้อย่างเฉียดฉิว

พอมาถึงสนามบินดอนเมือง เจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินได้เข้ามากถามว่า ใครเป็นหัวหน้าทัวร์ คณะผมเขาชี้มาที่ผม เจ้าหน้าที่ถามผมว่า…เกิดอะไรขึ้น เพราะเครื่องบินของเราสัญญาณขาดหายไปจากจอเรดาร์ ผมตอบว่า…ไม่ทราบเหมือนกัน แต่ผมรู้ตัวว่า…ผมเหมือนตายแล้วเกิดใหม่

คุณสุจิตรา พานทอง

ในขณะที่นั่งรอกระเป๋าสัมภาระ คุณสุจิตรา พานทอง ได้เรียกผมเข้าไปนั่งคุยด้วย ท่านได้บอกผมว่า

“ในขณะที่เครื่องบินมีปัญหา พี่ได้เข้าสมาธิ….เห็นมีพระองค์หนึ่ง มือท่านใหญ่มากไปช้อนเครื่องบินไว้ พี่ไม่เห็นหน้าท่านเพราะฝนตกหนัก แต่ที่พี่เห็นเป็นพระ เพราะจีวรของท่านปลิวไสวอยู่ในสายลม…”

ผมก็นึกขำอยู่ในใจ พระองค์ไหนจะไปช้อนเครื่องยิน 747 ไว้ ลำใหญ่ออกจะตาย ผู้โดยสารตั้ง 400 ชีวิต จะไปยกไหวได้อย่างไร ผมก็ได้แต่รับฟังไว้และตั้งใจไว้ว่า ถ้ามีโอกาสว่างเมื่อใด จะไปคุยกับท่านที่สถานปฏิบัติธรรม วัดพระธาตุวาโย เพราะท่านพักอาศัยปฏิบัติธรรมอยู่ที่นั่น และมีลูกศิษย์ลูกหาไม่น้อย

ต่อจากนั้น ผมก็ขอปลีกตัวไปช่วยจัดสัมภาระให้แก่คณะทุกคน เพื่อความสะดวก เพราะหลายท่านก็ไม่สามารถมายืนเลือกกระเป๋าของตัวเองได้ อาจเนื่องมาด้วยความตกใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชั่วพริบตา สำหรับคณะของหลวงปู่ ท่านมีศิษย์มารับไปพักที่สำนักสงฆ์กิจห้วยต้ม หลังตลาดรังสิต ผมก้มกราบแทบเท้าของท่านด้วยความสำนึกในพระคุณอย่างสูง พรุ่งนี้ท่านจะเดินทางกลับลำพูนโดยเครื่องบิน ผมคงไม่มีโอกาสได้ไปส่งท่าน

อีก 7 วันต่อมา ผมได้มีโอกาสได้รับใช้หลวงปู่อีก ท่านได้เดินทางเป็นประธานในการหล่อพระพุทธรูปองค์ใหญ่ รวม 5 องค์ ซึ่งมูลนิธิพระชัยยะวงศาพัฒนาได้เป็นผู้ดำเนินการชักชวนบรรดาศิษย์สร้างถวายเป็นพุทธบูชา ถวายแก่หลวงปู่ ณ โรงหล่อพุทธปฏิมา อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ผมได้เข้าไปกราบท่านอย่างใกล้ชิด และได้เห็นที่ข้อมือข้างขวาของท่านผูกด้ายสายสิญจน์เต็มไปหมด สอบถามได้ความว่า ศิษย์ในทางภาคเหนือได้จัดพิธีบายศรีสู่ขวัญให้แก่ท่าน

ภายหลังจากเสร็จพิธีสงฆ์แล้ว ก็มีการถวายภัตตาหารเพล บรรดาญาติโยมทั้งหลายก็ไปร่วมรับประทานอาหารมังสวิรัติที่ทางโรงหล่อจัดให้ ส่วนผมขอเป็นศิษย์วัด กะว่าเมื่อหลวงปู่ฉันเสร็จ ผมก็จะขอทานอาหารที่หลวงปู่ฉันเหลือในถาด หลวงปู่ท่านนั่งอยู่องค์เดียว ผมก็ไปปรนนิบัติ โดยเป็นผู้คอยประเคนอาหารคาว-หวาน และพัดวีให้ท่าน (เนื่องจากอากาศค่อนข้างร้อน) ในระหว่างที่ท่านฉัน ท่านถามผมว่า…..

“คืนนั้น กลัวไหม ?” (ท่านถามหมายถึงคืนที่เครื่องบินจะตก)

ผมตอบท่านไปว่า …..

“ผมไม่กลัว เพราะผมตั้งใจเกาะจีวรไปกับหลวงปู่”

ท่านหัวเราะชอบใจ แล้วกล่าวกับผมต่อไปว่า

“วันนั้น เจ้าของบางคนเขามาทวงของเขาคืน บางคนเต็มใจให้ แต่บางคนเขาเสียดาย (ท่านหมายถึง พระธาตุเขี้ยวแก้ว 4 องค์ และพระธาตุอีก 3 องค์ ที่ปรากฏในดอกบัวที่วัดสาวัตถี) จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ร้ายแรงขึ้น เครื่องบินจะต้องตกลงไปในทะเล ตรงมหาสมุทรอินเดีย ศพจะหาไม่พบ เพราะทะเลช่วงนั้นลึกมาก เหมือนกับเครื่องบินเกาหลี ที่โนจรวดของรัสเซียยิงตกที่น่านน้ำเกาหลี คนไทยจะนับถือพระพุทธศาสนากันน้อยลง เพราะขนาดหลวงปู่ยังนำลูกศิษย์ไปตายตั้งครึ่งร้อย หลวงปู่จึงช่วยชีวิตลูกศิษย์ไว้ให้รอดพ้นจากการถูกฟ้าผ่าตกทะเล แล้วต้องตายกันทั้งลำ…..”

หลวงปู่ท่านบอกผม

ทำไมจึงเหมือนกับที่คุณสุจิตรา พานทองพูดกับผม เมื่อวันเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยวันแรกที่สนามบินดอนเมือง?

อีก 1 เดือนต่อมา หลังจากที่หลวงปู่ได้ลงมากรุงเทพฯ เพื่อเป็นประธานในการหล่อพระพุทธรูป จำนวน 5 องค์ ที่โรงหล่อพุทธปฏิมา อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐมเรียบร้อยแล้ว พี่แน่งน้อยพร้อมด้วยคณะได้นัดกันที่จะขึ้นไปกราบนมัสการหลวงปู่อีกครั้งหนึ่ง และได้นำเจดีย์แก้วคริสตัล เพื่อไปถวายหลวงปู่สำหรับบรรจุพระธาตุเขี้ยวแก้วและพระบรมสารีริกธาตุ ที่เสด็จมาในดอกบัว ที่ประเทศอินเดีย ในปี 2535

หลวงปู่ครูบาเจ้ายังคงพักอยู่ที่กุฏิพรหมจักโก บรรดาศิษย์จำนวนกว่า 10 คน ได้ขอร่วมเข้าไปถวายเจดีย์แก้วในครั้งนี้ด้วย ผมเองได้เข้าไปเป็นคนสุดท้าย จึงนั่งอยู่ห่างหลวงปู่มาก การไปประเทศอินเดียครั้งที่ผ่านมา ผู้ที่นำกล้องถ่ายรูปไป ได้นำภาพถ่ายที่มีรูปแปลก ๆ มาให้ชมกัน ผมก็อยากที่จะได้รูปถ่ายแปลก ๆ มาอวดเขาบ้าง ในเมื่อผมเข้าไปไม่ถึงหลวงปู่ ได้แต่คอยเกาะหลังคนข้างหน้า เพื่อจะได้อานิสงส์ในการถวายเจดีย์แก้วในครั้งนี้ด้วย เมื่อทุกคนถวายเสร็จ ผมจึงนำกล้อง Olympus ขนาดเล็กของผมขึ้นมา พร้อมทั้งอธิษฐานจิตว่า

“หลวงปู่ครับ..!! ใครๆ เขาถ่ายรูปแปลก ๆ มาดูกันได้ ผมขอรูปนี้ของหลวงปู่ ให้มีภาพแปลก ๆ แก่ผมบ้างครับ…”

ผมจำได้ว่า เวลาขณะนั้นประมาณ 20.30 น. ผมต้องใช้แฟลชช่วย แล้วรูปถ่ายที่ออกมาได้นั้น ดังที่ท่านเห็นด้านข้างนี้

หลวงปู่ครูบาเจ้าท่านบอกว่า เป็นรัศมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เสด็จมาเป็นสักขีพยานในการถวายเจดีย์แก้วครั้งนี้

เรื่องที่ผมได้เขียนเรียบเรียงขึ้นมาครั้งนี้ ไม่ได้ตั้งใจที่จะให้ท่านเชื่อ แต่ให้ท่านลองตั้งจิตพิจารณาดูด้วยตนเอง เพราะผมไม่กล้าที่จะเขียนเรื่องนี้ เมื่อหลวงปู่ครูบาเจ้าท่านมีชีวิตอยู่ เพราเท่ากับเป็นการแสดงว่าท่านได้อวดอุตริมนุสธรรม เป็นการไม่สมควรในพุทธศาสนา บรรดาศิษย์พระอาจารย์อื่นอาจจะกล่าวโจมตีท่านได้ แต่เมื่อท่านได้ละสังขารไปแล้ว บรรดาศิษย์จะได้รู้ว่า พระอาจารย์ของเรา ไม่ใช่ธรรมดา ผมได้นำรูปที่ผมได้ถ่าย นำรูปที่บรรดาศิษย์ของท่านถ่ายได้ มาลงไว้ให้ท่านเห็นและพิสูจน์

นอกเหนือจากนี้ ผมขอนำรายชื่อบรรดาศิษย์ที่ได้เดินทางไปอินเดีย ร่วมชะตาชีวิต ในเครื่องบินลำเดียวกัน 21 คน เผื่อท่านรู้จัก จะได้สอบถามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นความจริงประการใด

รายชื่อผู้เดินทางไปอินเดีย

ร่วมกับคณะของหลวงปู่ครูบาเจ้า

เมื่อวันที่ 7 – 19 พฤษภาคม 2535

1.   พระครูอนุภาสวุฒิคุณ เจ้าคณะตำบลหนองไทร วัดน้ำรอบ อ.พุนพิน สุราษฎร์ธานี

2.   พระครูธรรมธรบงกช วัดโพธิ์เรียง บ้านช่างหล่อ บางกอกน้อย กทม.

พระอธิการนพดล สิริวุฒโฑ

3.   พระอธิการนพดล สิริวุฒโฑ วัดพระพุทธบาทตะเมาะ อ.ดอยเต่า เชียงใหม่

4.   คุณแม่ชีจิตสมา อัจฉริยวิศรุต วัดอินทรวรวิหาร ถนนเทิดไท ตลาดพลู กทม.

5.   คุณแน่งน้อย ธีระชาติ (เสียชีวิตแล้ว)

6.   คุณโอภาส สุทธิวโรตมะกุล

7.   พลเรือตรี (หญิง) สมบูรณ์สุข อินทิวร

8.   คุณอำนวยพร กัญญาทิพย์

9.   คุณปรีดา ศักดิ์สุภา

10.  คุณอุษา บุญประกอบ

11.  คุณเทพินทร์ กาญจนจิตรา

12.  คุณชุติมา ดวงรัตน์

13.  คุณเรียม ทรัพย์สาคร

14.  คุณรัตนาภรณ์ วีระเดชะ

15.  นาวาเอก แพทย์หญิง จงพัฒนา รุมาคม

16.  คุณสุภา ตันเจริญ

17.  นาวาอากาศโท นภาศักดิ์ กุลสุจริต

18.  คุณสัญชัย-คุณอาภา รัตนมยูร

19.  คุณศรีสมร อุดมศิลป์

20.  คุณนิภา ส่วนบุญเจริญ

21.  คุณพงษ์ศักดิ์ อรรคอุดม


คุณนิภา ส่วนบุญเจริญ

“ดิฉันคิดว่าถ้าเครื่องบินตกวูบเป็นครั้งที่ ๓ ไม่รอดแน่…ในช่วงเวลาวิกฤตนั้นมีคนบอกว่า หลวงพ่อไม่ได้นั่งแบบนั่งสมาธิอย่างที่เราคิด แต่หลวงพ่อนั่งแบมือทั้งสองข้าง เหมือนจะรองรับอะไรสักอย่าง”


คุณสุจิตรา พานทอง

“ชั่วแว๊บเดียว จิตก็ไปจับที่หลวงปู่ ทันใดนั้นดิฉันก็เห็นมือของหลวงปู่รองรับเครื่องบินเอาไว้ เป็นมือใหญ่เท่าบ้าน เห็นชั่วพริบตาเดียว เครื่องบินที่กำลังตกก็หยุดกะทันหัน…เมื่อเครื่องบินลงที่ดอนเมือง นักบินและแอร์โฮสเตสต่างก็มากราบหลวงปู่ทั้งชุด”


คุณโอภาส สุทธิวโรตมะกุล

“ข้าพเจ้าได้ประคองหลวงพ่อเพื่อมารอขึ้นเครื่อง ขณะที่ประคองหลวงพ่ออยู่นั้นท่านได้ถามข้าพเจ้าว่า “โอภาส กล้าสร้างปรมัตถบารมีไหม” ข้าพเจ้าจึงเรียนถามท่านว่า “หลวงพ่อพูดเล่นกับลูกหรือเปล่าครับ?”…ในระหว่างที่เครื่องบินวูบจะตกนั้น คนในเครื่องบินร้องกันเสียงดังจนฟังไม่ได้ศัพท์ ข้าพเจ้าเห็นเหตุการณ์จึงรู้ว่าคนเราเวลาจะตายมีอาการอย่างไร ดังนั้น ทาน ศีล ภาวนา นี้ควรมีไว้และปฏิบัติเสมอ”

แชร์เลย

Comments

comments

Share: