เรื่องวิบากกรรมเป็นกฏเกณฑ์ของธรรมชาติ

  • เรื่องวิบากกรรมเป็นกฏเกณฑ์ของธรรมชาติ
    ใครทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี
    ใครทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว.
    ☀️ เหตุผลที่ท่านห้ามฆ่าหรือเบียดเบียนสัตว์ที่มีชีวิตนี้ก็เพราะว่า ชีวิตของใคร ใครก็ย่อมรักและห่วงแหน
    แม้แต่ตัวผู้กระทำผิดศีลนั่นเองแหละ ไม่ว่าจะกระทำโดยความคึกคะนอง หรือมีจิตใจเหี้ยมโหดเพียงใดก็ตาม พอถึงตาตนเองจะถูกกระทำเช่นนั้นบ้าง ก็เห็นกลัวเจ็บกลัวตายกันจนตาเหลือกตาลานด้วยกันทั้งนั้น
    เรารักชีวิตและปรารถนาความสุข เกลียดความทุกข์อย่างไร ผู้อื่นก็ย่อมจะรักชีวิตตน รักความสุข และเกลียดความทุกข์เช่นเดียวกัน
    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เบียดเบียนชีวิตผู้อื่น จึงนับเป็นบุคคลที่ขาดเมตตา ไร้ความปราณีต่อเพื่อนร่วมโลก แสดงถึงความเป็นผู้มีจิตใจเหี้ยมโหดทารุณ และเห็นแก่ตัวอย่างยิ่ง ท่านจึงจัดสิกขาบทนี้ไว้เป็นอันดับแรก
    สำหรับผู้ที่ล่วงสิกขาบทนี้ ย่อมต้องได้รับผลกรรมตามสนอง ให้เป็นผู้มีอายุสั้น ขี้โรค หรือพิการต่างๆ
    รายที่ประกอบกรรมปาณาติปาตไว้หนัก ก็อาจจะได้รับผลกรรมทันตาเห็นในชาตินี้ แล้วยังจะติดตามให้ผลต่อไปในภพหน้าอีกด้วย หลายภพหลายชาตินัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ประทุษร้ายต่อผู้มีพระคุณหรือผู้บริสุทธิ์ เป็นต้นว่า การประทุษร้ายหรือฆ่าบิดา ฆ่ามารดา ฆ่าพระอรหันต์ หรือแม้แต่เจตนากระทำให้พระวรกายของพระพุทธเจ้าห้อเลือดขึ้นไป เหล่านี้ ย่อมได้รับผลกรรมที่หนักและรวดเร็วที่สุด เรียกว่า #อนันตริยกรรม
    กล่าวคือ เมื่อสิ้นชีวิตลงย่อมต้องเข้าถึงอบาย ที่จะต้องได้รับความทุกข์ความทรมานอย่างหนักที่สุด เช่น อเวจีมหานรก หรือ โลกันต์นรกซึ่งอยู่นอกภพสามออกไป แม้ว่าตนจะเคยได้ประกอบกุศลกรรมไว้บ้างตั้งแต่เมื่อมีชีวิตอยู่ ก็จะต้องรับผลกรรมดังที่ได้กล่าวนี้ก่อน ดังตัวอย่างที่เถรเทวทัต ซึ่งได้เจตนาประทุษร้ายพระพุทธเจ้า เป็นต้น

เรื่องวิบากกรรมหรือการรับผลกรรม จากการประกอบกรรมดี หรือที่เรียกว่ากุศลกรรมก็ดี จากการประกอบกรรมชั่ว หรือที่เรียกว่าอกุศลกรรมก็ดี เป็นเรื่องของกฎเกณฑ์ธรรมชาติทั้งสิ้น มิได้มีใครที่ไหนเป็นผู้ตั้งกฎเกณฑ์ไว้เลย และก็ไม่มีใครที่ไหนจะยกเว้นหรือชำระล้างได้อีกเช่นกัน

พระพุทธองค์จึงตรัสไว้ว่า

สุทฺธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ นาญฺโญ อญฺญํ วิโสธเย
แปลความว่า
ความบริสุทธิ์ ความไม่บริสุทธิ์ เป็นสิ่งเฉพาะตน ผู้หนึ่งจะยังความบริสุทธิ์ให้อีกผู้หนึ่งมิได้
และว่า..
ยาทิสํ วปฺปเต พีชํ ตาทิสํ ลภเต ผลํ กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ
แปลความว่า
หว่านพืชชนิดใด ย่อมได้ผลชนิดนั้น ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้ผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้ผลชั่ว

พระพุทธองค์เป็นแต่เพียงได้ค้นพบความจริงของธรรมชาติ ตามสภาพที่เป็นจริง จึงได้สั่งสอนให้เวไนยสรรพสัตว์ทั้งหลาย ได้ตระหนักถึงโทษภัยของการประกอบกรรมชั่วดังกล่าวแล้ว งดเว้นการกระทำชั่วด้วยกาย วาจา ใจ เสีย เพื่อจะมิต้องได้รับผลกรรมชั่วนั้นอีกต่อไปในอนาคต

แล้วให้ตั้งใจประพฤติดี ด้วยกาย วาจา และใจ เพื่อให้ได้รับผลกรรมจากกุศลกรรมนั้น และให้หมั่นชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์อยู่เสมอ เพื่อให้สามารถเจริญปัญญารู้แจ้งในสัจธรรม ตามสภาพที่เป็นจริงต่อไป
สำหรับผู้ที่มีศีลสังวรในข้อนี้ คือ งดเว้นจากการฆ่า หรือเบียดเบียนสัตว์ที่มีชีวิต ย่อมได้รับผลให้เป็นผู้มีอายุยืน มีโรคภัยไข้เจ็บน้อยลง และมีพลานามัยสมบูรณ์ เป็นต้น


เทศนาธรรมจาก
พระเทพญาณมงคล
หลวงตาเสริมชัย ชยมงฺคโล
วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม
อ.ดำเนินสะดวก
จ.ราชบุรี


ที่มา
ธรรมสู่สันติ (เล่มที่ ๒)


เพจอมตวัชรวจีหลวงป๋า.

แชร์เลย

Comments

comments

Share: